“ผมมองว่าสโมสร/ทีมชาติมาเล่น มันดีสำหรับการพัฒนาบอลนักเรียนด้วยซ้ำ ไม่ต่างจากไทยลีกที่พัฒนาด้วยการมีนักเตะต่างชาติคุณภาพ มาช่วยยกระดับและมาตรฐานลีกบ้านเรา” ชนน์ชนก ชิดชอบ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเยาวชนบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดกล่าว
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันในวงกว้าง หลังโรงเรียนภัทรบพิตร ที่อุดมไปด้วยผู้เล่นเยาวชนทีมชาติและแข้งอคาเดมีของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอล 7 สี ด้วยการไล่ถล่ม โรงเรียนราชวินิตบางแก้วไปอย่างขาดลอย 7-1
มันทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการใช้ผู้เล่นระดับทีมชาติ มาลงแข่งในรายการระดับสมัครเล่น จนทำให้เกิดผลการแข่งขันที่ห่างชั้น
ทั้งนี้ สำหรับญี่ปุ่น ชาติที่ฟุตบอลไทยมักจะมองเป็นต้นแบบเอง ก็มีการแข่งขันในลักษณะคล้ายกันนี้ ก็คือฟุตบอลอินเตอร์ไฮ และ ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว
พวกเขามีปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ? ผู้เล่นทีมชาติหรือสโมสรสามารถเข้าร่วมได้ไหม? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน
แม้ว่าในปัจจุบันระบบฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่น จะมีความแข็งแกร่งในระดับสามารถส่งออกแข้งเลือดซามูไรไปยุโรปได้เป็นประจำในทุกปี แต่การสร้างนักเตะของพวกเขาก็มีรากฐานมาจากฟุตบอลมัธยม
เนื่องจากฟุตบอลมัธยม ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์ไฮ หรือศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว ต่างก็เป็นทัวร์นาเมนต์ที่เป็นเวทีแจ้งเกิดแข้งดาวรุ่งฝีเท้าดี จนก้าวขึ้นไปติดทีมชาติชุดใหญ่มาโดยตลอด ด้วยรูปแบบการแข่งขันที่คล้ายกับฟุตบอลของผู้ใหญ่ ทั้งผู้เล่นฝั่งละ 11 คน มีกฎล้ำหน้า ไปจนถึงแข่งขันครึ่งละ 35 นาที สำหรับอินเตอร์ไฮ หรือ 40 นาที สำหรับชิงแชมป์ฤดูหนาว (รอบรองและนัดชิงครึ่งละ 45 นาที)
ไม่ว่าจะเป็น ยุคเก่าอย่าง ฮิเดโตชิ นาคาตะ ที่โดดเด่นในสีเสื้อของมัธยมปลายนิราซากิ ของจังหวัดยามานาชิ ในศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวปี 1994 ก่อนจะได้เซ็นสัญญาอาชีพกับ เบลล์มาเร ฮิรัตสึกะ (โชนัน เบลล์มาเร) ในเวลาต่อมา
หรือ ยูยะ โอซาโกะ อดีตกองหน้าของ โคโลจญ์ และ เวเบอร์ เบรเมน ในบุนเดสลีกาของ เยอรมัน ก็ยิงประตูได้อย่างถล่มทลาย และเคยคว้าดาวซัลโวในศึกชิงแชมป์มัธยมปลายปี 2008 ด้วยผลงาน 10 ประตูกับอีก 10 แอสซิสต์
เช่นกันกับทีมชาติญี่ปุ่นชุดปัจจุบันอย่าง ไดเซน มาเอดะ ก็มีชื่อเสียงมาตั้งแต่เล่นให้โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยยามานาชิ และเข้าร่วมฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ญี่ปุ่นในปี 2010
แต่ทั้งหมดทั้งมวล คงไม่มีใครที่ยอดเยี่ยมไปกว่า ชินจิ โอโนะ เจ้าของฉายา “อัจฉริยะ” ที่โชว์ฟอร์มเด่นในฟุตบอลอินเตอร์ไฮ 1997 ก่อนที่อีกหนึ่งปีต่อมา เขาจะมีชื่อติดทีมชาติญี่ปุ่นไปเล่นฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศสอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ฟุตบอลมัธยมปลายญี่ปุ่น กับทีมชาติจึงมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นในฐานะแหล่งบ่มเพาะผู้เล่นฝีเท้าดีให้แก่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ตั้งแต่อดีต จวบจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากทัวร์นาเมนต์มัธยมปลายญี่ปุ่น คือแหล่งบ่มเพาะแข้งเยาวชนชั้นดี จึงทำให้รายการนี้ยินดีที่จะเปิดรับผู้เล่นระดับทีมชาติในแทบทุกรุ่น
เพราะสำหรับผู้เล่นบางคน พวกเขาอาจจะติดทีมชาติในระดับเยาวชน มาตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมต้น และยังคงรักษาสถานะนี้จนกระทั่งขึ้นมัธยมปลาย
นอกจากนี้ หากไล่เรียงคุณสมบัติของนักกีฬาที่สามารถเข้าร่วมทั้งในฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ (ชิงแชมป์ฤดูหนาว) และฟุตบอลอินเตอร์ไฮ ของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ก็ไม่มีข้อไหนที่ระบุว่าห้ามผู้เล่นระดับทีมชาติ ลงเล่นในรายการเหล่านี้
แถมเมื่อย้อนกลับไปยังพบว่า ทีมชาติญี่ปุ่นชุด U17 ที่เข้าร่วมการแข่งขันในฟุตบอลโลก U17 รอบสุดท้าย ในช่วงแรก ยังมีสัดส่วนผู้เล่นจากทีมโรงเรียนมัธยมมากกว่าอคาเดมีของสโมสรเสียอีก
หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ที่ระบบอคาเดมีของสโมสรมีความแข็งแกร่งแล้ว ก็ยังมีนักเตะจากทีมโรงเรียนมัธยม เข้ามาติดทีมชาติไปเล่นฟุตบอลโลก U17 ที่อินโดนีเซีย เมื่อปี 2023 ถึง 3 ราย
หนึ่งในนั้นคือ เรนโต ทาคาโอกะ จากโรงเรียนมัธยมปลายนิชโช กัคคุเอ็ง จังหวัดมิยาซากิ ที่ยิงคนเดียว 4 ประตูในทัวร์นาเมนต์ ช่วยให้ญี่ปุ่นเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย จนได้เซ็นสัญญาล่วงหน้ากับ เซาแธมป์ตัน ในพรีเมียร์ลีก และเตรียมย้ายไปร่วมทีมหลังเรียนจบในเดือนมีนาคม 2025
อย่างไรก็ดี สำหรับนักเตะที่มีสโมสรสังกัดอาจซับซ้อนกว่านั้น
แม้ว่าปกติแล้วระบบพัฒนาเยาวชนของฟุตบอลญี่ปุ่น จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน คือระบบมัธยมปลาย และระบบอคาเดมี แต่ก็มีนักเตะจำนวนไม่น้อย ที่เหยียบทั้ง 2 ขา คือสังกัดทั้งโรงเรียนและสโมสร
ผู้เล่นเหล่านี้จะถูกเรียกว่า J.League designated special players หรือผู้เล่นสัญญาพิเศษ ที่มีสถานะเป็นเพียงนักเตะสมัครเล่น แต่สามารถลงเล่นในเกมระดับอาชีพบางรายการ เช่น เจลีกคัพ หรือ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก เป็นต้น
เพราะโดยปกติแล้ว หากผู้เล่นคนใด เซ็นสัญญาอาชีพ พวกเขาจะหมดสิทธิ์ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์มัธยมปลายทันที ดังกรณีของ ชินจิ คางาวะ ที่เก่งเกินเหตุจนได้เซ็นสัญญากับ เซเรโซ โอซากา ตั้งแต่อายุ 17 ปี
สัญญาแบบ designated special players จึงเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถลงเล่นให้แก่ทีมโรงเรียนและสโมสรที่สังกัดอยู่ไปพร้อมกันได้
หนึ่งในนั้นคือ ยูตะ อาราอิ ที่ลงทะเบียนเป็นผู้เล่นแบบสัญญาพิเศษกับ เอฟซี โตเกียว ในปี 2022 แต่ก็ยังร่วมทีมโรงเรียนมัธยมปลายโชเฮสู้ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวครั้งที่ 101 ในปีเดียวกัน
ด้วยการที่สัญญาแบบ designated special players ทำให้ผู้เล่นในระดับมัธยมสามารถไปซ้อมกับสโมสรอาชีพ ซึ่งมีมาตรฐานสูงกว่าชมรมฟุตบอลของโรงเรียน ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่เลือกที่จะเล่นให้กับสโมสรเพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างเช่น ทาเคฟุสะ คุโบะ ที่แม้จะสังกัดโรงเรียนไอจิ กัคคุอิน แต่เขาก็เล่นให้ เอฟซี โตเกียว เพียงทีมเดียว ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้เล่นอายุน้อยสุดที่ทำประตูได้ในเจลีก หลังซัดให้ เอฟซี โตเกียว U23 ที่เล่นในเจ3 ลีก ด้วยวัยเพียง 15 ปี 10 เดือน กับ 11 วัน
เช่นกันกับ ริตสึ โดอัน แข้งทีมชาติญี่ปุ่นชุดปัจจุบัน ที่ขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ของ กัมบะ โอซากา ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.5 แถมยังได้ประเดิมสนามในเกมเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก 2015 รอบแบ่งกลุ่มที่พบกับ เอฟซี โซล ด้วยวัยเพียง 16 ปี กับ 344 วัน
กล่าวโดยสรุปคือนักเตะระดับทีมชาติทุกคน ไม่ว่าเยาวชนหรือทีมชาติชุดใหญ่ สามารถลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติญี่ปุ่น ทั้งศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว และ อินเตอร์ไฮ โดยไม่มีข้อจำกัด
เว้นแต่ว่านักเตะคนนั้นได้เซ็นสัญญาอาชีพกับสโมสรอย่างเป็นทางการ พวกเขาจะหมดสิทธิ์เข้าร่วมทันที โดยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า อยากจะสงวนเวทีแห่งนี้ไว้สำหรับแข้งระดับสมัครเล่นเท่านั้น
ส่วนเหตุผลที่นักเตะเจลีกบางคน สามารถลงเล่นให้ทัวร์นาเมนต์มัธยมปลายได้ เนื่องมาจากพวกเขาไม่ได้มีสถานะเป็นนักเตะอาชีพ แต่เป็นแข้งสมัครเล่นภายใต้สัญญาพิเศษที่เรียกว่า J.League designated special players
ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าว ยังครอบคลุมไปถึงผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัยฝีเท้าดี ที่ลงเล่นให้ทีมมหาวิทยาลัยไปพร้อมกับทีมในเจลีก
และ คาโอรุ มิโตมะ ปีกของไบร์ทตัน โฮฟ อัลเบียน ก็คือหนึ่งในตัวอย่างของกรณีนี้ หลังเล่นให้ทั้งมหาวิทยาลัยสึคุบะ และ คาวาซากิ ฟรอนทาเล ไปพร้อมกันในปี 2019
“ชีสรูม” ตำนานที่ไม่เคยมีจริงของท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ส ถ้าพูดถึงสนามฟุตบอลในอังกฤษ ความขลัง ความยิ่งใหญ่ อาจจะยังเป็นเรื่องแมนยู ลิเวอร์พูล เชลซี อาร์เซนอล แต่ถ้าพูดถึงความทันสมัยไม่มีทีมไหนดีไปกว่า ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์สสเตเดี้ยม สนามของสเปอร์สนั้นเป็นสนามที่ได้รับการยอมรับมากในปัจจุบันว่าทันสมัย มีทุกอย่างครบมากที่สุดในอังกฤษ…
รีซ เจมส์ แบ็กขวากัปตันทีมเชลซี ได้รับบาดเจ็บที่แฮมสตริงเป็นครั้งที่ 9 ในรอบ 5 ปี หลังจากบาดเจ็บซ้ำที่บริเวณดังกล่าวระหว่างการซ้อมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จากการยืนยันของ เอ็นโซ่ มาเรสก้า ซึ่งเผยว่าดาวเตะวัย 24 ปีจะพลาดลงสนามในเกมพรีเมียร์ลีกนัดที่จะบุกเยือน…
ครั้งหนึ่งเขาคือแข้งดาวรุ่ง ที่ถูกเปรียบกับ คริสเตียโน โรนัลโด้ ดาวเตะระดับตำนานของโปรตุเกส อย่างไรก็ดี ตอนนี้ คาอัสโซ ดาราเม นี้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเขาเปลี่ยนสถานะตัวเอง จากนักเตะพรีเมียร์ลีก มาเป็นอาชญากรค้ายา และเพิ่งถูกจำคุกจากคดีแทงคน เกิดอะไรกับชีวิตของเด็กหนุ่มรายนี้…
ความประทับใจตอนซ้อม : ทำไมแข้งแมนยูพร้อมใจเรียก “อโมริม” ว่ามูรินโญ 2.0? เรียกว่ายิ่งนานวัน รูเบน อโมริม ยิ่งสร้างความตื่นเต้นให้แฟนๆรอติดตาม หลังล่าสุด Sun Sport รายงานว่านักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดต่างรู้สึกทึ่งและประทับใจกับการซ้อมของ…
วิเคราะห์อนาคต : คีแรน เทียร์นีย์ คัมแบ็คในรอบหลายเดือนแต่อาจไม่ได้อยู่ยาวกับอาร์เซนอล ถ้าพูดถึง คีแรน เทียร์นีย์ กับแฟนๆทีมอื่นอาจจะมองว่าเป็นนักเตะธรรมดาคนหนึ่งไม่ได้พิเศษอะไร แต่กับแฟนๆอาร์เซนอลเขาคือที่รัก และอยากเห็นเขาสวมเสื้ออาร์เซนอลลงสนามอีกสักครั้ง ล่าสุดเมื่อวานนี้ เทียร์นีย์ เพิ่งกลับมาซ้อมได้หลังจากบาดเจ็บหัวเข่าตั้งแต่ในการแข่งขันยูโร นี่ถือว่าเป็นข่าวดีมากๆกับเขาเอง…
ถ้าพูดถึงทีมชาติซานมารีโน หลายคนคงจดจำภาพว่าพวกเขาคือทีมจอมแจกแต้มของยุโรป ปัจจุบันพวกเขาคือชาติที่รั้งอันดับสุดท้ายของโลกบนแรงกิ้งฟีฟ่า (อันดับ 210) แต่เชื่อหรือไม่ว่าตอนนี้ พวกเขาอาจต้องการชัยชนะในเกมสำคัญอีกแค่ 2 นัดเท่านั้น ก็อาจจะเพียงพอให้ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2026 ที่แคนาดา, เม็กซิโก และ สหรัฐอเมริกา…