เหตุผลทางจิตวิทยา : ทำไมนักฟุตบอลต้องกุมหัวเวลาพลาด?

Maruak Tanniyom

September 04, 2024 · 1 min read

เหตุผลทางจิตวิทยา : ทำไมนักฟุตบอลต้องกุมหัวเวลาพลาด?
ฟุตบอล | September 04, 2024

หนึ่งในสเน่ห์ของการแข่งขันฟุตบอล คือความตื่นเต้นและเร้าใจ ที่บางครั้งแค่ประตูเดียวก็อาจตัดสินชัยชนะ

ทำให้ทุกครั้งที่มีโอกาสทำประตู เหล่านักฟุตบอลจะคอยลุ้นไปกับโอกาสนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทว่า หากไม่ได้ประตูพวกเขาจะทำเหมือนกัน ราวกับเป็นหลักสากล นั่นคือเอามือกุมหัว เพราะอะไร?

อันที่จริงไม่ได้เป็นเรื่องของฟุตบอลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่มาจากจิตใต้สำนึก กล่าวคือ มันเป็นท่าทางที่แสดงให้เห็นว่าตัวเรารู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันผิดพลาด

“มันเป็นการบอกคนอื่นว่า ‘ฉันเข้าใจแล้ว ฉันขอโทษ ดังนั้นคุณไม่ต้องไล่ฉันออกจากกลุ่ม คุณไม่ต้องฆ่าฉัน’” เจสซิกา เทรซี ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริติช โคลอมเบีย กล่าวกับ New York Times

แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่คนที่มีโอกาสยิง แต่เพื่อนร่วมทีม โค้ช หรือแม้แต่แฟนบอลก็มีโอกาสแสดงท่าทางกุมหัวออกไปแบบไม่รู้ตัว ซึ่งพบเห็นได้เป็นประจำในการแข่งขันถ่ายทอดสดรายการใหญ่

ในงานสัมนาเกี่ยวกับฟุตบอลที่ชื่อ “The Soccer Tribe” เมื่อปี 1981 เดสมอน มอร์ริส นักสัตววิทยา ได้รวบรวมท่าทางของผู้เล่น 12 คน เมื่อประสบกับความพ่ายแพ้ และสังเกตุเห็นท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงการปลอบใจตัวเอง

“มันคือรูปแบบของการสัมผัสกันโดยอัตโนมัติ ผู้ที่แพร่กระจายมันออกไป จะใช้ยามที่ตัวเองรู้สึกต้องการการโอบกอดที่ทำให้ใจสงบลง แต่ก็ไม่มีใครที่จะพร้อมเสนอให้ในทันที” มอร์ริส อธิบาย

ขณะที่ในงานวิชาการที่ศึกษาท่าทางทั้งตอนชนะและแพ้ของนักกีฬาโอลิมปิกที่ตาบอดโดยกำเนิดของ เทรซี ซึ่งทำร่วมกับ เดวิด มัตสึโมโตะ เมื่อปี 2008 ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมในการแสดงความภาคภูมิใจและความอับอาย เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเป็นสากล

“คุณจะกุมหัว นั่นคือความอับอาย” เทรซีกล่าว “คุณจะแน่นหน้าอก ในลักษณะที่จะขยับแขนไปไว้ใกล้หัว เพื่อทำให้ตัวเองตัวเล็กที่สุด สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบในการแสดงความอับอายที่คลาสสิค”

นอกจากนี้ มันยังเกิดขึ้นในตอนที่ผู้เล่นน่าจะทำประตูได้อย่างแน่นอน แต่กลับโดนเซฟหรือหลุดกรอบไปแบบไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2006 ที่ ซีเนดีน ซีดาน กองกลางทีมชาติฝรั่งเศส ได้โหม่งแบบไม่ตัวตัวประกบในช่วงต่อเวลาพิเศษ แต่ จานลุยจิ บุฟฟอน นายด่านของ อิตาลี ก็ปัดข้ามคานไปได้ – สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้นคือ ซีดาน เอามือกุมหัวตัวเอง

หรือในเกมแมนเชสเตอร์ ดาร์บี้แมตช์เมื่อฤดูกาลก่อน ที่ เออร์ลิง ฮาลันด์ ดาวยิงตัวเก่งของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ชาร์จจ่อๆ หน้ากรอบเขตโทษแบบไม่มีใครขวาง แต่กลับทำบอลข้ามคานไปแบบอึ้งทั้งสนาม

“มันคือความเป็นจริงตามสถิติที่เหมือนกันในทุกประการ คุณมีโอกาสแล้วพลาด ผู้รักษาประตูเซฟได้ หรืออะไรก็ตามแต่ กลไกมันเกิดขึ้นจากทั้งการไปถึงจุดนั้น หรือไปไม่ถึง” เดวิด โกลด์แบล็ต นักประวัติศาสตร์ฟุตบอลชาวอังกฤษอธิบายกับ New York Times

ขณะที่ ดาเชอร์ เคลต์เนอร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติช แคลิฟอเนียร์ เบอร์เคเลย์ กล่าวว่า “เมื่อผู้เล่นตกใจในแบบไม่คาดคิด มือของพวกเขาจะขยับขึ้นไปที่บริเวณใกล้หัวในลักษณะของการปกป้อง”

ความตั้งใจที่เก่าแก่ที่สุดในเชิงพฤติกรรมคือการป้องกันศรีษะจากการถูกกระแทก”

ในปี 1996 เคลต์เนอร์ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับ ปฏิกริยาทางอารมณ์ของผู้คนที่ได้ยินเสียงดังมากแบบไม่คาดคิด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายกับท่าทางของนักฟุตบอลตอนที่ยิงไม่เข้า

คุณได้ยินเสียงที่ดังมากๆ และนั่นก็สัมพันธ์กับการรับรู้ว่าอาจจะมีอะไรมาโดนหัวคุณ และคุณก็จะปกป้องหัวตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เปราะบางและมีความสำคัญ” เคลต์เนอร์ กล่าว

“ดังนั้นแอคชั่นใดๆ ที่คล้ายกับการพลาดแบบไม่น่าเชื่อ คือที่มาของความเจ็บปวดทางจิตใจ ที่จะทำให้เกิดท่าทางในการปกป้องศรีษะแบบนั้น”

ทั้งนี้ ท่าทางดังกล่าวยังสามารถทำปฏิกริยาลูกโซ่ ที่ทำให้ผู้เล่นคนอื่น หรือแฟนบอล ไปจนถึงโค้ชทำในลักษณะเดียวกัน

“สิ่งที่คุณมักพบเจอคือโรคติดต่อแบบนี้ได้เกิดขึ้น ถ้ผู้เล่นในทีมที่คุณเชียร์ แสดงให้เห็นอะไรบางอย่าง คุณอาจจะถูกแพร่เชื้อจากท่าทางในรูปแบบอวัจนะภาษาของพวกเขาได้” ฟิลิปส์ เฟอร์เลย์ อาจารย์จากสาขาจิตวิทยากีฬา แห่งมหาวิทยาลัยกีฬาเยอรมัน ที่เมืองโคโลจน์ อธิบาย

ดังนั้นการที่นักฟุตบอลเอามือกุมหัวจังไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ที่แพร่หลายไปยังคนอื่นที่มีความรู้สึกร่วมกัน