มหาอำนาจกีฬา? : เพราะเหตุใด “ฟุตบอลจีน” จึงยังไปไม่ถึงไหน

Maruak Tanniyom

September 06, 2024 · 1 min read

มหาอำนาจกีฬา? : เพราะเหตุใด “ฟุตบอลจีน” จึงยังไปไม่ถึงไหน
ฟุตบอล | September 06, 2024

ความพ่ายแพ้ต่อทีมชาติญี่ปุ่น 7-0 ที่ไซตามะ สเตเดียม ในเกมนัดแรกของฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก รอบ 3 แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ถูกถ่างออกไปของจีนกับเพื่อนบ้าน

ทำให้แม้ว่าฟุตบอลโลกครั้งต่อไป ทวีปเอเชียจะได้โควต้าถึง 8.5 ทีม แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นงานยากของ พญามังกรอีกครั้ง สวนทางกับสถานะมหาอำนาจกีฬาโลก จากการเป็นจ้าวเหรียญทองโอลิมปิกหลายสมัย

เพราะเหตุใด ฟุตบอลจีนยังไปไม่ถึงไหน ทั้งที่ทุ่มเงินและทรัพยากรไปอย่างมหาศาล หาคำตอบไปพร้อมกัน

อันที่จริง การพยายามขึ้นมาอยู่แถวหน้าในวงการฟุตบอล ส่วนหนึ่งมาจากความหลงใหลในเกมลูกหนังของ สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีของจีน ที่มีความฝันอยู่ 3 อย่าง คือเห็นจีนไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย, เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก และคว้าแชมป์โลก

มันจึงทำให้เขามุ่งเน้นพัฒนาฟุตบอลจีนตั้งแต่รากฐาน ตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดในปี 2011 และบรรจุในแผนพัฒนาชาติ ด้วยความหวังที่จะทำให้ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาประจำชาติของจีน

นอกจากการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลในระดับเยาวชน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้ว จีนยังลงทุนด้านบุคลากร ด้วยการจ้างโค้ชระดับโลกอย่าง มาร์เซโล ลิปปี มาคุมทีมชาติเมื่อปี 2016 รวมถึงทุ่มเงินดึงนักเตะชื่อดังจากยุโรป มาโชว์ฝีเท้าในไชนีส ซูเปอร์ลีก

ทำให้ช่วงแรกฟุตบอลจีน มีการเติบโตที่น่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นยอดผู้ชมเฉลี่ยใน 18,986 คนในปี 2014 เป็น 22,193 คนในปี 2015 และสูงถึง 24,053 คนในปี 2018 ไปจนถึงการที่ กวางโจว เอเวอร์แกรนด์ ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ระดับทวีปอย่าง เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกได้ถึง 2 สมัย

แต่สุดท้ายฟองสบู่ของฟุตบอลจีนก็ถึงคราวแตกโพละ จากการที่รายจ่ายสูงกว่ารายรับถึงครึ่งต่อครึ่ง ก่อนจะมาถูกซ้ำเติมจากการระบาดของโควิด จนทำให้บริษัทที่เคยเป็นนายทุนต้องถอนตัว ที่ทำให้หลายสโมสรต้องลงเอยด้วยการยุบทีม

และเมื่อรากฐานไม่มั่นคง มันก็ย่อมส่งผลกระทบไปสู่ทีมชาติ และทำให้ทีมชาติจีนแทบไม่มีลุ้นในการเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายแม้แต่นิดเดียว โดยครั้งล่าสุดในปี 2022 พวกเขาจบในตำแหน่งรองบ๊วยของรอบคัดเลือกรอบ 3 และคว้าชัยได้เพียงนัดเดียว

“เรามีประชากร 1.4 พันล้านคนในจีน แต่เราไม่สามารถหานักฟุตบอล 11 คนที่สามารถพาทีมผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก มันเป็นความน่าอายมาก” คอมเมนต์หนึ่งใน Weibo โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดของจีน กล่าว

แถมนัดล่าสุด จีน ยังเล่นแบบไร้ทรง ก่อนจะบุกไปพ่าย ญี่ปุ่นยับเยิน 7-0 ในนัดแรกของฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือกรอบที่ 3 ซึ่งอีกแค่ลูกเดียว ก็จะเทียบเท่าการปราชัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขา (แพ้บราซิล 8-0 เมื่อปี 2012)

ปัญหาหลักของพวกเขาคือระบบเยาวชนที่ยังไม่ดีพอ เพราะแม้ว่าจีนจะมีฐานแฟนบอลที่ใหญ่มาก แต่ฟุตบอลก็ไม่ได้เป็นกีฬาผู้ปกครองสนับสนุนให้ลูกหลานเล่น เทียบเท่ากับเทเบิล เทนนิส, แบดมินตัน หรือ บาสเกตบอล

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาของคอมมิวนิสต์ ที่บังคับให้ทุกคนคิดและปฏิบัติอยู่ในกรอบที่รัฐบาลกำหนด ยังเป็นอุปสรรคขัดขวางในการสร้างผู้เล่นพรสวรรค์ไปสู่ระดับโลก

“เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่านักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่จะมีความคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นตัวของตัวเองมาก และพวกเขาก็เก่งมากในการตัดสินใจเรื่องส่วนตัวและการประเมินตัวเอง” ไซมอน แชดวิค ศาสตราจารย์ด้านกีฬาแห่ง Emlyon Business School และผู้อำนวยการศูนย์อุตสาหกรรมกีฬายูเรเซีย อธิบาย

“ผมคิดว่าระบบการศึกษาของจีนไม่ได้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาทักษะรองที่นักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมี”

บวกกับความไม่แน่นอนของสโมสร ที่ผูกอยู่กับหน่วยงานราชการ หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ต่างจากสโมสรในยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ที่มีสายสัมพันธ์กับท้องถิ่น ยังทำให้ยากที่จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“เหตุผลสำคัญรากฐานของวงการฟุตบอลจีนนั้นอ่อนแอเกินไป” หม่า เต้อซิง นักข่าวผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการฟุตบอลจีนมากว่า 30 ปี กล่าว

“ดังนั้นการอยู่รอดของสโมสรอาชีพจีนจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มทุนหรือบริษัทโดยตรง เมื่อสโมสรหรือกลุ่มทุนมีปัญหาสโมสรก็ยากที่จะอยู่ได้”

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทุจริต ที่เป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินวงการฟุตบอลจีนมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการล็อคผลการแข่งขัน ไปจนถึงการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับตำแหน่ง

ทั้งนี้ เคสที่โด่งดังที่สุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2024 คือ คดีของ ลี่ เถีย อดีตกุนซือทีมชาติจีน ที่นอกจากจะใช้เงินจ้างคู่แข่งให้ยอมแพ้สมัยคุมสโมสรแล้ว เขายังจ่ายเงินเพื่อให้ตัวเองได้คุมทีมชาติ ที่ทำให้เขาถูกจำคุกตลอดชีวิต

คดีดังกล่าวยังทำให้ เฉิน ซูหยวน อดีตนายกสมาคมฟุตบอลจีน ต้องถูกจำคุกถึง 15 ปี เช่นกันกับ ดู๋ เฉาไค เจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่ต้องโทษ 13 ปี

เพื่อที่จะได้ผลการแข่งขันที่ตนเองต้องการ ผมหันไปใช้อิทธิพลต่อผู้ตัดสิน ติดสินบนผู้เล่นและโค้ชของฝ่ายตรงข้าม บางครั้งถึงขั้นมีการเจรจากันระหว่างสโมสร” ลี่ เถีย รับสารภาพ

“พฤติกรรมเหล่านี้ผันเปลี่ยนกลายเป็นนิสัยติดตัวของผม และในที่สุดผมก็ต้องอาศัยการปฏิบัติเหล่านี้และไม่หวังพึ่งการฝึกซ้อมเลยด้วยซ้ำ”

สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลจีนยังไม่ก้าวไปไหน และยากจะประสบความสำเร็จ แม้แต่ระดับทวีป จนถูกเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ทิ้งห่างไปไกล ที่สะท้อนได้จากความพ่ายแพ้ย่อยยับเมื่อวานนี้