ครั้งหนึ่งทีมชาติแซมเบียเคยเป็นความหวังใหม่ของแอฟริกา เมื่อพวกเขาเคยก้าวขึ้นไปคว้าอันดับ 3 ของทวีปในศึกแอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่น ถึง 2 ครั้ง และไปไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้
ในปี 1993 พวกเขาถูกมองว่ามีโอกาสอย่างมากที่จะได้ไปโชว์ฝีเท้าในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกบนผืนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา จากการที่ทีมกำลังอยู่ใน “ยุคทอง” ด้วยผู้เล่นฝีเท้าดี และมีหลายคนเล่นอยู่ในยุโรป
ทว่า โศกนาฎกรรมเครื่องบินตกในวันที่ 27 เมษายน 1993 ก็ได้ทำลายอนาคตของวงการฟุตบอลแซมเบียไปจนหมดสิ้น
ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกัน
สำหรับชาวแซมเบีย ฟุตบอลเป็นเหมือนประภาคารแห่งความหวัง เมื่อในช่วงทศวรรษที่ 1990s ราคาทองแดง สินค้าส่งออกหลักของพวกเขา มีราคาลดลงกว่าครึ่ง และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดภาวะถดถอยอย่างรวดเร็ว
ทีมชาติของพวกเขามีสไตล์การเล่นที่ดุดัน จนได้รับฉายาว่า “ชิโปโลโปโล” ที่แปลว่ากระสุนทองแดง ซึ่งมีที่มาจากอุตสาหกรรมหลักของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นในปี 1993 แซมเบียยังมีสถิติที่สวยหรู จากการไร้พ่ายในบ้านมาถึง 8 ปีเต็ม และกำลังมีลุ้นไปเล่นฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา
แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น แซมเบีย ต้องคว้าตั๋วจากรอบคัดเลือกให้ได้ หลังทะลุเข้ามาเล่นในรอบที่ 2 และถูกจับฉลากมาอยู่ร่วมกลุ่มกับ เซเนกัล และ โมร็อคโก ที่จะเอาแชมป์กลุ่มเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายในปี 1994
เกมนัดแรก แซมเบีย ต้องบุกไปเยือน เซเนกัล ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 8,000 กิโลเมตร ตามปกติแล้ว พวกเขาควรจะได้เดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้สมาคมฟุตบอลฯ ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าตั๋ว จึงต้องใช้บริการเครื่องบินทหาร DHC-5 Buffalo แทน
สำหรับ Buffalo มันคือเครื่องบินแบบใบพัดคู่แบบเดียวกับที่ใช้ในสงครามเวียดนาม และด้วยความที่เครื่องบินลำนี้ไม่ได้ออกแบบมาให้บินระยะไกล ทำให้ในทริปนี้มันถูกวางแผนให้แวะเติมน้ำมันที่ คองโก, ไอวอรี โคสต์ แล้วค่อยลงจอดที่ ดาการ์ เมืองหลวงของ เซเนกัล
27 เมษายน 1993 ผู้โดยสารทั้ง 30 คน ที่ประกอบไปด้วยแข้งทีมชาติแซมเบีย 18 คน ก็ได้ทะยานออกจากสนามบินในแซมเบีย เพื่อไปสมทบกับเหล่าผู้เล่นที่ค้าแข้งในยุโรปอย่าง คาลูชา บวัลยา (พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน), ชาร์ลส มูซอนดา (อันเดอร์เลชท์) และ จอห์นสัน บวัลยา (เอฟซี บุลล์)
แต่ความเป็นจริง พวกเขาไม่เคยไปไกลกว่า กาบอง เมื่อหลังเอาเครื่องขึ้นไม่นาน เครื่องยนต์ด้านซ้ายก็หยุดทำงาน และด้วยความเหนื่อยล้าของนักบิน ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจาก มอริเชียส เมื่อวาน ก็ดันไปดับเครื่องยนต์ด้านขวาโดยไม่ได้ตั้งใจ
เมื่อไม่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน นกเหล็กที่มีน้ำหนักกว่า 11 ตันก็ไร้แรงยก ก่อนจะตกลงไปในทะเลห่างจากชายฝั่งกาบองไม่กี่ร้อยเมตร และทำให้คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด
นี่ถือเป็นหนึ่งในโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของแซมเบีย แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น คือมันได้พรากความหวัง และอนาคตของวงการฟุตบอลแซมเบีย ที่อยู่ในช่วงยุคทองไปจนหมดสิ้น
“ความทะเยอทะยานของวัยหนุ่มสาว, น้องชาย, เพื่อนร่วมทีม, วิตวิญญาณของกลุ่มสูญสลายภายในวันเดียว มันเหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน มันยังแจ่มชัดอยู่ในใจของผม” คาลูชา บวัลยา อดีตกองหน้าทีมชาติแซมเบีย ย้อนความหลังกับ BBC
ในวันที่ศพของผู้เล่นทีมชาติแซมเบียมมาถึง ทั้งประเทศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า มีผู้คนมากถึง 100,000 คนมาร่วมพิธีไว้อาลัยที่จัดขึ้นที่สนามอินดิเพนเดนซ์ตลอดทั้งคืน ก่อนจะทำพิธีฝังในวันรุ่งขึ้น
สำหรับ บวัลยา เขาแทบไม่คิดว่าทีมชาติแซมเบีย จะมาลงเล่นในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกต่อได้ เพราะแค่การกลับไปใช้ชีวิตต่อไป ก็ลำบากมากแล้ว กับการต้องสูญเสียเพื่อน พี่ น้อง ในทีมชาติไปเกือบทั้งทีม
“ผมคิดว่าแซมเบียคงจะไม่เล่นต่อแล้ว ผมเชื่อว่าสิ่งนั้น ทำให้ความทะเยอทะยานของเราที่จะทำอะไรก็ตามได้สูญเปล่าไปหมดแล้ว” บวัลยากล่าว
แต่โทรศัพท์จากประธานาธิบดี ทำให้เขาเปลี่ยนใจ เพราะผู้นำของประเทศ อยากจะสร้างทีมขึ้นมาใหม่ เพื่อไปฟุตบอลโลก โดยมี บวัลยา เป็นศูนย์กลาง
พวกเขาเริ่มต้นด้วยการคัดตัวผู้เล่นชุดใหม่เข้าสู่ทีมชาติ ก่อนจะส่งไปเข้าค่ายฝึกซ้อมที่เดนมาร์ก เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ โดยรัฐบาลเดนมาร์ก เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้
ผู้เล่นต้องปรับตัวใหม่ เพราะบางคนแทบไม่เคยออกจากแอฟริกามาก่อน ภายใต้การนำทีมกุนซือชั่วคราวอย่าง โรอัลด์ โพลเซน ที่มีดีกรีเคยพา โอเดนเซ คว้าแชมป์ลีกในประเทศ
“ทุกคนรู้สึกว่าต้องทำอะไรเป็นพิเศษเพื่อเหล่าฮีโร่ที่เสียชีวิต” บวัลยากล่าว
“อย่างที่รู้ ผมเป็นคนเข้ามาแทน แต่ผมก็กำลังทำในฐานะตัวแทนของบางคน ผมเข้ามาเพื่อบางคนเหล่านั้น”
4 กรกฎาคม 1993 หรือเกือบ 2 เดือนนับตั้งแต่พิธีฝังศพ ก็ประเดิมฟุตบอลโลก 1994 รอบคัดเลือก โซนแอฟริกา ที่เลื่อนออกมา ด้วยการพบกับ โมร็อคโก ที่อินดิเพนเดนซ์ สเตเดียม
แม้ว่าพวกเขาพลาดท่าถูกนำไปก่อนตั้งแต่ 10 นาทีแรก ทว่าในช่วงครึ่งหลัง บวัลยา ก็มาตามตีเสมอ ก่อนที่จะได้ จอห์นสัน บวัลยา ซัดประตูชัยให้ แซมเบีย ชุดใหม่เอาชนะไปได้ 2-1 ที่ทำให้คนทั้งประเทศได้ฉลอง
“มันเหมือนเรากลับมาจากความตาย คนทั้งประเทศสามารถลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง เหมือนเราถูกชุบชีวิตขึ้นมา นั่นคือคำที่เหมาะสมที่จะอธิบายความรู้สึกของเรา เรารู้สึกเหมือนกลับมายืนอยู่บนโลกอีกครั้ง” ปองกา ลิเวเว นักข่าวชาวแซมเบียอธิบาย
แซมเบีย ยังทำได้ดีในอีก 2 นัดต่อมา ด้วยการบุกไปเสมอกับ เซเนกัล 0-0 ก่อนจะกลับมาเปิดบ้านถล่ม 4-0 ทำให้นัดสุดท้ายที่ต้องบุกไปเยือน โมร็อคโก พวกเขาต้องการเพียงแค่คะแนนเดียวก็จะได้ไปเล่นฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกทันที
แต่ราวกับพระเจ้าไม่ได้เขียนบทให้พวกเขา เมื่อ แซมเบีย บุกไปพ่าย 1-0 พลาดโอกาสไปโชว์ฝีเท้าที่สหรัฐอเมริกาอย่างชอกช้ำ
หกเดือนต่อมา แซมเบีย ก็กลับมาสร้างปรากฎการณ์อีกครั้ง เมื่อทีมชาติชุดใหม่ ร่วมแรงร่วมใจจนเข้าไปถึงนัดชิงชนะเลิศ แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่น 1994 แม้ว่าสุดท้ายจะทำได้เพียงแค่ตำแหน่งรองแชมป์ก็ตาม
“มันเป็นปีที่ต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้” บวัลยากล่าว
“ฮีโร่ที่ล่วงลับไป ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน พวกเขาคงจะมองลงมาแล้วพูดว่า ‘เยี่ยมเลย พยายามได้ดีมาก พวกนายทำได้ดี ทำต่อไป’”
แต่นั่นก็เป็นฉากท้ายๆ สำหรับความสำเร็จของฟุตบอลแซมเบีย เพราะหลังจากคว้าอันดับ 3 ในแอฟคอน 1996 พวกเขาก็ไม่เคยกลับมาอยู่ในจุดนี้อีกเลย ส่วนฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย “ชิโปโลโปโล” ก็ไม่เคยได้เข้าใกล้แม้แต่นิดเดียว
ผ่านมา 16 ปี จนถึงปี 2012 แซมเบีย ได้ลงเล่นในแอฟคอน ที่กาบองและอิเควทอเรียลกินีจับมือเป็นเจ้าภาพ และแม้ว่าจะทำผลงานได้ดีในทัวร์นาเมนต์เมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยการเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ถูกมองว่าจะเป็นตัวเต็งในครั้งนี้
เพราะนักเตะส่วนใหญ่ ล้วนมาจากลีกในประเทศ หรือตัวที่เล่นในลีกต่างชาติก็เป็นลีกเกรดซีทั้งแอฟริกาใต้, กาบอง หรือ ไชนีส ซูเปอร์ลีกของจีน
ทว่า แซมเบีย ที่มีอัตราต่อรอง 40-1 กลับทำได้ดีตั้งแต่รอบแรก ด้วยการเก็บ 7 คะแนน จบด้วยตำแหน่งแชมป์กลุ่ม ทะลุผ่านเข้าไปเล่นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนที่พวกเขาจะตบ ซูดาน 3-0 ตามมาด้วยการเฉือนชนะ เซเนกัล 1-0 เข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
ในนัดชิง “ชิโปโลโปโล” ต้องโคจรมาพบกับ ไอวอรี โคสต์ ที่เคยคว้าแชมป์และรองแชมป์มาอย่างละสมัย ซึ่งนำทัพโดย ดิดิเยร์ ดร็อกบา อดีตกองหน้าของเชลซี, ยายา ตูเร กองกลาง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ซาโลมอน กาลู ปีกของเชลซี
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ สต๊าด ดา อกอนเย สังเวียนในนัดชิงชนะเลิศ ที่ประเทศกาบอง อยู่ห่างจากจุดเครื่องบินตกเมื่อ 19 ปีก่อน ไม่ถึง 20 กิโลเมตร มันจึงทำให้เกมนัดนี้ของพวกเขามีความหมายมากเป็นพิเศษ
“ผมบอกกับโค้ชว่า ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องดีกว่าหากเราทำให้ทีมเก่าและทีมใหม่เชื่อมโยงถึงกันได้” บวัลยา ที่ต่อมากลายเป็นนายกสมาคมฟุตบอลแซมเบียกล่าว
“ผมบอกให้พวกเขารู้ทันทีที่เราเดินทางมาถึง (กาบอง) สิ่งแรกที่เราจะทำคือไปเยี่ยมสถานที่นั้น”
แม้ว่าหลังจากกลับมาจากที่เกิดเหตุ นักเตะแซมเบียทั้งทีมจะอยู่ในความเงียบ แต่มันก็ทำให้พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะต้องเอาชนะคู่แข่งในนัดชิงฯ ให้ได้ ที่ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อเหล่าฮีโร่ ผู้ล่วงลับของพวกเขา
“แม้ว่าจะมีบางคนกำลังฟังเพลง แต่บางคนก็กำลังคิดและพยายามทำความเข้าใจบางอย่าง จากตอนนั้นทุกคนก็พูดว่า ‘สิ่งนี้แหละพวกเรา เราต้องทำงานเป็นทีมเพื่อบรรลุสิ่งที่ผู้คนที่เสียชีวิตที่นี่ ที่กาบองอยากทำให้สำเร็จให้ได้’” คริส คาตองโก กัปตันทีมแซมเบียชุดนั้นกล่าวกับ BBC
“พวกเด็กๆ เชื่อว่าพวกเขาไม่ได้แค่ลงเล่นเพื่อตัวเอง แต่ลงเล่นเพื่อฮีโร่ที่เสียชีวิต มันจึงมีความหมายมากกว่าแค่ลงเล่นในนัดชิงชนะเลิศ” บวัลยาเสริม
12 กุมภาพันธ์ 2012 แซมเบียลงเล่นด้วยความฮึกเหิม แต่ชื่อชั้นของผู้เล่น ต่างจาก ไอวอรี โคสต์ มากเกินไป แถมยังเกือบเสียประตูในช่วงครึ่งหลัง แต่ ดร็อกบา ก็ซัดข้ามคานออกไป จนทำให้ 120 นาที ยังเสมอกัน 0-0 และต้องตัดสินด้วยการยิงลูกโทษ
ไอวอรี โคสต์ เป็นฝ่ายได้ยิงก่อน และทำได้อย่างเฉียบคม ยิงเข้าทั้งหมด ใน 7 คนแรก แต่แซมเบียก็ไม่พลาดเช่นกัน พวกเขายิงตามตีเสมอได้ทั้งหมด จนมาถึงลูกที่ 9 ของเกม
มันคือช่วงเวลาวัดใจของ สต็อปปิลา ซูนซู กองหลังทีมชาติแซมเบีย เมื่อ แชร์วินโญ ของไอวอรี โคสต์ ยิงพลาดในลูกที่ 9 แต่เขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ซัดบอลไปตุงตาข่าย พร้อมพา แซมเบีย คว้าแชมป์แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่น ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แต่เหนือสิ่งอื่นใด แชมป์ครั้งนี้ยังได้ปลดล็อคความเศร้าโศกที่ปกคลุมวงการฟุตบอลแซมเบียมาเกือบ 20 ปี มันได้ทำให้คนทั้งประเทศออกมาฉลองกับความสำเร็จในครั้งนี้
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการพิสูจน์ว่าไม่ว่าพวกเขาจะล้มลงสักกี่ครั้ง ก็สามารถกลับมายืนหยัดได้ทุกเมื่อ ตราบใดที่ยังไม่ยอมหมดหวัง – และชีวิตก็เช่นกัน
เรียกได้ว่าเป็นไวรัลอีกแล้ว เมื่อ ไมเคิ่ล โอเว่น ตำนานนักเตะของสโต๊ค ซิตี้ และลิเวอร์พูลหรือแมนฯ ยูไนเต็ด ที่มักถูกแฟนบอลแซวเรื่องคำวิจารณ์และทายผลลัพธ์ต่างๆ อยู่เสมอว่าความแม่นยำไม่ค่อยมีนั้น ได้ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองหลัง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ เป็ป…
แม้ว่าในเกมล่าสุดที่อาร์เซนอลสามารถบุกไปเอาชนะคริสตัล พาเชซ มาได้ด้วยสกอร์สุดสวย 5-1 แต่ถ้ามองในรายละเอียดเกมทั้งหมดก็จะเห็นว่าอาร์เซนอลยังมีความผิดพลาดอยู่บ้างเล็กน้อยโดยเฉพาะในครึ่งเวลาแรก หนึ่งในจังหวะหวาดเสียวที่สุดคือในนาทีที่ 10 ที่อาร์เซนอลพยายามจะบิ้วอัพจากหลังแต่คริสตัล พาเลซก็สามารถเพลสซิ่งได้ดี ในขณะนั้นบอลอยู่กับ เดบิด ราย่า เขามองขึ้นหน้าและเลือกจ่ายบอลไปให้ โธมัส ปาเตย์…
ถ้าพูดถึง มาร์คัส แรชฟอร์ด ในช่วงนี้ต้องบอกว่าเต็มไปด้วยความเห็นที่แตกต่างกันมากมาย มีทั้งฝั่งที่เห็นใจ เข้าใจ และฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของแรชฟอร์ด ในส่วนของฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับแรชฟอร์ดต่างบอกว่าต้องการให้แรชฟอร์ดย้ายออกจากทีมไปและไม่ว่าทีมไหนที่ได้ตัวไป นั้นจะเป็นฝันร้ายอย่างแน่นอน ซึ่งนี่อาจจะเป็นความคิดเห็นที่สุดโต่งไปหน่อยและไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนั้นเช่นกันกับ เอียน ไรท์ อดีตตำนานกองหน้าของอาร์เซนอล ที่ออกแสดงความคิดเห็นไว้ว่า “ผมย้ายไปอาร์เซนอลตอนอายุ…
วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (20 ธันวาคม 2562) มิเกล อาเตต้า ถูกแต่งตั้งเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ หลังปลด อูไนเอเมรี่ การทำงานตลอด 5 ปี ภายใต้…
“ความคิดของผมเกี่ยวกับ กิว คือ บาร์เซโลนา ปล่อยเขามาได้อย่างไร?” โจ โคล อดีตมิดฟิลด์ของเชลซีกล่าว เชลซี ยังทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในเกมฟุตบอลสโมสรยุโรป หลังไล่ถล่ม แชมร็อค โรเวอร์ส 5-1 ในศึกยูฟ่า…
ควันหลงจากเกมคาราบาว คัพที่สเปอร์สเอาชนะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไปได้สุดมันส์ 4-3 โดยในเกมนี้มาเรื่องดราม่ามากมายหลายประเด็น ในทุกคนรู้หรือไม่ว่าในระหว่างเกมที่เดือดไฟลุกแบบนี้มีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆสนามและนั้นก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญนั้นคือก็ลูกโป่งสีเหลืองที่แฟนๆสเปอร์สร่วมกันชูขึ้น ว่าแต่ว่าลูกโป่งสีเหลืองคืออะไร พวกเขาส่งสัญญาณถึงใคร มาค่อยๆไล่เลียงกันไปครับ เกิดอะไรขึ้น? ย้อนกลับไปในวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาเกิดการลักพาตัวประชาชนชาวอังกฤษขึ้นหลายคนไปฉนวนกาซา และหนึ่งในนั้นคือ Emily…