อินเตอร์ไฮ - อคาเดมี : ระบบพัฒนาเยาวชนญี่ปุ่นคู่ขนาน ที่ไทยน่าเอาอย่าง
จบลงไปแล้วสำหรับ “ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว 2024” หรือฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติครั้งที่ 103 เมื่อ โรงเรียนมาเอบาชิ กัคคุเอ จากจังหวัดกุมมะ เป็นฝ่ายเอาชนะโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยริวซืเคไซ จากจังหวัดจิบะ ไปในช่วงดวลจุดโทษ คว้าแชมป์สมัยที่ 2 มาครอง
ทั้งนี้ นอกเหนือจากผลแพ้ชนะแล้ว สิ่งที่ได้เห็นจากเกมนี้ก็คือคุณภาพของฟุตบอลนักเรียนญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นเพียงแข้งสมัครเล่น แต่ความสามารถ สปีดบอล และความเข้าใจเกม ก็ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ฟุตบอลมัธยมปลายไม่ใช่ระบบสร้างเยาวชนเพียงอย่างเดียวของพวกเขา เพราะญี่ปุ่นยังมีอคาเดมีเจลีก ที่เป็นเหมือนระบบคู่ขนาน จนทำให้พวกเขาสามารถผลิตผู้เล่นฝีเท้าดีขึ้นมาติดทีมชาติ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ จึงขอพาไปเจาะลึกกับวิธีการพัฒนาฟุตบอลญี่ปุ่นทั้งสองรูปแบบนี้ ว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงมีประสิทธิภาพ เพราะบางทีสมาคมฟุตบอลไทย ก็อาจจะเอาอย่างได้
ติดตามไปพร้อมกัน
อคาเดมี : ระบบที่มาพร้อมกับเจลีก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้ทีมชาติญี่ปุ่น สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของเอเชียในปัจจุบัน มีจุดเปลี่ยนสำคัญมาจากการก่อตั้งเจลีกในปี 1993
ในตอนนั้นการก่อตั้งลีกอาชีพ มีเป้าหมายหลักคือการทำให้ “ซามูไรบลู” ได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ก่อนที่พวกเขาจะได้เป็นเจ้าภาพในปี 2002 (ซึ่งสุดท้ายก็ทำได้ในปี 1998) ทว่า มันกลับส่งต่อวงการฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างมหาศาล ในหลากหลายแง่มุม
หนึ่งในนั้นคือระบบอคาเดมี ซึ่งเป็นข้อบังคับตั้งแต่เริ่มแรกของทีมที่จะเข้าร่วมเจลีก ว่าต้องมีระบบพัฒนาเยาวชนชัดเจน ก่อนที่มันจะกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักในการสร้างนักเตะสู่ทีมชาติอย่างต่อเนื่อง
โดยทั่วไปแล้ว แต่ละทีมในเจลีก จะมีทีมเยาวชนอยู่ 3 รุ่น คืออายุไม่เกิน 12, 15 และ 18 ปี และหากพวกเขาทำผลงานได้ดี หรือมีแวว ก็จะได้เลื่อนขั้นขึ้นไปตามลำดับ หรืออาจได้เซ็นสัญญาอาชีพ ไม่ต่างจากอคาเดมีของยุโรป
“ทีมในเจลีกส่วนใหญ่จะเริ่มเลือกนักเตะตั้งแต่อายุ 11 ปี และมันก็แบ่งออกเป็นสามรุ่นคือ U12, U15, U18 อคาเดมีในเจลีกส่วนใหญ่ จะพยายามรักษานักเตะให้ได้ราว 50 เปอร์เซ็นต์ที่ได้มาเมื่อปีก่อน ขณะเดียวกันพวกเขาก็จะเลื่อนขั้นไปตามลำดับพิรามิด” ทอม ไบเยอร์ส โค้ชผู้คลุกคลีกับเยาวชนญี่ปุ่นมากว่า 30 ปี กล่าวกับ The World Game
“เป้าหมายสุดท้ายคือพยายามเซ็นสัญญาผู้เล่นจากอคาเดมีให้ได้อย่างน้อย 1-2 คน”
สำหรับทีมอคาเดมีเหล่านี้ พวกเขาจะมีทัวร์นาเมนต์ให้ฟาดแข้งเพื่อขัดเกลาฝีเท้าในทุกปี ไม่ว่าจะเป็น เจยูธคัพ ที่เอาทีมเยาวชนทั้ง 64 ทีมในเจลีก (เจ1-เจ3) มาเตะกันแบบทัวร์นาเมนต์
หรือถ้วยเจ้าชายทาคามาโดะ ที่แบ่งออกเป็นสองลีก คือตะวันตกและตะวันออก แล้วเอาผู้ชนะจากแต่ละลีก มาเตะเพลย์ออฟในรอบชิงชนะเลิศ
อย่างไรก็ดี พวกเขายังมีอีกระบบที่คู่ขนานไปด้วยกัน
ฟุตบอลสมัครเล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากอคาเดมีของเจลีก อีกเสาหลักที่เป็นแกนกลางในการพัฒนาเยาวชนญี่ปุ่นก็คือ ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ ที่แบ่งออกเป็น 2 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่นั่นคือ อินเตอร์ไฮ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อน และ ชิงแชมป์ฤดูหนาว ที่จัดขึ้นในช่วงปลายปี
เริ่มจากอินเตอร์ไฮ ที่ดูจะคุ้นหูกับชาวไทยมากที่สุด จากในมังงะทั้ง ชู้ต หรือ กัปตันสึบาสะ ทว่าที่จริง มันคือชื่อเรียกรวมของการแข่งขันกีฬามัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ โดยสหพันธ์กีฬาโรงเรียนมัธยมแห่งชาติ
หมายความว่านอกจากฟุตบอลแล้ว อินเตอร์ไฮ ยังกีฬาประเภททีมอย่าง บาสเกตบอล วอลเลย์บอล แฮนด์บอล และกีฬาประเภทเดี่ยวอย่าง มวย ยกน้ำหนัก ยูโด และซูโม่ ขณะที่ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว จะเป็นการแข่งขันฟุตบอลเพียงอย่างเดียว
แต่ไม่ว่าทัวร์นาเมนต์ไหน ก็เป็นการแข่งขันที่เข้มข้น เพราะทีมที่เข้าร่วมจะต้องเป็นทีมโรงเรียนมัธยมปลายเท่านั้น แถมกว่าจะได้เข้ามาเล่น ก็ต้องฝ่าฟันตั้งแต่รอบคัดเลือกระดับเขต ไปจนถึงระดับจังหวัด โดยมีแค่แชมป์จังหวัด (บางจังหวัดอาจได้โควต้า 2 ทีม) ที่จะได้มาโชว์ฝีเท้าในรอบสุดท้าย
นอกจากนี้ นักเตะที่สามารถเข้าร่วม ต้องเป็นผู้เล่นที่ลงทะเบียนกับชมรมฟุตบอลของโรงเรียนเท่านั้น หมายความว่าผู้เล่นที่อยู่ในอคาเดมีของเจลีก ก็จะไม่ได้สิทธิ์นี้ไปโดยปริยาย
ส่วนผู้เล่นที่ย้ายมาจากระบบอคาเดมี หรือเพิ่งย้ายโรงเรียนมา จะต้องเข้ามาอยู่ในชมรมฟุตบอลอย่างน้อย 6 เดือน รวมถึงยังจำกัดโควต้านักเรียนต่างชาติ ที่แต่ละโรงเรียนสามารถส่งลงสนามได้ไม่เกินนัดละ 2 คน (ลงทะเบียนสูงสุดได้ 4 คน)
พวกเขาให้เหตุผลว่าอยากจะสงวนรายการนี้ไว้สำหรับนักเตะสมัครเล่นจริง ๆ และมันก็ทำให้ฟุตบอลมัธยมปลาย สามารถพัฒนาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับระบบอคาเดมี
“นักเตะระดับมัธยมปลายเก่งๆ ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในทีมอคาเดมีของเจลีก หรือไม่ก็ไปเล่นในโรงเรียนที่เน้นเรื่องฟุตบอล ที่มีอยู่มากมาย” ไบเยอร์สอธิบาย
ทั้งนี้ ความสนุกและความตื่นเต้นของทัวร์นาเมนต์เหล่านี้ ยังสามารถดึงดูดแฟนบอลเข้ามาเชียร์ในระดับครึ่งแสน แถมล่าสุดศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว 2024 ก็เพิ่งทำลายสถิติผู้ชมในนัดชิงชนะเลิศสูงสุดตลอดกาลที่ 58,347 คน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคือการมีระบบที่หลากหลาย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้มีตัวเลือกในเส้นทางที่เหมาะสมของตัวเอง หรือมีทางไปต่อหากไม่ได้รับเลือกเข้าสู่ทีมตอนเปลี่ยนรุ่น
ยกตัวอย่างเช่น เคซูเกะ ฮอนดะ เขาเคยเล่นเป็นแข้งเยาวชน กัมบะ โอซากา แต่ไม่ได้ไปต่อในทีมรุ่น U18 จนต้องไปเรียนต่อมัธยมปลาย ก่อนจะสร้างชื่อกับโรงเรียนเซเรียว ในศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวครั้งที่ 83 ในปี 2004
หรือในกรณีของ คาโอรุ มิโตมะ ที่เป็นแข้งเยาวชนของ คาวาซากิ ฟรอนทาเล แต่ตัดสินใจไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก่อน แล้วค่อยมาเซ็นสัญญากับทีมหลังเรียนจบปริญญา
“ผู้เล่นสามารถพัฒนาในระบบใดก็ได้ที่เหมาะกับพวกเขามากที่สุด” แดน ออร์โลวิตช์ นักเขียนแห่ง Japan Times อธิบาย
“ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คาโอรุ มิโตมะ เขาได้รับการเสนอสัญญาอาชีพจาก คาวาซากิ ฟรอนทาเล ตอนอายุ 18 แต่เขาก็ตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเขาคิดว่ายังไม่พร้อม”
สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนของระบบพัฒนาเยาวชนที่มั่นคงและยั่งยืนของญี่ปุ่น ซึ่งผ่านการคิดและวางแผนมาอย่างดี จนทำให้พวกเขากลายเป็นเบอร์ 1 ของเอเชียอย่างในปัจจุบัน
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.