ทั้งที่ปิดประเทศ : เผยความลับที่ทำให้บอลหญิงเกาหลีเหนือไปถึงระดับโลก
ชัยชนะ 1-0 เหนือญี่ปุ่น ในฟุตบอลโลกหญิง U20 นัดชิงชนะเลิศ ตอกย้ำความเป็นมหาอำนาจในระดับเยาวชนของเกาหลีเหนือได้อีกครั้ง ด้วยตำแหน่งแชมป์สมัยที่ 3 ในรายการนี้
ทั้งนี้ พวกเขาไม่ได้เก่งแค่ในรุ่นนี้ เพราะชุด U17 ก็เคยคว้าแชมป์โลกมาแล้วถึง 2 สมัย ขณะทีมชุดใหญ่ แม้ไม่เคยมาถึงจุดนี้ แต่ก็อยู่ในระดับท็อป 10 ของโลกในปัจจุบัน
พวกเขาทำได้อย่างไร? ทั้งที่ปิดประเทศ ติดตามไปพร้อมกัน
สำหรับเกาหลีเหนือ หนึ่งในประเทศที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก การก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของฟุตบอลหญิงของพวกเขา ก็มีเหตุผลมาจากชายที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศ นั่นคือผู้นำจากตระกูลคิม
“ผู้เล่นบอกกับเราอยู่เสมอว่าท่านผู้นำคิม จองอิล (พ่อของคิมจองอึน) สนับสนุนฟุตบอลหญิงเป็นการส่วนตัว” บริกิตต์ ไวช์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวออสเตรีย ที่ใช้เวลากว่า 5 ปี ติดตามทีมชาติเกาหลีเหนือ เพื่อเป็นวัตถุดิบในสารคดี Hana, dul, sed กล่าวกับ BBC
“แน่นอนว่า พวกเขาอ้างทุกอย่างว่ามาจากผู้นำโดยตรง และคงไม่มีอะไรเกิดขึ้นถ้าไม่มีการชี้แนะ, สนับสนุน หรือต้องการจากตัวเขา”
“แต่เนื่องจากมันเป็นระบอบเผด็จการที่มีลำดับชั้นและเด็ดขาดมาก ฉันจึงคิดว่ามันคือความจริง”
ไวช์ กล่าวว่า เกาหลีเหนือ น่าจะให้ความสำคัญกับฟุตบอลหญิง หลังการประชุมของฟีฟ่า ที่เม็กซิโก ในปี 1986 หลังเล็งเห็นประโยชน์ของมันในฐานะโฆษณาชวนเชื่อ
“บางทีอาจจะมีใครไปหา คิม จองอิล แล้ว บอกเขาว่าเราน่าจะใช้สิ่งนี้” ไวช์ อธิบาย
“เกาหลีเหนือไม่ได้มีเก่งที่สุดทั้งในด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ สิทธิมนุษยชน และอย่างอื่น แต่ในประเทศแบบนี้ พวกเขาสามารถเก่งในกีฬาบางประเภทได้ ด้วยระบบจากบนลงล่าง พวกเขาสามารถโฟกัสกับการฝึกซ้อมโดยไม่วอกแวกไปกับอย่างอื่นได้”
“ฉันไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งหมดที่ว่า คิม จองอิล สนใจฟุตบอลหญิง บางทีอาจจะเป็นเพราะเขาเห็นโอกาสที่จะก้าวไปสู่ระดับโลก”
แผนการสร้างยอดทีมของพวกเขานั้นเรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ นั่นคือให้ชาวเกาหลีฝึกฝนฟุตบอลอย่างเข้มข้นที่โรงเรียนตั้งแต่เด็ก จากนั้นจึงส่งแมวมองไปเฟ้นหาตัวจากทั่วประเทศมาอยู่ที่ส่วนกลาง เพื่อฝึกซ้อมเต็มเวลา โดยใช้งบประมาณของรัฐ
ส่วนผลตอบแทนที่คนเล่นฟุตบอลเก่งจะได้ ไม่ใช่เงินทอง หรือได้ย้ายไปเล่นในต่างแดน แต่เป็นสิทธิ์ในการย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ อยู่ในระดับเลวร้าย พวกเขาขาดแคลนทั้งอาหาร หรือระบบสาธารณสุขที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบท
สิ่งเหล่านี้ต่างออกไปเมื่อได้ย้ายมาอยู่เปียงยาง เมืองหลวงของประเทศ ทั้งมาตรฐานการใช้ชีวิต โอกาสในการพักผ่อนหย่อนใจ ไปจนถึงระบบสาธารนูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่ดีกว่าจังหวัดอื่นแบบเทียบไม่ติด
“ดูเหมือนว่าการได้อาศัยในเปียงยางแทนที่จะต้องอยู่ในชนบทถือเป็นสิทธิพิเศษ” ไวช์กล่าวกับ BBC
“นักเตะจะได้รับของขวัญจากท่านผู้นำเป็นอพาร์ทเมนต์ในกรุงเปียงยาง และสามารถพาพ่อแม่มาอยู่เปียงยางได้”
“การถูกเรียกติดทีมจึงเป็นเหมือนการได้อาชีพของผู้หญิงและครอบครัวของพวกเธอทั้งหมด ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเธอได้”
นอกจากนี้ การเป็นนักเตะทีมชาติ ยังเปิดโอกาสให้พวกเธอสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เมื่อทีมมีแข่งในต่างแดน เนื่องจากปกติแล้ว ชาวเกาหลีเหนือ จะไม่สามารถไปต่างประเทศ หากไม่ได้รับอนุญาต
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ทีมฟุตบอลหญิงเกาหลีเหนือ ดูจะมีความมุ่งมั่นเป็นพิเศษ เพราะมันคือโอกาสในการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ ที่ทำให้พวกเธอ ก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก U17 ถึง 2 สมัย และ U20 อีก 3 สมัย รวมถึงเหรียญทอง เอเชียนเกมส์ และแชมป์เอเชีย อย่างละ 3 ครั้ง
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะขาวสะอาด เพราะพวกเขาก็มักจะพัวพันกับเรื่องอื้อฉาว หนึ่งในนั้นคือการใช้สารกระตุ้นเมื่อปี 2011 จนทำให้พวกเขาถูกแบนในฟุตบอลโลก 2015
แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยังกลับมาได้ และคว้าแชมป์โลก U20 ได้อีกครั้งในปีนี้ หลังเอาชนะ ญี่ปุ่นในนัดชิงชนะเลิศ 1-0 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
มันแสดงให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนที่ไม่เคยลดน้อยถอยลงไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน รวมถึงระบบพัฒนานักเตะที่แข็งแกร่งของฟุตบอลหญิงเกาหลีเหนือ จนทำให้พวกเขาสามารถรักษามาตรฐานในการยืนอยู่ในแถวหน้าของโลกได้อย่างมั่นคง
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.