Football

ใหญ่กว่าผู้จัดการทีม! ไขข้อข้องใจบทบาท ผอ.กีฬา ต่างยังไงกับ ผอ.เทคนิค?

การบริหารสโมสรฟุตบอล ณ ปัจจุบัน ถือว่าแตกต่างจากสมัยก่อนที่อำนาจการตัดสินใจเบ็ดเสร็จเป็นของผู้จัดการทีม โดยในอดีต เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อาจจะมีอำนาจตัดสินใจทุกอย่างที่เกี่ยวกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ อาร์แซน เวนเกอร์ ก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาร์เซน่อล แต่สำหรับยุคปัจจุบันนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว จากการที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกมีกลุ่มทุนจากต่างชาติหลายคนเข้ามาเป็นเจ้าของ จึงนำเอาวัฒนธรรมการบริหารแบบยุโรปเข้ามาใช้ และมีการกระจายหน้าที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่แบบเฉพาะด้านมากขึ้น

เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีชาวอังกฤษเจ้าของกลุ่ม INEOS ที่เข้ามาถือหุ้น แมนฯ ยูไนเต็ด จำนวน 27.7% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และได้สิทธิ์กุมอำนาจบริหารด้านฟุตบอลให้สโมสร ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบอร์ดบริหารครั้งใหญ่ของทีมปีศาจแดงในปี 2024 นี้ โดยแต่งตั้ง เจสัน วิลค็อกซ์ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการเทคนิคคนใหม่ และได้ตัว แดน แอชเวิร์ธ จาก นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ให้เข้ามานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา

 

แดน แอชเวิร์ธ ถูกดึงตัวจากนิวคาสเซิ่ล ไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาคนใหม่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด

 

ณ ตอนนี้ สโมสรระดับท็อปแทบทุกทีมต่างมีคนที่รับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการกีฬา” (Sporting Director) หรือบางสโมสรก็ใช้ชื่อตำแหน่งว่า “ผู้อำนวยการฟุตบอล” (Director of Football) แถมหลายๆ สโมสรก็มีคนที่ทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการเทคนิค” (Technical Director) อีกต่างหาก ซึ่ง แมนฯ ยูไนเต็ด คือตัวอย่างนั้นที่ชัดเจนในตอนนี้

แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่าหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งนั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พรีเมียร์ลีกได้ลงบทสัมภาษณ์ของ ทอร์-คริสเตียน คาร์ลเซ่น อดีตผู้อำนวยการกีฬาของโมนาโก ทีมใน ลีก เอิง และ มัคคาบี้ ไฮฟา สโมสรในอิสราเอล ที่มาอธิบายไขความกระจ่างอย่างชัดเจน

“ตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลดูจะผิดแปลกไปจากสมัยก่อนที่ผู้จัดการทีมมักจะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แบบครอบคลุม ลองนึกภาพ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ อาร์แซน เวนเกอร์ ดูสิ ซึ่งมีอำนาจทุกด้านในสโมสรฟุตบอลดูสิ ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ เรียกได้ว่าแทบจะครบถ้วนเลย”

“ตำนานผู้จัดการทีม 2 คนนั้นไม่เคยทำงานภายใต้ ผอ.ฟุตบอล หรือร่วมกับ ผอ.ฟุตบอล แต่กับสโมสรอื่นอย่างเช่น เดวิด พลีท ที่ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์  งานในด้านซื้อขาย (เช่นงานสเก๊าท์นักเตะหรือเจรจา) ถูกตัดออกจากภาระของผู้จัดการทีมและมอบหมายให้ ผอ.ฟุตบอล ทำแทน”

“จากนั้นในตอนนี้ ผอ.ฟุตบอลมักจะต้องรายงานตรงต่อเจ้าของสโมสร หรือบอร์ดบริหาร แต่ย้อนไปสมัยก่อน สายงานด้านการบังคับบัญชาในตอนนั้นมักจะคลุมเครือ และเข้าใจยาก”

“ผู้จัดการทีมบางคนต้องรายงานตรงต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่า ขณะที่บางคนไม่ต้องทำ ซึ่งในทำนองเดียวกันนั้น กุนซือบางคนมีความสุขที่ได้ทำงานภายใต้โครงสร้าง ขณะที่บางคนก็อาจจะมีความกระตือรือร้นน้อยกว่า”

“ในขณะที่พื้นที่ความรับผิดชอบยังคงแตกต่างกันในแต่ละสโมสรโดยไม่ได้มีโครงสร้างที่เหมือนกัน แต่หลักการทั่วไปก็คือผู้อำนวยการกีฬาจะต้องได้รับมอบอำนาจที่แข็งแกร่งกว่า โดยรายงานตรงต่อกลุ่มคนบนสุด (เจ้าของทีม, ประธานสโมสร หรือซีอีโอ) ขณะที่ผู้จัดการทีม ซึ่งตอนนี้โดยทั่วไปจะเรียกกันว่าเฮดโค้ช โดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกีฬาในแผนผังองค์กร

ทอร์ คริสเตียน-คาร์ลเซ่น อดีตผู้อำนวยการกีฬาของโมนาโก และ มัคคาบี้ ไฮฟา

ทอร์-คริสเตียน คาร์ลเซ่น เผยว่า แนวคิดที่สำคัญของการมีผู้อำนวยการกีฬาที่มีตำแหน่งสูงกว่าผู้จัดการทีม ก็คือการให้คนคนหนึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบภาพรวมด้านฟุตบอลของสโมสรเพื่อรักษาความต่อเนื่อง ซึ่งจะดีกว่าที่คนรับหน้าที่นี้ไม่ใช่เฮดโค้ช ที่มักจะมีการเปลี่ยนคนไปๆ มาๆ อยู่ตลอด

ในโลกอุดมคติ ผู้อำนวยการกีฬาจะวางกลยุทธ์แบบครอบคลุมครบวงจรให้สโมสร เพื่อให้แน่ใจว่าตั้งแต่ระดับอะคาเดมี่ไปจนถึงทีมชุดใหญ่มีความสอดคล้องกัน โดยนำหลักการพัฒนาและวิธีการทำงานแบบเดียวกันมาใช้ ซึ่งจะช่วยให้นักเตะที่สำเร็จจากระดับอะคาเดมี่ปรับตัวได้เร็วขึ้นเมื่อขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ โดยสโมสรที่เป็นตัวอย่างชัดเจนของการวางโครงสร้างได้ดีที่สุดคือ อาแจ็กซ์ และ บาร์เซโลน่า ซึ่งทำตามโมเดลดังกล่าวต่อเนื่องมาอย่างยาวนานจนเป็นขนบประจำสโมสร

 

ผอ.กีฬา จะตัดสินใจซื้อนักเตะเพื่อแนวทางส่วนรวม โดยทำงานร่วมกับทีม ไม่ใช่ความต้องการของตัวเอง

ภาพที่แฟนบอลหลายคนเข้าใจ ก็คือตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาจะมีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบเรื่องตลาดซื้อขายนักเตะ ซึ่งประเด็นนี้ คาร์ลเซ่นได้ตอบชัดเจนว่าสโมสรที่มี ผอ.กีฬา จะต้องทำงานโดยตัดสินใจร่วมกันเป็นทีม ไม่ใช่โดยอำนาจเบ็ดเสร็จจากคนคนเดียว

ผู้อำนวยการกีฬาทุกสโมสรจะมีฝ่ายแมวมองที่ทำงานอยู่ภายใต้ตนเอง ซึ่งประกอบด้วยแมวมองแบบดั้งเดิม (ไปดูฟอร์มนักเตะถึงที่) และทีมนักวิเคราะห์ โดยกุนซือของสโมสรส่วนใหญ่มักจะมีความสุขกับการได้รับการป้อนข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกเสริมใครเข้าสู่ทีม หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจว่าจะปล่อยนักเตะคนไหนออกไป แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้การตัดสินใจเซ็นสัญญานักเตะหนึ่งคน แทบจะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยคนคนเดียว แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการตัดสินใจร่วมกันเป็นทีม ที่มีผู้อำนวยการกีฬาเป็นผู้นำมากกว่า

ซึ่งไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม แนวคิดทั้งหมดในการมีผู้อำนวยการกีฬามาคุมเรื่องการสรรหานักเตะ ก็คือการทำให้แน่ใจว่าการเซ็นสัญญาจะต้องเข้ากับสไตล์การเล่นฟุตบอลและวิสัยทัศน์ของสโมสร โดยในความเป็นจริงทุกวันนี้จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ในเรื่องของการดึงแข้งพรสวรรค์เข้ามาในมูลค่าที่สามารถพัฒนาเพื่อนำไปขายต่อได้อีก (ไบรท์ตัน หรือกลุ่มสโมสรในเครือ เร้ด บูลล์ จะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเคสนี้)

 

สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ แล้ว “ผู้อำนวยการกีฬา” กับ “ผู้อำนวยการเทคนิค” นั้นแตกต่างกันอย่างไร?

คาร์ลเซ่นเผยว่าหน้าที่ของ 2 ตำแหน่งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจที่แท้จริงที่สโมสรมอบให้ผู้ได้รับตำแหน่ง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว มันอาจจะไม่แตกต่างกันเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้อธิบายความแตกต่างที่ชัดเจนให้เข้าใจง่าย ก็คือโดยปกติแล้วผู้อำนวยการเทคนิคมักจะมีตำแหน่งรองจากผู้อำนวยการกีฬา หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็น “มือขวา” ของ ผอ.กีฬา ในการเป็นผู้ช่วยที่ต้องเป็นหูเป็นตาลงไปสอดส่องงานในสนามของสโมสรโดยตรง โดยผู้อำนวยการเทคนิคจะมีอำนาจด้านบริหารน้อยกว่า ผอ.กีฬา แต่จะได้รับมอบหมายให้ไปดูแลงานในด้านกีฬาเป็นหลัก โดยจับตาดูการซ้อม การวางระบบการเล่นของเฮดโค้ช และพัฒนาการของนักเตะ

ซึ่งในเคสของ แมนฯ ยูไนเต็ด ตอนนี้ จะถือว่า แดน แอชเวิร์ธ ที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการกีฬาคนใหม่จะมีอำนาจสูงกว่า เจสัน วิลค็อกซ์ ที่เป็นผู้อำนวยการเทคนิค โดยวิลค็อกซ์จะมีส่วนร่วมกับการสังเกตการณ์พัฒนาการฟุตบอลของทีมตั้งแต่ระดับอะคาเดมี่จนถึงทึมชุดใหญ่, มีบทบาทช่วยเรื่องการตัดสินใจด้านซื้อขาย และรายงานตรงต่อแอชเวิร์ธที่เป็นผู้บังคับบัญชา แต่ แดน แอชเวิร์ธ จะต้องรายงานตรงต่อซีอีโอสโมสรคนใหม่อย่าง โอมาร์ เบร์ราด้า

ซึ่งจากการที่ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ เข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ คาดว่าผู้จัดการทีมอย่าง เอริค เทน ฮาก จะมีอำนาจในหลายๆ เรื่องน้อยลงจากเดิม โดยจะไม่ใช่คนที่มีสิทธิ์ตัดสินใจหลักเหมือนอย่าง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมาอีกแล้ว

 

Pipat Sathirawut

Recent Posts

รอบนี้ไม่เหมือนเดิมแน่! เทน ฮาก ชี้ผีตอนนี้ ต่างจากชุดที่แพ้พาเลซ 4-0

เอริค เทน ฮาก ผู้จัดการทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้สัมภาษณ์ก่อนพาทีมบุกเยือน คริสตัล พาเลซ ในเกมพรีเมียร์ลีกคืนวันเสาร์นี้ โดยมั่นใจว่าครั้งนี้ลูกทีมจะทำผลงานในการเจอทีมปราสาทเรือนแก้วได้ดีกว่าเดิม แม้ซีซั่นก่อนจะแพ้พาเลซในพรีเมียร์ลีกทั้งไปและกลับ แบบที่ยิงประตูไม่ได้เลยก็ตาม โดยแพ้ 0-1…

2 mins ago

จังหวะดับเบิ้ลเซฟ ราย่า เกมเจออตาลันต้า โอกาสเซฟได้แค่ 3% แต่เซฟได้

ช็อตเด่นจากเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ ลีก เฟส คืนวันพฤหัสบดี นัดที่อาร์เซน่อลบุกไปเสมออตาลันต้า 0-0 เชื่อว่าจังหวะที่คนพูดถึงมากที่สุดคงเป็นช็อต "ดับเบิ้ลเซฟ" อันเหลือเชื่อของ ดาบิด ราย่า…

33 mins ago

“เพื่อนร่วมรุ่นฮาก” – “มือขวา อาร์เน่อ” บอก 2 คนนี้เหมือนกันแค่ทรงผม

ฟุตบอลของ เอริค เทน ฮาก และ อาร์เน่ สล๋อต ต่างมีแนวทางของตัวเองกันทั้งคู่ อาจจะไม่ได้เอาสไตล์ที่ถือเป็นศาสตร์เบื้องต้นของฟุตบอลดัตช์ทั้ง 2 แบบ ไม่ว่าจะจาก โยฮัน ครัฟฟ์ หรือ…

15 hours ago

ใครเตะเยอะไป? รู้จักลีกบราซิลสุดโหดหวดหลัก 60 นัดต่อฤดูกาล

ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก รูปแบบใหม่ ประเดิมนัดแรกกันไปแล้วเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากเหล่าผู้เล่น ที่มองว่าพวกเขากำลังจะลงเตะ “มากเกินไป” ในหนึ่งฤดูกาล อย่างไรก็ดีในอีกซีกโลก มีลีกประเทศหนึ่งที่เตะกันอย่างดุเดือดในระดับ 50-60 นัดต่อฤดูกาลอยู่เสมอ และ บราซิล ก็คือประเทศนั้น…

19 hours ago

อาร์เตต้าชี้ปืนเตะ UCL วันพฤหัสไม่เสียเปรียบเรือ ยันจัดเต็มเจอ อตาลันต้า

มิเกล อาร์เตต้า กุนซือหนุ่มของอาร์เซน่อล เผยว่าการที่ต้องลงเตะเกมแรกของศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ ลีก เฟส ที่จะต้องบุกเยือนแชมป์ ยูโรปา ลีก อย่างอตาลันต้าในคืนวันพฤหัสบดี ไม่น่าจะทำให้ทีมปืนใหญ่เสียเปรียบ…

21 hours ago

แปลกกว่าที่เคย : เผยเหตุผล ทำไมปีนี้มีเกม UCL เตะวันพฤหัสบดี

ปกติแล้ว ศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มักจะแข่งกันในคืนวันอังคารหรือไม่ก็คืนวันพุธ มีเพียงแค่เกมรอบชิงชนะเลิศที่จะเตะกันในคืนวันเสาร์เท่านั้นที่เตะในวันที่แตกต่างจากรอบปกติ แต่ในฤดูกาลนี้ถือเป็นเรื่องที่แปลกไปจากที่เคยพอสมควร เมื่อจะมีเกม UCL ในคืนวันพฤหัสบดีด้วย โปรแกรม แชมเปี้ยนส์ ลีก วันพฤหัสบดีที่…

1 day ago