มองตามรุ่นพี่ : ญี่ปุ่นทำอย่างไรกับทัวร์นาเมนต์ภูมิภาคอย่าง EAFF ?
แม้ว่าจะถูกเรียกว่า “ฟุตบอลโลกของอาเซียน” แต่ในช่วงหลัง AFF คัพ ก็ถูกตั้งคำถามว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการส่งทีมที่ดีที่สุดไปแข่ง เพราะนอกจากโปรแกรมการแข่งขันที่เบียดเสียดแล้ว ยังเตะไม่ตรงกับปฏิทินของฟีฟ่า
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ มาซาทาดะ อิชิอิ กุนซือช้างศึก เลือกที่จะไม่เรียกแข้งชุดใหญ่หลายคน รวมถึง ธีราทร บุญมาทัน, ชนาธิป สรงกระสินธ์ และ ธีรศิลป์ แดงดา มาติดทีม เช่นเดียวกับ อินโดนีเซียที่ขาดผู้เล่นที่ค้าแข้งในยุโรปไปถึง 9 ราย
ทั้งนี้ ไทยไม่ใช่ชาติเดียว ที่มีปวดหัวกับทัวร์นาเมนต์ระดับภูมิภาค เพราะ ญี่ปุ่น บ้านเกิดของ อิชิอิ ก็เจอไม่ต่างกันในฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก หรือ EAFF คัพ
พวกเขาทำอย่างไรกับ ที่ส่งทีมลงเล่นโดยไม่ถูกแฟนบอลก่นด่า หรือถูกมองว่าดูถูกการแข่งขัน แม้จะเป็นรายการไม่สำคัญ? ติดตามไปพร้อมกัน
ทีมชุดบี?
สำหรับ ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก เป็นการแข่งขันที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2003 (หลัง AFF คัพ 3 ปี) ที่จะเอาชาติที่เป็นสมาชิกสมาคมฟุตบอลเอเชียตะวันออก 4 ทีม มาลงเตะในระบบลีกแบบพบกันหมดในรอบสุดท้าย
อันที่จริง หากไม่นับจำนวนทีมที่เข้าร่วม และระบบการแข่งขัน ส่วนอื่นก็คล้ายกับศึก “อาเซียนคัพ” ของเรา ไม่ว่าจะจัดแบบถี่ยิบ 2 ปีครั้ง หรือการมีรอบคัดเลือก สำหรับทีมที่แรงกิ้งต่ำ เพื่อคัดไปเล่นในรอบสุดท้าย
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาติใหญ่ในภูมิภาคอย่าง ญี่ปุ่น ต่างปวดหัวกับรายการนี้ เพราะมันไม่ได้เป็นรายการที่สำคัญ ที่นอกจากจะไม่ได้อยู่ในปฏิทินของฟีฟ่าแล้ว แต้มที่ได้เพื่อขยับอันดับโลกจากทัวร์นาเมนต์นี้ยังน้อยนิด
ทำให้ช่วงหลัง มักจะเห็นญี่ปุ่น ส่งผู้เล่นไม่ค่อยมีประสบการณ์มาเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้ ยกตัวอย่างเช่นใน EAFF 2022 พวกเขาเรียกนักเตะที่ติดทีมชาติเกิน 10 นัด มาเพียงแค่ 4 คนจาก 23 คน ขณะที่อีก 13 คน หรือกว่าครึ่งทีม ไม่เคยติดทีมชาติมาก่อน
มองอย่างผิวเผินจึงเหมือนว่า “ญี่ปุ่นใช้ EAFF คัพเพื่อลองทีม ด้วยการส่งทีมชุดบีมาลงแข่ง” แต่ความเป็นจริง อาจจะถูกเพียงครึ่งเดียว
แน่นอนว่า ซามูไรบลู อาจจะใช้รายการนี้เป็นทัวร์นาเมนต์ทดลองนักเตะจริง แต่ผู้เล่นที่เรียกมาติดทีมชาติในขณะนั้น คือนักเตะที่ดีที่สุดที่ค้าแข้งในเจลีก
เนื่องจาก EAFF ไม่ได้จัดขึ้นในช่วงฟีฟ่าเดย์ ทำให้ซามูไรบลูหมดสิทธิ์ใช้งานผู้เล่นที่ค้าแข้งในยุโรปไปโดยปริยาย ทำให้ 23 ขุนพลที่เรียกมาจึงดูเหมือนกับทีมสำรอง เพราะแกนหลักของพวกเขาเล่นอยู่ในต่างประเทศ
แต่นักเตะที่เรียกมาก็ไม่ได้ไก่กา เพราะทุกคน ล้วนเป็นนักเตะชาวญี่ปุ่นที่กำลังทำผลงานยอดเยี่ยมในลีก ไม่ว่าจะเป็น ไซออน ซูซูกิ ที่ขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ของ อูราวะ เรดส์ ด้วยวัยเพียง 19 ปี, โชโงะ ทานิงูจิ แนวรับของ คาวาซากิ ฟรอนทาเล แชมป์เจลีก 2021, ยูกิ โซมะ ปีกจอมพลิ้วของ นาโงยา แกรมปัส หรือ ชูโตะ มาจิโนะ กองหน้าฟอร์มแรงของ โชนัน เบลล์มาเร
เรียกได้ว่ามันคือเวทีโชว์ของ สำหรับนักเตะที่เบียดแย่งตำแหน่งในทีมชาติจากแข้งในยุโรปไม่ได้ ซึ่งหลายคนก็สามารถต่อยอดจนมีชื่อไปเล่นในฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย หรือปูทางจนได้ไปค้าแข้งในต่างแดนในเวลาต่อมา
สิ่งที่ควรโฟกัส?
แม้ว่าการส่งผู้เล่นหน้าใหม่ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ที่ไม่ได้สำคัญมากนักอย่าง AFF คัพ จะเป็นไอเดียที่ดี และญี่ปุ่นก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ว่าส่งผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น อาจต้องดูทรัพยากรของตัวเองก่อน
ญี่ปุ่นสามารถทำได้ เนื่องจากผู้เล่นตัวหลักในทีมชาติเกือบทั้งทีม เล่นอยู่ในยุโรป พวกเขาจึงสามารถใช้แต่ผู้เล่นในลีกลงเล่นในทัวร์นาเมนต์รองอย่าง EAFF ได้
ดังนั้น สิ่งที่สมาคมฟุตบอลไทย ต้องโฟกัสก่อน คือการพยายามส่งออกนักเตะออกไปเล่นต่างแดนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้มาตรฐานโดยรวมของทีมชาติสูงขึ้น
เพราะยิ่งมีนักเตะไปเล่นในต่างประเทศมากเท่าไร ผู้เล่นในลีกก็จะพยายามยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถเบียดแย่งตำแหน่งในทีมชาติกับผู้เล่นที่ค้าแข้งในเจลีกหรือยุโรปได้
และเมื่อการแข่งขันเข้มข้นขึ้น ก็ย่อมทำให้คุณภาพโดยรวมของลีกก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลในแง่บวกต่อทีมชาติอย่างแน่นอน
เมื่อถึงเวลานั้น เราก็จะมีนักเตะคุณภาพดีในลีก จนสามารถส่งทีมสำรอง มาหาประสบการณ์ในทัวร์นาเมนต์รอง อย่าง AFF คัพ หรือ ซีเกมส์ โดยที่ไม่ถูกหาว่าดูถูกการแข่งขัน
แม้ว่ามันอาจจะเป็นหนทางที่ดูไกลแสนไกล แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มนับหนึ่ง และผลักดันให้เป็นนโยบายสำคัญ เหมือนกับที่เจลีกทำมาตั้งแต่ยุค มิตสึรุ มุราอิ ประธานลีกบอลญี่ปุ่นคนเก่า
เพราะตราบใดที่ทัพช้างศึกยังมีแต่ผู้เล่นในลีกของประเทศอยู่เต็มทีมชาติ เราก็คงไม่สามารถก้าวข้ามอาเซียน เหมือนกับทีมชั้นนำของทวีปอย่าง กาตาร์, ซาอุฯ หรือ จีน ที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามเอเชียได้เลยในตอนนี้
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.