เงียบจ้อย : ทำไมลีกซาอุฯ ไม่ช็อปนักเตะระเบิดระเบ้อเหมือนฤดูกาลที่แล้ว ?
เม็ดเงิน 178.7 ล้านยูโร ที่ใช้ในการซื้อนักเตะของสโมสรในซาอุดิ โปรลีก ลีกสูงสุดซาอุดิอาระเบียในฤดูกาล 2024-2025 กลายเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยว เมื่อเทียบกับการใช้ไปถึง 977 ล้านยูโร เมื่อฤดูกาลก่อน
มันถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ สำหรับลีกที่มีนโยบายการทุ่มเงินซื้อผู้เล่นจากยุโรปและอเมริกาใต้เพื่อ “อุดช่องว่างและเพิ่มศักยภาพโดยรวม” จากที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้
เพราะอะไร ตลาดนักเตะลีกซาอุฯ จึงค่อนข้างซบเซาในฤดูกาลนี้? หรือว่าพวกเขากำลังมีปัญหาอะไร? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน
อันที่จริงการเซ็นนักเตะด้วยค่าตัวมหาศาลของลีกซาอุฯ เมื่อฤดูกาลก่อน อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายในการทำเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำของสโมสรในยุโรป เนื่องจาก “การใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย” กลายเป็นข้อแนะนำที่ไม่ควรทำในคำประกาศของ ซาอุดิ โปรลีก (SPL) ในฤดูกาลนี้
พวกเขามองว่าสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในตอนนี้คือการรักษานักเตะต่างชาติฝีเท้าดีที่มีอยู่ไว้ให้ได้มากที่สุด หลังจากมีนักเตะหลายคนที่ย้ายมา แล้วตัดสินใจย้ายกลับยุโรปในเวลาไม่นาน ไม่ว่าจะเป็น จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ของ อัล อิตติฮัด ที่กลับไปอยู่ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม หรือ อัลแล็ง แซงต์-แม็กซิแม็ง ที่ไปอยู่กับ เฟเนร์บาห์เช ด้วยสัญญายืมตัว
เพราะแม้ว่าในยูโร 2024 ลีกซาอุฯ จะมีตัวแทนเข้าร่วมโม่แข้งในทัวร์นาเมนต์นี้มากถึง 14 คน รวมถึง อายเมริค ลาปอร์ต ที่ร่วมคว้าแชมป์กับทีมชาติสเปน แต่ลีกแห่งนี้ รวมไปถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับนักเตะจากยุโรปทุกคน
ขณะเดียวกัน ลีกซาอุฯ ในปีนี้ยังให้ความสำคัญกับการซื้อขายเชิงกลยุทธ์มากขึ้น นั่นคือแทนที่จะทุ่มเงินซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์มากองเอาไว้ พวกเขามุ่งเน้นไปที่การหาแข้งดาวรุ่งฝีเท้าดีเข้ามาสู่ทีมมากว่า
“ก็ใช่ที่การเซ็นสัญญาก็เพื่อการตอบสนองความต้องการในเชิงเทคนิค และเป็นการสนับสนุนเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาต้องมีราคาที่เหมาะสม” โฆษกของลีกกล่าวกับ The Athletic
มันทำให้ฤดูกาลนี้ จึงไม่มีการใช้เงินอย่างมือเติบอีกแล้ว ขณะเดียวกัน จากแหล่งข้อมูลผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามยังระบุว่าเอเยนต์นักเตะหลายคนถูกขอร้องให้อดทนรอจนกว่าจะรู้ว่าแต่ละทีมสามารถใช้จ่ายได้เท่าไร เทียบกับก่อนหน้านี้ที่พวกเขาสามารถพูดคุยกับสโมสรได้อย่างอิสระ
นอกจากนี้ จากการที่กระทรวงกีฬามีบทบาทในการเข้ามาตรวจสอบ และประเมินความสมดุลของเงินทุนในการซื้อขายนักเตะ เพื่อรับรองการย้ายทีม ยังทำให้แต่สโมสรระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น
“การเซ็นสัญญาผู้เล่นจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากซีอีโอ (สโมสร) ผู้อำนวยการเทคนิค และผู้จัดการทีม” เตอร์กี อัล ซาอูด รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาของซาอุฯ อธิบาย
“จากนั้นคุณต้องมาหาเรา สโมสรจะกรอกแบบฟอร์มและส่งมากที่เรา แล้วเราค่อยอนุญาตให้คุณไปเจรจากับนักเตะ”
พวกเขายังให้ความสำคัญในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการดึงโค้ชฝีมือดีมาอยู่ในลีกมากขึ้น ที่ทำให้ ซาอุดิ โปรลีกตอนนี้ มีกุนซือหลายคนที่ชื่อคุ้นหู รวมไปถึง โลล็อง บล็องต์ อดีตเฮดโค้ช ปารีส แซงต์ แชร์กแมงต์, ซาบรี ลามูชี อดีตกุนซือ น็อตติงแฮม ฟอร์เรสต์ และ คาร์ดิฟ หรือ เฟร์นันโด เอียร์โร อดีตเฮดโค้ชทีมชาติสเปรชุดฟุตบอลโลก 2018
“ปัจจุบัน เรามีผู้บริหารด้านฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมมากของโลกเข้ามาอยู่ในสโมสรของเรา เพื่อสร้างโครงสร้างที่แข็งแกร่ง และทำให้สโมสรเติบโต พร้อมกับเพิ่มมูลค่าให้แก่ระบบนิเวศของฟุตบอลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสโมสร” โฆษกของลีกกล่าวต่อ
เตอร์กี อัล ซาอูด บอกว่าพวกเขาพยายามใช้บทเรียนจากฤดูกาลที่แล้ว โดยเฉพาะการทำให้แน่ใจว่าผู้เล่นที่ได้มาเหมาะสมกับที่นี่ เพื่อมันมาส่งผลกระทบในแง่ลบกับกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่
“ตอนที่ผู้เล่นเข้ามา เขาบอกคุณว่าเขาอยากเล่นต่อหน้าแฟนๆ จำนวนมาก และทัวร์นาเมนต์ระดับทวีป แต่คุณคงไม่อยากดึงนักเตะที่ไม่ตรงกับความต้องการของสโมสรเข้ามาหรอก” รัฐมนตรีกีฬาซาอุฯอธิบาย
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการพยายามลดอายุเฉลี่ยของนักเตะที่เซ็นเข้ามาให้น้อยลงจาก 29 ปี เป็น 27 ปี และมีแพลนที่จะลดลงไปอีกในฤดูกาลหน้า ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดทิศทางการเสริมทัพสโมสรในลีกซาอุฯ ฤดูกาลนี้
เพราะแม้ว่าตัวชูโรงของลีกซาอุฯ จะยังคงเป็น คริสเตียโน โรนัลโด้ ที่จะอายุครบ 40 ปี ในไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่กฎใหม่ของฤดูกาล 2024-2025 ได้กระตุ้นให้เน้นการลงทุนไปกับนักเตะอายุไม่เกิน 21 ปี
ไม่ว่าจะการเพิ่มโควต้านักเตะต่างชาติในทีมจาก 8 คนเป็น 10 คน (ลงเล่นได้ 8 คนต่อเกม) แต่มีข้อแม้ว่าอีก 2 คนที่เพิ่มเข้ามา จะต้องเกิดหลังปี 2003 หรือการปรับลีกเยาวชนจากเดิมเป็นอายุไม่เกิน 19 ปี มาเป็นไม่เกิน 18 ปีในซีซั่นนี้
“เหมือนกับลีกชั้นนำของโลก เราอยากจะเห็นผู้เล่นฝีเท้าดีที่เติบโตในประเทศ เคียงข้างกับดาวรุ่งระดับโลก ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอันทะเยอทะยานของเรา” โฆษกของ SPL กล่าว
“เป้าหมายของเราคือการสร้างผลงานจากการเซ็นสัญญา เมื่อช่วงหน้าร้อนปีที่แล้ว (แต่เมื่อพิจารณาถึงลำดับความสำคัญ) สโมสรจะเซ็นสัญญากับผู้เล่นเฉพาะตำแหน่งที่ว่าง และขึ้นอยู่กับความต้องการของทีม”
มันคือความพยายามที่จะทำให้ลีกซาอุฯ ยั่งยืน และไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเงินทุนในการเข้ามากอบโกยในช่วงบั้นปลายชีวิตนักฟุตบอล เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับหลายลีกในเอเชีย ที่วูบวาบขึ้นมาเพียงช่วงหนึ่ง แต่ดับลงไม่นานหลังจากนั้น
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.