ใหญ่กว่าผู้จัดการทีม! ไขข้อข้องใจบทบาท ผอ.กีฬา ต่างยังไงกับ ผอ.เทคนิค?
การบริหารสโมสรฟุตบอล ณ ปัจจุบัน ถือว่าแตกต่างจากสมัยก่อนที่อำนาจการตัดสินใจเบ็ดเสร็จเป็นของผู้จัดการทีม โดยในอดีต เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อาจจะมีอำนาจตัดสินใจทุกอย่างที่เกี่ยวกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ อาร์แซน เวนเกอร์ ก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาร์เซน่อล แต่สำหรับยุคปัจจุบันนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว จากการที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกมีกลุ่มทุนจากต่างชาติหลายคนเข้ามาเป็นเจ้าของ จึงนำเอาวัฒนธรรมการบริหารแบบยุโรปเข้ามาใช้ และมีการกระจายหน้าที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่แบบเฉพาะด้านมากขึ้น
เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีชาวอังกฤษเจ้าของกลุ่ม INEOS ที่เข้ามาถือหุ้น แมนฯ ยูไนเต็ด จำนวน 27.7% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และได้สิทธิ์กุมอำนาจบริหารด้านฟุตบอลให้สโมสร ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบอร์ดบริหารครั้งใหญ่ของทีมปีศาจแดงในปี 2024 นี้ โดยแต่งตั้ง เจสัน วิลค็อกซ์ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการเทคนิคคนใหม่ และได้ตัว แดน แอชเวิร์ธ จาก นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ให้เข้ามานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา
ณ ตอนนี้ สโมสรระดับท็อปแทบทุกทีมต่างมีคนที่รับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการกีฬา” (Sporting Director) หรือบางสโมสรก็ใช้ชื่อตำแหน่งว่า “ผู้อำนวยการฟุตบอล” (Director of Football) แถมหลายๆ สโมสรก็มีคนที่ทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการเทคนิค” (Technical Director) อีกต่างหาก ซึ่ง แมนฯ ยูไนเต็ด คือตัวอย่างนั้นที่ชัดเจนในตอนนี้
แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่าหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งนั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พรีเมียร์ลีกได้ลงบทสัมภาษณ์ของ ทอร์-คริสเตียน คาร์ลเซ่น อดีตผู้อำนวยการกีฬาของโมนาโก ทีมใน ลีก เอิง และ มัคคาบี้ ไฮฟา สโมสรในอิสราเอล ที่มาอธิบายไขความกระจ่างอย่างชัดเจน
“ตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลดูจะผิดแปลกไปจากสมัยก่อนที่ผู้จัดการทีมมักจะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แบบครอบคลุม ลองนึกภาพ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ อาร์แซน เวนเกอร์ ดูสิ ซึ่งมีอำนาจทุกด้านในสโมสรฟุตบอลดูสิ ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ เรียกได้ว่าแทบจะครบถ้วนเลย”
“ตำนานผู้จัดการทีม 2 คนนั้นไม่เคยทำงานภายใต้ ผอ.ฟุตบอล หรือร่วมกับ ผอ.ฟุตบอล แต่กับสโมสรอื่นอย่างเช่น เดวิด พลีท ที่ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ งานในด้านซื้อขาย (เช่นงานสเก๊าท์นักเตะหรือเจรจา) ถูกตัดออกจากภาระของผู้จัดการทีมและมอบหมายให้ ผอ.ฟุตบอล ทำแทน”
“จากนั้นในตอนนี้ ผอ.ฟุตบอลมักจะต้องรายงานตรงต่อเจ้าของสโมสร หรือบอร์ดบริหาร แต่ย้อนไปสมัยก่อน สายงานด้านการบังคับบัญชาในตอนนั้นมักจะคลุมเครือ และเข้าใจยาก”
“ผู้จัดการทีมบางคนต้องรายงานตรงต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่า ขณะที่บางคนไม่ต้องทำ ซึ่งในทำนองเดียวกันนั้น กุนซือบางคนมีความสุขที่ได้ทำงานภายใต้โครงสร้าง ขณะที่บางคนก็อาจจะมีความกระตือรือร้นน้อยกว่า”
“ในขณะที่พื้นที่ความรับผิดชอบยังคงแตกต่างกันในแต่ละสโมสรโดยไม่ได้มีโครงสร้างที่เหมือนกัน แต่หลักการทั่วไปก็คือผู้อำนวยการกีฬาจะต้องได้รับมอบอำนาจที่แข็งแกร่งกว่า โดยรายงานตรงต่อกลุ่มคนบนสุด (เจ้าของทีม, ประธานสโมสร หรือซีอีโอ) ขณะที่ผู้จัดการทีม ซึ่งตอนนี้โดยทั่วไปจะเรียกกันว่าเฮดโค้ช โดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกีฬาในแผนผังองค์กร“
ทอร์-คริสเตียน คาร์ลเซ่น เผยว่า แนวคิดที่สำคัญของการมีผู้อำนวยการกีฬาที่มีตำแหน่งสูงกว่าผู้จัดการทีม ก็คือการให้คนคนหนึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบภาพรวมด้านฟุตบอลของสโมสรเพื่อรักษาความต่อเนื่อง ซึ่งจะดีกว่าที่คนรับหน้าที่นี้ไม่ใช่เฮดโค้ช ที่มักจะมีการเปลี่ยนคนไปๆ มาๆ อยู่ตลอด
ในโลกอุดมคติ ผู้อำนวยการกีฬาจะวางกลยุทธ์แบบครอบคลุมครบวงจรให้สโมสร เพื่อให้แน่ใจว่าตั้งแต่ระดับอะคาเดมี่ไปจนถึงทีมชุดใหญ่มีความสอดคล้องกัน โดยนำหลักการพัฒนาและวิธีการทำงานแบบเดียวกันมาใช้ ซึ่งจะช่วยให้นักเตะที่สำเร็จจากระดับอะคาเดมี่ปรับตัวได้เร็วขึ้นเมื่อขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ โดยสโมสรที่เป็นตัวอย่างชัดเจนของการวางโครงสร้างได้ดีที่สุดคือ อาแจ็กซ์ และ บาร์เซโลน่า ซึ่งทำตามโมเดลดังกล่าวต่อเนื่องมาอย่างยาวนานจนเป็นขนบประจำสโมสร
ผอ.กีฬา จะตัดสินใจซื้อนักเตะเพื่อแนวทางส่วนรวม โดยทำงานร่วมกับทีม ไม่ใช่ความต้องการของตัวเอง
ภาพที่แฟนบอลหลายคนเข้าใจ ก็คือตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาจะมีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบเรื่องตลาดซื้อขายนักเตะ ซึ่งประเด็นนี้ คาร์ลเซ่นได้ตอบชัดเจนว่าสโมสรที่มี ผอ.กีฬา จะต้องทำงานโดยตัดสินใจร่วมกันเป็นทีม ไม่ใช่โดยอำนาจเบ็ดเสร็จจากคนคนเดียว
ผู้อำนวยการกีฬาทุกสโมสรจะมีฝ่ายแมวมองที่ทำงานอยู่ภายใต้ตนเอง ซึ่งประกอบด้วยแมวมองแบบดั้งเดิม (ไปดูฟอร์มนักเตะถึงที่) และทีมนักวิเคราะห์ โดยกุนซือของสโมสรส่วนใหญ่มักจะมีความสุขกับการได้รับการป้อนข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกเสริมใครเข้าสู่ทีม หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจว่าจะปล่อยนักเตะคนไหนออกไป แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้การตัดสินใจเซ็นสัญญานักเตะหนึ่งคน แทบจะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยคนคนเดียว แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการตัดสินใจร่วมกันเป็นทีม ที่มีผู้อำนวยการกีฬาเป็นผู้นำมากกว่า
ซึ่งไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม แนวคิดทั้งหมดในการมีผู้อำนวยการกีฬามาคุมเรื่องการสรรหานักเตะ ก็คือการทำให้แน่ใจว่าการเซ็นสัญญาจะต้องเข้ากับสไตล์การเล่นฟุตบอลและวิสัยทัศน์ของสโมสร โดยในความเป็นจริงทุกวันนี้จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ในเรื่องของการดึงแข้งพรสวรรค์เข้ามาในมูลค่าที่สามารถพัฒนาเพื่อนำไปขายต่อได้อีก (ไบรท์ตัน หรือกลุ่มสโมสรในเครือ เร้ด บูลล์ จะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเคสนี้)
สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ แล้ว “ผู้อำนวยการกีฬา” กับ “ผู้อำนวยการเทคนิค” นั้นแตกต่างกันอย่างไร?
คาร์ลเซ่นเผยว่าหน้าที่ของ 2 ตำแหน่งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจที่แท้จริงที่สโมสรมอบให้ผู้ได้รับตำแหน่ง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว มันอาจจะไม่แตกต่างกันเลยก็ได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้อธิบายความแตกต่างที่ชัดเจนให้เข้าใจง่าย ก็คือโดยปกติแล้วผู้อำนวยการเทคนิคมักจะมีตำแหน่งรองจากผู้อำนวยการกีฬา หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็น “มือขวา” ของ ผอ.กีฬา ในการเป็นผู้ช่วยที่ต้องเป็นหูเป็นตาลงไปสอดส่องงานในสนามของสโมสรโดยตรง โดยผู้อำนวยการเทคนิคจะมีอำนาจด้านบริหารน้อยกว่า ผอ.กีฬา แต่จะได้รับมอบหมายให้ไปดูแลงานในด้านกีฬาเป็นหลัก โดยจับตาดูการซ้อม การวางระบบการเล่นของเฮดโค้ช และพัฒนาการของนักเตะ
ซึ่งในเคสของ แมนฯ ยูไนเต็ด ตอนนี้ จะถือว่า แดน แอชเวิร์ธ ที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการกีฬาคนใหม่จะมีอำนาจสูงกว่า เจสัน วิลค็อกซ์ ที่เป็นผู้อำนวยการเทคนิค โดยวิลค็อกซ์จะมีส่วนร่วมกับการสังเกตการณ์พัฒนาการฟุตบอลของทีมตั้งแต่ระดับอะคาเดมี่จนถึงทึมชุดใหญ่, มีบทบาทช่วยเรื่องการตัดสินใจด้านซื้อขาย และรายงานตรงต่อแอชเวิร์ธที่เป็นผู้บังคับบัญชา แต่ แดน แอชเวิร์ธ จะต้องรายงานตรงต่อซีอีโอสโมสรคนใหม่อย่าง โอมาร์ เบร์ราด้า
ซึ่งจากการที่ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ เข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ คาดว่าผู้จัดการทีมอย่าง เอริค เทน ฮาก จะมีอำนาจในหลายๆ เรื่องน้อยลงจากเดิม โดยจะไม่ใช่คนที่มีสิทธิ์ตัดสินใจหลักเหมือนอย่าง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมาอีกแล้ว
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.