ใกล้โคชิเอ็งก็ไม่ช่วย: ทำไมโรงเรียน ม.ต้น ในโกเบโดนสั่งยุบชมรมกีฬาทั้งเมือง?

Maruak Tanniyom

January 16, 2025 · 1 min read

ใกล้โคชิเอ็งก็ไม่ช่วย: ทำไมโรงเรียน ม.ต้น ในโกเบโดนสั่งยุบชมรมกีฬาทั้งเมือง?
กีฬาอื่น ๆ | January 16, 2025

ชมรมกีฬา ถือเป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับคอการ์ตูนชาวไทย เพราะมันแทบจะปรากฏอยู่ในมังงะกีฬาแทบทุกเรื่อง ไล่ตั้งแต่ ทัช, รูกี้ส์, สแลมดังด์ หรือการ์ตูนยุคปัจจุบัน อย่าง ไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน

ทั้งนี้ แม้ว่ามันจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนักกีฬาเยาวชนญี่ปุ่น แต่ปัจจุบัน กิจกรรมชมรม กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก และถึงขั้นโกเบ เมืองที่ห่างจากสนามโคชิเอ็งไม่ถึง 20 กิโลเมตร สั่งยุบชมรมกีฬาในโรงเรียนทั่วทั้งเมือง

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ติดตามไปพร้อมกัน

กิจกรรมชมรม ถือเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับนักเรียนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน มันคือกิจกรรมนอกเวลาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำสิ่งที่สนใจหลังเลิกเรียน หนึ่งในนั้นก็คือชมรมกีฬา

ทั้งนี้ แม้จะเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้มีการตัดเกรด แต่ชาวญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญพอสมควร มีการซ้อมเช้าและเย็นเป็นประจำทุกวัน แถมยังเป็นการฝึกซ้อมกันเอง โดยมีรุ่นพี่เป็นคนควบคุม ในขณะที่โค้ช หรืออาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นผู้ดูแลในภาพรวม

อย่างไรก็ดี ตอนนี้สถานะของกิจกรรมชมรม อาจมาถึงทางแยกสำคัญ เมื่อ โกเบ เมืองเอกของจังหวัดเฮียวโงะ ได้สั่งยกเลิกกิจกรรมชมรมในโรงเรียนรัฐที่เปิดสอนในระดับมัธยมต้นทั้งเมือง โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป

สิ่งที่น่าสนใจก็คือเมืองแห่งนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับแรงบันดาลใจของชมรมกีฬาอย่าง โคชิเอ็ง สเตเดียม เวทีศักดิ์สิทธิ์เบสบอลมัธยมปลายญี่ปุ่นเพียงแค่ไม่ถึง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

Rookies มังงะที่มีฉากหลังเป็นชมรมเบสบอล

บอร์ดบริหารของเมืองให้เหตุผลว่า เนื่องจากปัญหาอัตราการเกิดของญี่ปุ่นที่ต่ำมาก ทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย ประสบปัญหาในการจัดกิจกรรมชมรม ไล่ตั้งสมาชิกไม่เพียงพอ ไปจนถึงความไม่คุ้มค่าที่คนกลุ่มเล็ก มาใช้สิ่งอำนวยความสะดวกแบบเต็มรูปแบบ

และอีกปัจจัยสำคัญคือพวกเขาอยากจะลดภาระของครูผู้สอน เนื่องจากปกติแล้ว กิจกรรมชมรมจะต้องมีครูที่ปรึกษาคอยควบคุม ส่งผลให้ครูต้องทำงานนอกเวลา ทั้งหลังเลิกเรียน และวันหยุดสุดสัปดาห์

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเมืองโกเบ จะปิดประตูไปหมด เพราะพวกเขาเตรียมก่อตั้งระบบที่เรียกว่า “โกเบคัตสึ” หรือองค์กรด้านกีฬาและวัฒนธรรมของเมือง ที่ไม่ได้สังกัดโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง เพื่อให้คนที่อยากทำกิจกรรมนอกห้องเรียน มีพื้นที่ได้ไปต่อ

เป้าหมายของ โกเบคัตสึ คือให้อิสระแก่ในนักเรียนในการเลือกชมรมที่เหมาะสม ตามความสนใจและเป้าหมายของตัวเอง ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเจอโค้ชโมโหร้าย เนื่องจากสต้าฟที่ดูแลจะเป็นบุคคลภายนอกทั้งหมด

ขณะเดียวกัน สำหรับนักเรียนที่สนใจในกีฬา, ดนตรี หรือวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม ที่อาจมีเพื่อนร่วมชั้นที่สนใจเหมือนกันไม่พอที่จะตั้งชมรม ยังสามารถรวมกลุ่มคนที่ชื่นชอบสไตล์เดียวกันเพื่อทำกิจกรรมได้

ชมรมบาสเก็ตบอลโรงเรียนโชโฮคุ

แม้ว่า โกเบ จะเป็นเพียงแค่เมืองเดียวของญี่ปุ่นที่ใช้วิธีนี้ แต่เชื่อว่าหากพวกเขาประสบผลสำเร็จ ก็อาจจะมีเมืองอื่นเดินตามรอยพวกเขา ท่ามกลางปัญหาประชากรที่กำลังเล่นงานพวกเขาอย่างแน่นอน

“เราหวังว่านี่จะช่วยให้นักเรียน สามารถเลือกใช้เวลาของตัวเอง ได้อย่างเหมาะสมตามสภาวะแวดล้อมของตัวเอง” ยาซุโนริ ฟูคาโมโตะ หัวหน้าบอร์ดบริหารการศึกษาของโกเบกล่าว