ฟลายอิง แบตส์ : ทีมฟุตบอลหญิงที่ทำสถิติไร้พ่ายทั้งซีซั่น ด้วยแข้งข้ามเพศเกือบครึ่งทีม

Maruak Tanniyom

August 26, 2024 · 2 min read

ฟลายอิง แบตส์ : ทีมฟุตบอลหญิงที่ทำสถิติไร้พ่ายทั้งซีซั่น ด้วยแข้งข้ามเพศเกือบครึ่งทีม
ฟุตบอล | August 26, 2024

“สำหรับทุกคนที่กลัวคนข้ามเพศ ที่เอาแต่บ่น เราขอแนะนำให้คุณฝึกให้หนักขึ้น” กลุ่ม LGBTI Rights Australia กล่าว

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟลายอิง แบตส์ ทีมฟุตบอลหญิงในออสเตรเลีย ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยสถิติไร้พ่ายตลอดทั้งฤดูกาล

แน่นอนว่ามันคงจะไม่มีปัญหาอะไร หากทีมนี้ไม่ได้ประกอบไปด้วยนักเตะแปลงเพศเกือบครึ่งทีม ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกัน

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากการที่ ฟลายอิง แบตส์ ทีมฟุตบอลหญิงของออสเตรเลีย เอาชนะ เวสต์ เพนแนนท์ ฮิลส์ เชอร์รีบรูค เอฟซี ในศึกนิวเซาธ์เวลส์ วีเมนพรีเมียร์ลีก พร้อมทำให้พวกเธอคว้าแชมป์แบบไร้พ่าย ทั้งในฤดูกาลปกติ และแกรนด์ไฟนอล ด้วยสถิติชนะทุกเกมทั้ง 16 นัด ยิงไป 65 ประตู เสียไปเพียงแค่ 4 ประตูเท่านั้น

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการถกเถียงก็คือ ฟลายอิง แบตส์ ที่นิยามตัวเองว่าสนับสนุน LGBTQIA+ และความหลากหลายทางเพศ กลับมีนักเตะที่เคยเป็นผู้ชายถึง 5 คน แถมยังเป็นกำลังสำคัญช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ในครั้งนี้

นอกจากนี้ เบน ฟอร์ดแฮม ผู้บรรยายกีฬาจากช่อง 2GB ยังเปิดเผย ชัยชนะ 6 เกมของฟลายอิงแบตส์ ในฤดูกาลนี้ มาจากการที่คู่แข่งยอมแพ้ แถม 2 เกมยังเกิดในรอบรองชนะเลิศทั้ง 2 นัด ที่ทำให้พวกเธอได้เข้าไปชิงชนะเลิศในรอบแกรนด์ไฟนัล

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างล้นหลาม ที่นอกจากตัวสโมสรแล้ว ยังลามไปถึงผู้จัดการแข่งขัน ที่อนุญาตให้นักเตะแปลงเพศ ซึ่งได้เปรียบเรื่องสรีระและพลกำลัง มาแข่งขันกับผู้หญิง จนทำให้เกิดแฮชแท็ก #SaveWomenSports

แต่สิ่งที่ทำให้เดือดดาลที่สุดคือมีการออกมาเผยว่าผู้จัดการแข่งขัน เคยขู่ว่าสโมสรที่ขอยอมแพ้ในเกมที่เจอกับ ฟลายอิง แบตส์ จะถูกลงโทษอีกด้วย

“อย่าลืมว่านี่เป็นการแข่งขันของผู้หญิง และพวกเขาก็มีผู้เล่น (แปลงเพศ) 5 คน และเราก็มีบางคนพูดว่า ‘มันไม่ได้สร้าวความแตกต่างเลย’ เอาจริงดิ?” ฟอร์ดแฮม กล่าว

ขณะที่ ลูซี เซลิค ผู้บรรยายฟุตบอลของออสเตรเลีย ก็ออกมาวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน พร้อมกับบอกว่านี่คือ “อาชญากรรมที่กระทำต่อผู้หญิง”

“ฉันคิดว่า นั่นเป็นอาชญากรรมต่อผู้หญิงจริงๆ มันน่าละอายมาก” ผู้บรรยายสาวกล่าว

“ความเป็นจริงคือผู้หญิงไม่มีปากเสียงในเรื่องนี้ และถ้าพวกเธอส่งเสียง พวกเธอก็จะถูกลงโทษ มันเป็นอะไรที่ต้องขุดคุ้ยอย่างลงลึก”

“ลองนึกภาพว่ามันต้องทำแบบนั้นด้วยหรือ? เพื่อเข้าถึงรอบน็อคเอาท์ของการแข่งขัน ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างแท้จริง เพื่อยืนหยัดและพูดว่า ‘ไม่ เราจะไม่ลงเล่น’ ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้ง พุตนีย์ เรนเจอร์ส และ แม็คควอรี ดราก้อน ควรได้รับคำชื่นชมในเรื่องนี้”

 

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ ฟลายอิง แบตส์ สามารถส่งนักเตะข้ามเพศลงแข่งในลีกผู้หญิงได้ เป็นผลมาจากพระราชบัญญัติ การเลือกปฏิบัติทางเพศของรัฐบาลกลาง ที่ประกาศใช้ในปี 1984 โดยระบุว่าองค์กรกีฬา ไม่สามารถเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ก่อนที่ ฟุตบอล นิวเซาธ์เวลส์ องค์กรที่ดูแลการแข่งขันฟุตบอลในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ จะพัฒนามันมาเป็นนโยบายความหลากหลายทางเพศ แล้วมาบังคับใช้ในลีกฟุตบอลหญิงของรัฐ รวมถึง นิวเซาธ์เวลส์ พรีเมียร์ลีก ที่ ฟลายอิง แบตส์ ลงเล่นอยู่

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ LGBTI Rights Australia กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ของผู้หลากหลายทางเพศในออสเตรเลียได้ออกมาโต้แย้งในคำวิจารณ์ที่มีต่อ ฟลายอิง แบตส์ พร้อมระบุว่านี่เป็นการหวังผลทางการเมือง

“ผู้หญิงข้ามเพศ เป็นส่วนหนึ่งของ แบตส์ มาเกือบ 20 แล้ว แต่กว่าพวก นxซี จะสังเกตุเห็น ก็ต้องรอจนถึงสัปดาห์นี้” ข้อความจากกลุ่ม

“เรื่องนี้ตอกย้ำว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่นักกีฬาข้ามเพศ แต่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากกีฬา เพื่อหวังผลทางการเมือง”

“ยินดีกับ ฟลายอิง แบตส์ เอฟซี ที่คว้าแชมป์ เบอริล อัคครอด คัพ (และสำหรับทุกคนที่กลัวคนข้ามเพศ และเอาแต่บ่น เราขอแนะนำให้คุณฝึกให้หนักขึ้น)”

แน่นอนว่าประเด็นนี้น่าจะยังไม่ได้ข้อยุติในเร็ววัน โดยเฉพาะสิทธิ์ของนักกีฬาข้ามเพศ ไม่ว่าควรจะลงแข่งตามเพศที่อยากจะเป็นได้หรือไม่ หรือควรไปจัดประเภทของตัวเอง ซึ่งก็คงต้องถกเถียงกันต่อไป