อย่าซ้ำรอยเดิม: แมนฯ ยูไนเต็ด ตกชั้นครั้งสุดท้ายเพราะสานต่อตำนาน?
แม้ว่าความพ่ายแพ้ต่อ ลิเวอร์พูล คารังโอลด์ แทรฟฟอร์ด อาจจะเร็วไปที่จะบอกว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะล้มเหลวในฤดูกาลนี้ แต่การปราชัยถึง 2 เกม จาก 3 นัดแรกก็ดูน่าเป็นห่วงไม่น้อยสำหรับสโมสรที่คว้าแชมป์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก
หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือการต้องสานต่อมรดกจาก เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยอดกุนซือที่สร้างมาตรฐานไว้สูงมาก จนไม่มีใครเทียบเท่า แม้ว่าเขาจะวางมือไปกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวคล้ายกับ ปีศาจแดง ในช่วงทศวรรษที่ 1970s หลัง เซอร์แมตต์ บัสบี ยอดกุนซือระดับตำนาน อำลาทีมไป แต่ครั้งนั้นต้องจบลงอย่างน่าเศร้า เมื่อสุดท้าย แมน ฯ ยูไนเต็ด ต้องตกชั้น!
เรื่องราวเป็นอย่างไร ติดตามไปพร้อมกัน
สำหรับมูลเหตุของการตกชั้นของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจจะต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เมื่อจุดเริ่มต้นของมันมาจากการวางมือของ เซอร์แมตต์ บัสบี ในปี 1969
สำหรับ บัสบี เขาคือหนึ่งในยอดกุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด หลังพาทีมประสบความสำเร็จในช่วงทศวรรษที่ 1950s-1960s ด้วยตำแหน่งแชมป์ดิวิชั่น 1 ที่เทียบเท่ากับพรีเมียร์ลีกในปัจจุบันถึง 5 สมัย, เอฟเอคัพ 2 สมัย และแชมป์ยูโรเปียนคัพ 2 สมัย
แต่สิ่งที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือการพาปีศาจแดง กลับมายิ่งใหญ่ หลังโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกที่มิวนิคในปี 1956 ที่คร่าชีวิตนักเตะและสต้าฟโค้ชไปถึง 11 ราย
เขาคุมแมนฯ ยูไนเต็ด จนถึงปี 1969 ก่อนตัดสินใจวางมือ หลังอิ่มตัวจากความสำเร็จ และได้ แม็คกินเนส กุนซือทีมสำรอง และอดีตนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด มารับช่วงต่อ
อย่างไรก็ดี แม็คกินเนส กลับทำไม่ได้อย่างที่คาดไว้ เมื่อเขาพา ปีศาจแดง จบในอันดับ 8 ในซีซั่นแรก แถมยังพาทีมออกสตาร์ทได้อย่างย่ำแย่ในฤดูกาล 1970-1971
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ตัดสินใจเรียกตัวเซอร์บัสบี กลับมากู้วิกฤติ พร้อมกับลดขั้น แม็คกินเนส ลงไปคุมทีมสำรองตามเดิม ก่อนที่ฤดูกาลนั้นพวกเขาจะจบในอันดับ 8 เหมือนฤดูกาลก่อน
ทว่า การเรียกตัวบัสบี กลับมาก็เป็นการแก้ไขสถานการณ์ชั่วคราวท่านั้น เมื่อเขายืนยันว่าจะเป็นเพียงกุนซือขัดตาทัพ ทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด แฟรงค์ โอ’ฟาร์เรลล์ ของเลสเตอร์ ซิตี้ มาคุมทีมในฤดูกาล 1971-1972
แม้ว่า โอ’ฟาร์เรล์ จะเริ่มต้นได้อย่างยอดเยี่ยม พาทีมรั้งครึ่งบนของตาราง แต่หลังจากนั้นผลงานก็ดิ่งลง จนจบในอันดับ 8 อีกครั้ง ก่อนที่ฤดูกาล 1972-1973 จะเลวร้ายกว่านั้น เมื่อเขาพาทีมไร้ชัยใน 9 นัดแรก จนถูกปลดในเดือนธันวาคม 1972
ทอมมี โดเฮอร์ตี อดีตโค้ชของเชลซี คือคนมารับช่วงต่อ เขาคือกุนซือ แมนฯ ยูไนเต็ด คนที่ 3 ในรอบ 3 ปี ก่อนที่เขาจะช่วยให้ทีมรอดพ้นจากการตกชั้น หลังจบในอันดับ 18 จาก 22 ทีมในฤดูกาล 1972-1973
อย่างไรก็ดี นั่นคือการดิ้นรนครั้งสุดท้ายของพวกเขา เมื่อฤดูกาล 1973-1974 กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของ แมนฯ ยูไนเต็ด
อันที่จริงเค้าลางแห่งหายนะก็เริ่มเห็นมาตั้งแต่ก่อนเปิดฤดูกาล เมื่อ โดเฮอร์ตี้ ประกาศแต่งตั้งผู้รักษาประตูอย่าง อเล็กซ์ สเต็ปนีย์ เป็นคนยิงจุดโทษเบอร์ 1 คนใหม่ของทีม
และแม้ว่าปีศาจแดง จะเปิดซีซั่นได้อย่างร้อนแรง ด้วยการคว้าชัย 2 จาก 3 เกมแรก แต่หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นหนังม้วนเดิม เมื่อ แมนฯ ยูไนเต็ด เก็บชัยชนะได้เพิ่มอีกเพียง 2 เกมจาก 20 นัดแรก จนต้องมาดิ้นรนหนีตกชั้นอยู่ท้ายตาราง
พวกเขามามีความหวังเล็ก ๆ ในช่วงเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน หลังเริ่มกลับมาคว้าแต้มได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยชัยชนะ 4 เสมอ 2 จาก 6 เกม แต่ความพ่ายแพ้ต่อ เอฟเวอร์ตัน ในนัดที่ 40 ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับงานยากอีกครั้ง
ในนัดที่ 41 แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องมาตัดสินการอยู่รอด ด้วยการเปิดบ้านรับการมาเยือนของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่แข่งร่วมเมือง เกมนี้พวกเขาต้องชนะให้ได้เป็นอย่างน้อย เพื่อต่อลมหายใจ ก่อนลงเล่นนัดสุดท้ายกับสโต๊ค
ทว่า ดูเหมือนว่า ปีศาจแดง จะยื้อชีวิตได้แค่นี้ เมื่อพวกเขาต้องพ่ายคาบ้านต่อ แมนฯ ซิตี้ 0-1 และที่น่าเจ็บใจที่สุดคือผู้ซัดประตูโทนในวันนั้น ยังเป็น เดนนิส ลอว์ อดีตนักเตะของพวกเขา ที่ส่งอดีตทีมรักร่วงตกชั้นลงไปเล่นในดิวิชั่น 2 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการตกชั้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ยิ่งไปกว่านั้น ฤดูกาลดังกล่าวยังเป็นปีที่ย่ำแย่ของแนวรุกปีศาจแดง หลังยิงได้เพียงแค่ 38 ประตูจาก 42 นัด ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ซัดได้เกิน 60 ลูกต่อฤดูกาล ที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาก็กระเด็นลงไปเล่นในลีกรอง
ทั้งนี้ แม้ว่าจะคุมทีมตกชั้น แต่ โดเฮอร์ตี้ กลับไม่ถูกปลด ก่อนที่เขาจะตอบแทนความไว้ใจ ด้วยการพา แมนฯ ยูไนเต็ด กลับมาเล่นในลีกสูงสุดได้ในทันที ในฤดูกาลต่อมา และหลังจากนั้น “ปีศาจแดง” ก็ไม่เคยลิ้มรสการตกชั้นอีกเลย มาจนถึงปัจจุบัน
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.