ฟุตบอล

ล้วงลึกปากคำเอเยนต์ : ทำไมแข้งญี่ปุ่นถึงเป็นตลาดสุดคุ้มของยุโรป?

“ซามูไรบลู” ทีมชาติญี่ปุ่นยังโชว์ฟอร์มโหดในเกมนัดที่ 2 ของฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก รอบ 3 ด้วยการบุกไปเอาชนะบาห์เรน 5-0 ที่ทำให้พวกเขามี 6 แต้มเต็ม ยิงไป 12 และยังไม่เสียประตูแม้แต่ลูกเดียว

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ 11 ตัวจริงจากทั้ง 2 เกม ล้วนเป็นผู้เล่นที่ค้าแข้งในยุโรปทุกตำแหน่ง สะท้อนให้เห็นความนิยมในตัวนักเตะญี่ปุ่นในระดับโลก

เพราะเหตุใด แข้งญี่ปุ่นจึงกลายเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าของสโมสรจากยุโรป? ติดตามไปพร้อมกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่านักเตะที่สร้างอิมแพ็คให้สโมสรในยุโรป เริ่มชายตามองแข้งญี่ปุ่น คือการย้ายไป โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ของชินจิ คางาวะ ที่ได้สร้างภาพจำใหม่ให้แก่วงการฟุตบอลแดนซามูไร

เพราะนอกจากเขาจะมีค่าตัวเพียงแค่ 350,000 ยูโร เขายังทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยเทคนิคอันยอดเยี่ยม และการยิงประตูที่ไว้ใจได้ จนทำให้ทัพเสือเหลือง คว้าแชมป์บุนเดสลีกา ได้ถึง 2 สมัย

“เขาทำให้สโมสรเริ่มคิดมากขึ้นว่าที่ญี่ปุ่นมีนักเตะอายุน้อย เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ และราคาถูก และช่วยจูงใจให้แมวมองไปดูเจลีกอย่างใกล้ชิดกว่าที่เป็นมา” ทาเคฮิโระ นาคามูระ ผู้จัดการทั่วไปของ Lead Off Sports Marketing กล่าวกับ AP

ขณะเดียวกัน นักเตะญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อในระเบียบวินัย และความขยัน รวมถึงพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอโดยไม่มีอีโก้ จึงทำให้พวกเขาได้รับความนิยมมากขึ้น และทำให้เจลีกสามารถส่งออกผู้เล่นไปต่างประเทศได้เป็นประจำทุกปี

“จิตใจคืออันดับหนึ่ง” เทอร์รี เวสท์เลย์ อดีตผู้อำนวยการอคาเดมีเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของเจลีก กล่าวกับ The Athletic

“คุณจะได้นักเตะที่อยากจะเก่งขึ้น มีเทคนิคระดับสูง ถ้าแข้งดาวรุ่งญี่ปุ่นถูกบอกให้ทำอะไร พวกเขาจะไม่เบื่อมัน พวกเขาจะฝึกฝนจริง ๆ”

ทั้งนี้ การเข้ามาของ แอนจ์ ปอสเตโคกลู อดีตกุนซือ โยโกฮามา เอฟ มารินอส ที่กว้านซื้อแข้งนักเตะญี่ปุ่น ตอนย้ายมาคุม กลาสโกว์ เซลติก ยังช่วยปลุกกระแสต่อความนิยมแข้งเลือดซามูไรยิ่งขึ้นไปอีก

“ความสำเร็จของ เซลติก และผู้เล่นในพรีเมียร์ลีก ช่วยให้สโมสรมั่นใจในตลาดนี้” เอียน ไรเดอร์ เอเยนต์แห่ง Unique Sports Group ผู้อยู่เบื้องหลังการย้ายทีมของ โทมิยาสุ สู่อาร์เซนอล กล่าวกับ The Athletic

“การเปลี่ยนแปลงในกฎใบอนุญาตทำงาน อันเนื่องมาจาก เบร็กซิต ได้ทำให้เกิดการย้ายทีมโดยตรงจากภูมิภาคที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งมันยังช่วยให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากความพยายามของฝั่งญี่ปุ่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่สโมสรยอมปล่อยตัวผู้เล่นด้วยค่าตัวไม่แพง ไปจนถึงนักเตะบางคนยอมลดเงินเดือนตัวเอง เพื่อไปค้าแข้งต่างแดน

แซงต์ ทรุยดอง ในลีกเบลเยียม ที่มี DMM บริษัทสื่อชื่อดังญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ คือหนึ่งในทีมที่ได้รับอานิสงค์นั้น พวกเขามักจะดึงผู้เล่นญี่ปุ่นมาร่วมทีมในราคาที่ถูกมาก ก่อนจะขายทำกำไรหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็น วาตารุ เอ็นโด, ทาคาฮิโร โทมิยาสุ หรือ ไดจิ คามาดะ

เช่นกันสำหรับหลายทีมในลีกเบลเยียมที่ใช้โมเดลนี้ รวมถึง เควี ออสเทนเด กับดีลของ ทัตสึฮิโระ ซาคาโมโต ที่ย้ายไปอยู่กับ โคเวนทรี ใน เดอะ แชมเปียนชิพ เมื่อฤดูกาล 2023-2024 ที่ผ่านมา

“อยู่ๆ มันก็เริ่มเป็นกระแสขึ้นมา โคจิ มิโยชิ (ปัจจุบันเล่นให้ เบอร์มิงแฮม ซิตี้) และนักเตะชาวญี่ปุ่นคนอื่น ย้ายมาที่นี่โดยตรง และทำผลงานได้อย่างโดดเด่น” ทอม แชมเบอร์ส หัวหน้าฝ่ายสรรหาผู้เล่นของ เควี ออสเทนเด ในลีกเบลเยียม กล่าวกับ The Athletic

“ผมคิดว่า ‘โอเค เอาล่ะ นี่เป็นตลาดใหม่สำหรับผม แต่พวกเขามีค่าตัวแค่ 5 แสนถึง1.5 ล้านยูโร เท่านั้น นี่เป็นมูลค่าที่ไม่น่าเชื่อ’”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายสโมสรในยุโรปเริ่มลงทุนกับเครือข่ายแมวมองในเจลีก ตั้งแต่ ส่งคนไปดูด้วยตาตัวเองถึงญี่ปุ่น อย่าง เซาแธมป์ตัน หรือกลุ่มซิตี้ กรุ๊ป ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปจนถึงใช้ข้อมูลจากบริษัทผู้เชี่ยวชาญ เหมือนกับ เควี ออสเทนเด

“เราไม่เคยไปญี่ปุ่น ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่เราก็รู้ดีว่าการเปลี่ยนไปของลีกส่งผลอย่างมากต่อผู้เล่นเก่งๆ ในอดีตเราไม่เคยจัดอันดับพวกเขา แต่เมื่อผู้คนเริ่มเห็นว่าลีกแห่งนี้สามารถผลิตผู้เล่นเก่งๆ ทัศนคติก็เปลี่ยนไป” แชมเบอร์ส อธิบาย

“นี่เป็นลีกที่มีมูลค่าตลาดดีที่สุดในโลกหรือไม่? ณ ตอนนี้คือใช่ แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้เล่นที่จำกัด”

“เจลีกเป็นลีกที่มีจังหวะการเล่นที่ช้า และไม่ได้เน้นร่างกาย เพราะว่าพวกเขาใช้บอลยาวในเกมน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย แต่ลีกนี้เป็นหนึ่งในลีกที่มีเทคนิคดีที่สุดในโลก”

นอกจากนี้ ระบบพัฒนาเยาวชนที่จริงจัง โดยมีอคาเดมีขนานไปกับชมรมฟุตบอลในโรงเรียนมัธยมปลาย ยังทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สโมสรในยุโรปเริ่มดึงแข้งจากญี่ปุ่นไปร่วมทีมตั้งแต่อายุยังน้อย หรือบางคนยังไม่เคยลงเล่นในระดับอาชีพแม้แต่เกมเดียวด้วยซ้ำ

“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 15-20 ปีก่อน คุณต้องอายุ 25-26 ปี ต้องมีผลงานที่ดีในเจลีก 2-3 ฤดูกาล และได้รับการพิสูจน์ในทีมชาติ” แดน ออร์โลวิตซ์ นักข่าวจาก Japan Times กล่าวกับ BBC Sports

“ตอนนี้ สโมสรยุโรปเข้าใจนักเตะญี่ปุ่นแล้วว่าพวกเขามีพรสวรรค์จริงๆ ไม่ใช่แค่วูบวาบ พวกเขาจึงเริ่มไปหานักเตะอายุน้อย”

บวกกับการผลักดันของเหล่าเอเยนต์ ที่จะให้ผู้เล่นดาวรุ่งเตรียมตัวกับการย้ายไปเล่นในต่างประเทศล่วงหน้า ทั้งฝึกฝนภาษาอังกฤษ หรือเรียนรู้วัฒนธรรมแต่ละประเทศ ยังทำให้การย้ายมาเล่นในยุโรปของพวกเขาง่ายขึ้นไปอีก

สิ่งเหล่านี้ได้สรรค์สร้างให้นักเตะญี่ปุ่น กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของสโมสรในยุโรป และเมื่อพวกเขาได้ย้ายไปเล่นในลีกชั้นนำมากเท่าไร ก็ย่อมทำให้มาตรฐานของพวกเขาสูงยิ่งขึ้นไปจนเริ่มทิ้งห่างชาติในเอเชีย

เหมือนที่แสดงให้เห็นในเกมถล่มจีน 7-0 และ บาห์เรน 5-0 ในฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก ที่ผ่านมา

 

Maruak Tanniyom

Recent Posts

มาก่อนกาล : เกลียด LGBT และ Anti WOKE ที่ทำให้ อีลอน มัสก์ ด่า “เคลิฟ” ว่า “ไอ้ผู้ชาย”

เรื่องราวของ ไอมาน เคลีฟ นักชกแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกที่ ปารีส กำลังเป็นประเด็นเพราะมีการเปิดเผยว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นผู้ชาย โดยในโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา เคลิฟ สร้างกระแสเป็นอย่างมาก เพราะชกนักชกอิตาลีจนฝั่งอิตาลีต้องขอยอมแพ้ และบอกว่านี่คือหมัดที่หนักที่สุดในชีวิต ซึ่งตอนนั้นกระแสก็ไปหลายทาง บอกคนบอก…

10 hours ago

คล้ายๆเลยนะ! ย้อนเหตุการณ์ “อันเช่” โดน มาดริด ปลดปี 2014-15

"อันเชล็อตติ ทำอะไรผิดน่ะเหรอ ? ... ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน" นี่คือคำตอบผ่านสื่อของของ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสร เรอัล มาดริด ที่ไล่ คาร์โล อันเชล็อตติ ออกจากการเป็นกุนซือในฤดูกาล…

11 hours ago

โจชัวร์ เซิร์กซี : ดีลปริศนาที่ เทน ฮาก ไม่เคยอยากได้ และ อโมริม ก็คิดว่าจะไม่เอา

แม้ว่าจะ เอริค เทน ฮาก ถูกปลดจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ในฤดูกาลนี้ แต่ต้องยอมรับว่าการซื้อขายนักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของเขา มีความคึกคักเป็นพิเศษ ด้วยผู้เล่นขาเข้า 6 รายในราคารวมกันเกือบ 200…

17 hours ago

เกลียดจัดแต่ดันต้องเล่นด้วยกัน! ความวุ่นวายของฝรั่งเศสยุค คันโตน่า vs ชิโนล่า

เอริค คันโตนา คือนักเตะที่แฟน ๆ ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่มีวันลืมลง เขาเป็นคนที่ย้ายมาอยู่กับทีมในปี 1992 และเป็นคนที่เริ่มต้นยุคสมัยความยิ่งใหญ่ของทีมปีศาจเเดงก็คงไม่ผิดนัก ไม่ว่าสตาฟโค้ช, เพื่อนร่วมทีม และแม้แต่ เซอร์…

1 day ago

เหตุผลสุดพระเอกที่ทำให้ วาร์ดี้ เลิกเล่นทีมชาติตั้งแต่ช่วงพีก

เรื่องของ เจมี่ วาร์ดี้ นั้นชัดเจนมาก นับตั้งแต่เขาเเจ้งเกิดกับ เลสเตอร์ ซิตี้ เขาก็กลายเป็น "เดอะ แบก" ของทีมมาจนถึงทุกวันนี้ โดยช่วงฤดูกาล 2015-16 ที่เลสเตอร์คว้าเเชมป์พรีเมียร์ลีกนั้นเป็นปีที่วาร์ดี้พีกสุด ๆ…

1 day ago

ตูร์ เดอ ทรัมป์ : คู่แข่งจักรยานทางไกล ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ของ “โดนัล ทรัมป์”

โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะได้ลุ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สมัยที่ 2 หลังมีคะแนนนำ กมลา แฮร์ริส คู่แข่งอยู่พอสมควร ทั้งนี้ ก่อนที่ ทรัมป์ จะมาถึงจุดนี้ เขาเคยเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของการแข่งขันจักรยานทางไกล ที่เป็นคู่แข่ง…

2 days ago