ความโรคจิตของลูกชายซัดดัม : ชายผู้สร้างทีมฟุตบอลด้วยกำลังและการทรมาน

Maruak Tanniyom

November 13, 2024 · 2 min read

ความโรคจิตของลูกชายซัดดัม : ชายผู้สร้างทีมฟุตบอลด้วยกำลังและการทรมาน
ฟุตบอล | November 13, 2024
รู้จักกับลูกชายของซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก ที่ขับเคลื่อนวงการฟุตบอลในประเทศด้วยความหวาดกลัว

อิรักถือหนึ่งในทีมชั้นนำของทวีป เพราะแม้จะอยู่ภายใต้ภาวะสงคราม พวกเขาก็ยังทำผลงานได้อย่างไม่เป็นสองรองใคร ไม่ว่าจะเป็นการคว้าอันดับ 4 โอลิมปิก เมื่อปี 2004 หรือคว้าแชมป์เอเชียนคัพในปี 2007

ทั้งนี้ มันต่างไปจากเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ “สิงโตแห่งเมโสโปเตเมีย” ต้องขับเคลื่อนด้วยความกลัว ภายใต้การนำของนายกสมาคมที่ชื่อว่า อูเดย์ ฮุสเซน ลูกชายของ ซัดดัม ฮุสเซน ที่โหดกว่าพ่อเป็น 100 เท่า

ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกัน

“พ่อแม่รังแกฉัน” อาจจะเป็นคำเปรียบเปรยที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของ อูเดย์ ฮุสเซน เมื่อเขาได้เห็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดจากพ่อของเขาตั้งแต่ยังเด็กๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผลการเรียนที่ย่ำแย่ของเขาให้กลายเป็นคนเรียนเก่งแค่เพียงปลายนิ้ว

จนกระทั่งตอนอายุ 21 อูเดย์ ก็มีโอกาสได้ใช้อำนาจของตัวเอง หลังได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นนายกสมาคมฟุตบอลอิรัก และคณะกรรมการโอลิมปิกอิรักในปี 1984

อันที่จริงหนึ่งปีก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งจะก่อตั้งทีมฟุตบอลที่ชื่อว่า อัล ราชีด ก่อนที่ตำแหน่งในสมาคมฯ ของ อูเดย์ จะทำให้สโมสรของเขากลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จในอิรัก

กลยุทธ์ของเขาคือการดึงตัวนักเตะที่เก่งที่สุดของทีมคู่แข่ง หากทีมไหนปฎิเสธ เขาก็จะใช้วิธีลักพาตัวนักเตะคนนั้นมา และบังคับให้เซ็นสัญญากับทีม

นอกจากนี้ อูเดย์ ยังขึ้นชื่อในการลงโทษผู้เล่นที่ทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการจับขังหรือซ้อมทรมาน ซึ่งมักจะทำกันในคุกลับใต้พระราชวังรัดวานิยา ที่พำนักของคนในตระกูลฮุสเซน

“ฟุตบอลในยุคของอูเดย์มันน่ากลัว และช่วงเวลาที่น่าสะพรึงล้วนเต็มไปด้วยความกดดันในแง่ลบต่อผู้เล่นและนักกีฬาทุกคน มันเป็นสถานการณ์ที่น่าหดหู่มาก” ซาอัด ควาอิส อดีตนักเตะทีมชาติอิรักกล่าว

ทั้งนี้ ความเผด็จการของ อูเดย์ ไม่ได้ใช้แค่ในสโมสรของตัวเองเท่านั้น แต่มันยังลามมาถึงทีมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคู่แข่งเพื่อมาอุ่นเครื่องกับทีมชุดผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 1986 รอบสุดท้าย ที่เม็กซิโก ด้วยตัวเอง ไปจนถึงการเปลี่ยนสีชุดแข่งของทีมมาเป็นสีทองในนาทีสุดท้าย

นอกจากนี้ ก่อนทัวร์นาเมนต์ที่เม็กซิโกจะเริ่มขึ้น อูเดย์ ยังกระตุ้นแกมขู่ว่าทีมชาติอิรักจะต้องคว้าชัยให้ได้ในรายการนี้ ไม่เช่นนั้นจะต้องเผชิญกับบทลงโทษตอนกลับถึงบ้าน

ราวกับเป็นความโชคร้ายของนักเตะชุดนั้น เมื่อพวกเขาต้องพบความปราชัยทั้ง 3 นัด และยิงคู่แข่งได้เพียงแค่ประตูเดียว ทำให้เมื่อถึงอิรัก นักเตะทั้งทีมถูกลงโทษด้วยการโกนหัว

“ผมชอบเควิน คีแกน มาก เขาเป็นนักเตะที่สุดยอด และผมก็มีผมเป็นลอนเหมือนกับเขา” อาหมัด ราฮิม ฮาหมัด อดีตแข้งอิรักกล่าว

“อูเดย์ โกนหัวนักเตะทุกคน และนั่นเป็นตอนที่ผมต้องสูญเสียผมเป็นลอนไป”

นักเตะทีมชาติอิรักชุดฟุตบอลโลก 1986

อูเดย์ เหมือนจะมีปัญหาเรื่องตรรกะและความคิด เพราะเขาเชื่อว่าการทรมานคือวิธีที่ดีในการกระตุ้นนักเตะ เขามักจะขู่ผู้เล่นว่าหากผลงานไม่ดี จะตัดขาไปให้สุนัขกิน หรือเคยถึงขั้นโทรมาขู่นักเตะตอนพักครึ่งมาแล้ว

“ความโหดร้ายของ อูเดย์นั้นไร้ขอบเขต ไม่ว่าใครก็จะไม่ปลอดภัยจากเขา” อาลี ริเยาะห์ หัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าว Al-Qadissiya กล่าว

“นักแสดง นักกีฬา หรือนักข่าว เขาเกลียดพวกเราทั้งหมด เขาสนุกกับความเจ็บปวดของเรา เขาไม่เคยเจ็บอย่างที่เขาชอบดู เขาคือปีศาจ เลวร้ายกว่าพ่อของเขามาก”

ลูกชายของซัดดัม ยังมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด เขามักจะชอบอัดวิดีโอตอนทรมานคนเอาไว้ รวมไปถึงชอบคิดหาวิธีใหม่ๆในการลงโทษ จนถึงขนาดจดลงสมุดบันทึกเอาไว้

เช่นในตอนที่แข้งทีมชาติอิรัก พลาดไปเล่นในฟุตบอลโลก 1994 รอบสุดท้าย นอกจากโกนหัวและสั่งขังเป็นปกติแล้ว เขายังให้นักเตะชุดนั้นเตะลูกบอลที่ทำมาจากคอนกรีตไปทั่วเรือนจำ ก่อนจะพาไปนอนคว่ำบนพื้นกรวด และลากไปตามพื้นให้เกิดเป็นแผลเต็มตัว จากนั้นจึงพาไปกระโดดในบ่อน้ำเน่าเพื่อให้ปวดแสบ

“เขาเป็นคนโหดร้ายสำหรับนักเตะทุกคน และไม่รู้อะไรเลยในชีวิตนอกจากการลงโทษและสั่งขัง แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ยกเว้น” ฮัสซัน จัลลาบ อดีตนักเตะของ อัล นาจาฟ กล่าว

อย่างไรก็ดี อูเดย์ ไม่ได้เก่งเรื่องการทรมานเท่านั้น เขายังขึ้นชื่อในการเอาเปรียบตัวนักเตะตัวพ่อ โดยเฉพาะบังคับให้ผู้เล่นแบ่งรายได้จากการค้าแข้งในต่างแดน

ย้อนกลับไปในปี 1990 เมื่ออิรักต้องขาดแคลนรายได้อย่างหนัก หลังถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ อันเนื่องมาจากการบุกคูเวต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอ่าว อูเดย์ จึงใช้วิธีให้นักเตะที่ไปเล่นในต่างแดน ต้องส่งเงิน 40 เปอร์เซ็นต์จากรายได้มาให้เขา

หนึ่งในนั้นคือ ฮาบิบ จาฟฟาร์ ทำให้แม้ก่อนหน้านี้เขาจะเผชิญกับพฤติกรรมอันเหี้ยมโหดของ อูเดย์ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการถูกเฆี่ยนด้วยสายเคเบิล หรือการถูกบังคับให้กระโดดลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ก็สุดท้ายต้องยอมจำนน เพราะไม่งั้นเขาก็จะไม่ได้ไปเล่นต่างแดน

“เขาไม่ยอมให้เราหยุด หรือเลิกเล่น และเราก็ไม่สามารถเล่นได้ดีเพราะการข่มขู่ทั้งหมดเหล่านี้ มันคือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายที่ทำให้เราเครียดมาก” อดีตกัปตันทีมชาติอิรักกล่าว

อันที่จริงความโหดร้ายของ อูเดย์ ต่างเคยโดนฟีฟ่า เข้ามาสอบสวน แต่ก็ไม่มีหลักฐานเอาผิด เนื่องจากไม่มีใครยอมปริปาก ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ก็ไม่ได้ออกแอคชั่นอะไร โดยให้เหตุผลว่าไม่มีข้อร้องเรียนเข้ามา

แต่สุดท้ายยุคสมัยของ อูเดย์ ก็มาถึงจุดจบ เมื่อเขามาถูกสังหารในปฏิบัติการโจมตีอิรักของสหรัฐฯ ในปี 2003 และที่ทำให้วงการฟุตบอลของอิรัก ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระไปพร้อมกับความตายของเขา