ทองทุกปี : ไขรหัสความสำเร็จ ทำไมทีมวีลแชร์เรซซิ่งของไทยจึงไร้เทียมทาน ?

Chayuntorn Chaimool

September 06, 2024 · 1 min read

ทองทุกปี : ไขรหัสความสำเร็จ ทำไมทีมวีลแชร์เรซซิ่งของไทยจึงไร้เทียมทาน ?
Other Sports | September 06, 2024

วีลแชร์เรซซิ่ง คือกีฬาที่เป็นความหวังเหรียญทองของทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ มาอย่างยาวนาน เราเคยมีเจ้าเหรียญทองในช่วงยุค 2000s อย่าง ประวัติ วะโฮรัมย์ ที่ฟาดเหรียญทองในรายการนี้ไปทั้งหมด 7 เหรียญ จากการเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 5 สมัย

ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ไล่มาตั้งแต่โอลิมปิก 2020 โดย พงศกร แปยอ และในปี 2024 กับอีก 2 เหรียญทองจาก ชัยวัฒน์ รัตนะ และ พงศกร ที่คว้าเหรียญทองเพิ่มให้ตัวเองอีกครั้ง

เรื่องนี้เคยมีเบื้องหลังที่เปิดเผยโดย พงศกร โดยเหตุผลที่เก่งกาจไร้เทียมนานนั้นมีดังนี้

1.เคล็ดลับคือไม่มีเคล็ดลับ

“เราไม่มีเคล็ดลับอะไรเลยครับ” นี่คือสิ่งที่ พงศกร บอกอยากตรงไปตรงมา เพราะนี่คือการแข่งขันระดับโลก ดังนั้นเรื่องราวของกลเม็ด เคล็ดลับ และความเชื่อไม่ส่งผลเท่ากับการลงมือทำ นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งก็เหมือนกับนักกีฬาชนิดอื่น ๆ การไต่ระดับไปถึงขั้นท็อป 5 หรือท็อป 10 ของโลกนั้นไม่มีทางลัด ทุกอย่างตั้งต้นด้วยคำว่าคุณอยากจะชนะมากแค่ไหน ? และตามมาด้วยคำถามต่อไป นั่นคือหากคุณอยากชนะจริง คุณกล้าเสียสละตัวเองเพื่อสิ่งนั้นหรือไม่

2. ฝึกหนักกว่าที่ใครคิด

คุณอาจจะนึกภาพไม่ค่อยออกว่านักกีฬาระดับพาราลิมปิกเกมส์ ซ้อมกันหนักขนาดไหน และความจริงที่ พงศกร เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะได้เหรียญทองคือ “ความเข้มข้นและระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม” เป็นหัวใจสำคัญที่สุดสำหรับความสำเร็จ

“การฝึกซ้อมของเราแบ่งเป็นวันละ 2 มื้อ คือเช้ากับเย็น ภายในอาทิตย์หนึ่งเราแทบไม่มีวันหยุดเลย ช่วงเวลาเดียวที่เราพอจะได้หยุดคือช่วงเย็นวันอาทิตย์ถึงเย็นวันจันทร์เท่านั้น การหยุดแบบคร่อมวันแบบนี้ทำให้เราแทบไม่มีโอกาสได้ไปไหนเลย ช่วงเวลาพักคือได้แค่พักผ่อนอยู่บ้านจริง ๆ”

ช่วงเช้าส่วนใหญ่พวกเขาจะซ้อมในแทร็กราว ๆ 2 ชั่วโมง โดยจะต้องทำระยะทางรวม ๆ ที่ 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมี 2 วันต่อสัปดาห์ที่พวกเขาต้องลงปั่นบนถนนด้วยระยะทางถึง 20 กิโลเมตร ซึ่งนั่นไม่ใช่ระยะทางสั้น ๆ เลย ย้ำว่านี่แค่ช่วงเช้าเท่านั้น เพราะหลังจากพักกลางวัน พวกเขาก็ต้องกลับมาใช้พลังงานอีกครั้งในการปั่นแบบลงแทร็ก ซึ่งกินเวลาครั้งละ 2 ชั่วโมง

3. เสียสละชีวิตส่วนตัว

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่างานนี้ไม่ใช่แค่เหนื่อยกายอย่างเดียว พวกเขาซ้อมหนัก มีเวลาพักในแต่ละวันเพียงช่วงสั้น ๆ ในขณะที่วันหยุดนั้นก็ไม่ใช่การหยุดแบบเต็มวัน เห็นได้ชัดว่าหน้าที่ของพวกเขาต้องเสียสละความสุขส่วนตัวไปมากพอดูเลยทีเดียว

“เราแทบไม่ได้หยุดและมีเวลารีแลกซ์กันเลย ผมไม่แน่ใจว่าประเทศอื่น ๆ เขาซ้อมกันแบบไหน แต่เท่าที่ผมสังเกตจากการวอร์มก่อนเเข่งในรายการต่าง ๆ สิ่งที่ผมเห็นคือพวกเขาวอร์มกันน้อยมาก ใช้เวลาแค่ครู่เดียวเท่านั้นก็เสร็จแล้ว ตรงนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาเก็บแรงไว้สำหรับตอนแข่งจริงหรือเปล่านะ แต่ผมคิดว่าการซ้อมของพวกเขายังไม่น่าจะถึงระดับเราครับ” พงศกร ขยายความสิ่งที่เขากล่าว ผ่านมุมมองที่เขาเคยได้สัมผัส

4. อุปกรณ์ดี … มีชัย

วีลแชร์เรซซิ่ง ของทีมชาติไทยนั้นมีราคาตกคันละ 500,000 บาทเลยทีเดียว ราคาเทียบเท่ากับบิ๊กไบค์ 1 คันเลยด้วยซ้ำ

“วีลแชร์ที่ใช้เป็นรุ่นใหม่ที่เพิ่งผลิตขึ้นมาเลยครับ เป็นรุ่นที่ไม่ได้มีใช้กันทุกชาติ ความพิเศษคือผลิตตามสรีระของคนปั่น เพราะความพิการของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน” พงศกร ขยายความ

อันที่จริงวีลแชร์ที่นักกีฬาไทยใช้ มีชื่อในวงการเรียกว่า “Top End” ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา ความพิเศษของรุ่นนี้คือจะผลิตตัวเฟรมจากคาร์บอนทั้งคันเพื่อความเบา นอกจากนี้ก่อนผลิตจะต้องมีการวัดขนาดตัวของคนปั่นให้ได้ตรงตามสรีระที่สุด เพื่อช่วยให้จังหวะการปั่นและวงสวิงเข้าที่เข้าทางมากกว่าเดิม

5. จิตวิทยาขั้นเทพ

เมื่อการแข่งขันจริงมาถึง ความมั่นใจคือสิ่งที่อยู่ในความรู้สึกของทีมวีลแชร์ไทยเสมอมา

“เมื่อก่อนคู่แข่งจากต่างประเทศเคยอยู่ในหัวของเรา เราเห็นพวกเขาเร็วกว่า เรากลัวพวกเขา เราแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มเเข่ง … แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นพวกเราที่เข้าไปอยู่ในหัวของพวกเขาแทนบ้าง” สุพรต เพ็งพุ่ม ผู้ฝึกสอนวัยเก๋ากล่าวถึงขวบปีที่เขาผ่านมาในวงการนี้