ไอล์ตัน: แข้งแซมบ้าหัวใจกาตาร์ ที่ทำให้ฟีฟ่าต้องออกกฎโอนสัญชาติอย่างจริงจัง

Maruak Tanniyom

April 05, 2024 · 2 min read

ไอล์ตัน: แข้งแซมบ้าหัวใจกาตาร์ ที่ทำให้ฟีฟ่าต้องออกกฎโอนสัญชาติอย่างจริงจัง
ฟุตบอล | April 05, 2024
เมื่อการโอนสัญชาติของนักเตะรายหนึ่งทำให้ฟีฟ่าต้องแก้กฎให้รัดกุมขึ้น

ปัจจุบัน การโอนสัญชาติมาเล่นให้อีกชาติ เป็นเรื่องที่พบเห็นกันทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ฟุตบอลที่กลายเป็นหนึ่งในทางลัดเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมชาติไปแล้ว 

อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ไอล์ตัน กองหน้าสัญชาติบราซิล ก็เคยมีความตั้งใจที่จะย้ายมาเล่นให้กับทีมชาติกาตาร์ แต่สุดท้ายเขาก็ถูกคุมกำเนิดโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ “ฟีฟ่า” เสียก่อน 

เพราะอะไร? 

อันที่จริงสำหรับเรื่องนี้ ไอล์ตัน เองก็ไม่ได้ผิด เพราะตอนนั้นเขาคือยอดดาวยิงแห่งยุค โดยเฉพาะผลงานกับ เวเดอร์ เบรเมน ที่ยิงไปถึง 20 ประตูจาก 23 นัดแรกในบุนเดสลีกา 

แต่ปัญหาก็คือ แม้ว่าเขาจะยิงได้ขนาดนั้น แต่ทีมชาติบราซิล ที่เพิ่งคว้าแชมป์โลก 2002 ก็ไม่เคยชายตามอง ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะตอนนั้นขุนพลแซมบ้าเต็มไปด้วยดาวยิงระดับพระกาฬ ไม่ว่าจะเป็น R9 โรนัลโด้, อาเดรียโน กองหน้าจากอินเตอร์ มิลาน ไปจนถึงหลุยส์ ฟาเบียโน ที่โด่งดังกับ เซบียา ในเวลาต่อมา

มันประจวบเหมาะพอดีที่ กาตาร์ เศรษฐีน้ำมันจากตะวันออกกลาง ที่แม้จะร่ำรวยเงินทอง แต่ก็ขาดทรัพยากรในด้านกีฬา กำลังมองหานักเตะต่างชาติมาเล่นให้กับทีมชาติ 

ก่อนหน้านี้ พวกเขาเพิ่งประสบความสำเร็จกับ สเตเฟน เชอร์โรโน นักวิ่งชาวเคนยา ที่คว้าเหรียญทองวิ่ง 3,000 เมตร ในการแข่งขันวิ่งชิงแชมป์โลก หลังโอนสัญชาติ และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ เซอีฟ ซาอีด ชาฮีน ให้พวกเขา

ในตอนนั้น กาตาร์ เป็นชาติที่ไร้ซึ่งความหวังในการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย โดยทำได้ดีที่สุดแค่รอบคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย แถมอันดับโลกก็อยู่ถึงอันดับ 83 ของโลก หรืออันดับ 14 ของเอเชีย 

ฟิลิปส์ ทรุสซิเยร์ กุนซือชาวฝรั่งเศส ของกาตาร์ จึงต้องการใช้ทางลัด โดยเขาให้สัมภาษณ์กับ  L’Equipe สื่อในบ้านเกิดว่า การโอนสัญชาติ จะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้ ชาติที่มีประชากรเพียงแค่ 500,000 คนนี้ ได้สัมผัสกับฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 

“การโอนสัญชาติไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกาตาร์ 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกทีมของผมก็ไม่ได้เกิดที่กาตาร์” ทรุสซิเยร์กล่าว 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สมาคมฟุตบอลกาตาร์ ได้ติดต่อมายัง ไอล์ตัน รวมถึง เดเด้ และ เลอันโดร สองแข้งชาวบราซิล จากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ยังไม่เคยเล่นให้ขุนพลแซมบ้า ถึงโอกาสในการรับใช้ทีมชาติกาตาร์ 

จากรายงานระบุว่า ไอล์ตัน ได้รับข้อเสนอเป็นเงินเบื้องต้นสูงถึง 1 ล้านยูโร (ราว 40 ล้านบาท) พร้อมด้วยค่าตอบแทน ในการย้ายมาสวมชุดของ “เดอะ มารูนส์” เป็นเงินถึง 400,000 ยูโร ต่อปี หรือราว 15 ล้านบาท 

และทั้งสามก็ตอบตกลง และยินดีที่จะโอนสัญชาติมาเป็นชาวกาตาร์ พร้อมกับเดินทางมาแถลงข่าวที่กรุงโดฮา แต่ก็ยืนยันว่าที่ตัดสินใจเรื่องนี้ เงินไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ 

“บราซิลไม่ต้องการผม เยอรมันก็ไม่ได้เตรียมที่จะใช้ผม นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมจึงเลือกเล่นให้กาตาร์ ซึ่งให้ราคาผม ผมอยากเติมเต็มความฝันด้วยการเล่นให้ทีมชาติ” ไอล์ตัน อธิบาย 

อย่างไรก็ดี หลังการแถลงข่าวก็ ไอล์ตัน ฟีฟ่า ก็พยายามเข้ามาขวางเรื่องนี้ เนื่องจากพวกเขามองว่า นี่จะเป็นการบ่อนทำลายโครงสร้างฟุตบอล

อันที่จริง หนึ่งปีก่อนหน้านั้น (ปี 2003)  ฟีฟ่า เพิ่งจะผ่อนคลายกฏมาตราที่ 15 ที่อนุญาตให้นักฟุตบอลที่ลงเล่นให้ทีมชาติในระดับเยาวชน สามารถเปลี่ยนสัญชาติไปเล่นให้กับทีมชาติทีมใหม่ได้  

การผ่อนคลายกฎดังกล่าวทำให้ เฟรเดริค คานูเต, โมฮัมเหม็ด ซิสโซโก และ ลามีน ซัคโก สามารถเปลี่ยนไปเล่นให้กับกับทีมชาติมาลี (สำหรับ 2 รายแรก) และทีมชาติเซเนกัล ลงเล่นใน แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่น แม้ว่าจะเคยเล่นให้ทีมชาติฝรั่งเศสชุด U21 ก็ตาม 

อย่างไรก็ดี ในกรณีของ กาตาร์ ต่างออกไป เพราะ คานูเต, ซิสโซโก และ ซัคโค ล้วนมีพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ที่มีสายเลือดจากแอฟริกา ขณะที่ ไอล์ตัน และผู้เล่นชาวบราซิล ทั้ง 2 คน ไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับแผ่นดินกาตาร์ แม้แต่นิดเดียว 

“มันน่าขันที่ผู้คนสามารถโอนสัญชาติไปยังประเทศที่พวกเขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลย มันจะโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของทีมชาติ” เกฮาร์ด เมเยอร์ โวลเฟลเดอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมันในขณะนั้น และกรรมการบริหารฟีฟ่าให้ความเห็น

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ฟีฟ่า ได้ตั้งคณะกรรมการฉุกเฉินเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนจะแก้ไขกฎใหม่ให้รัดกุมขึ้น และปฏิเสธที่จะรับรอง ไอล์ตัน รวมถึง เดเด้ และ เลอันโดร ในการย้ายมาเล่นให้กับ กาตาร์ 

“ผู้เล่นจะต้องมีสายสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับประเทศนั้น หากพวกเขาอยากเล่นให้ประเทศอื่น” ฟีฟ่าระบุ 

ตามกฎใหม่ของฟีฟ่า ผู้เล่นที่จะโอนสัญชาติได้ จะต้องมีพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย เกิดที่ประเทศเหล่านั้น หรือไม่ก็ต้องอาศัยอยู่ในประเทศดังกล่าวอย่างน้อย 2 ปี 

“ฟีฟ่าไม่ได้มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้การเปลี่ยนสัญชาติอนุญาตให้ผู้เล่นซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศใหม่ ไปเล่นกับประเทศนั้น” แถลงการณ์ของฟีฟ่าระบุ 

สำหรับ ไอล์ตัน แน่นอนว่าข้อแรกเขาก็ไม่ผ่านแล้ว ขณะที่ข้อที่ 2 ก็ทำได้ยาก เพราะตอนนั้นเขาอายุ 29 ปีแล้ว แถมเพิ่งตอบตกลงเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับ ชาลเก้ 04 ดังนั้นการไปอาศัยอยู่ที่กาตาร์ จึงทำไม่ได้อย่างแน่นอน 

นั่นจึงทำให้เขา โกรธ ฟีฟ่า อย่างหัวฟัดหัวเหวี่ยง ที่ออกมาเทคแอคชั่นแบบนี้ และถึงขนาดแก้ไขกฎเพื่อสกัดเขาโดยเฉพาะ 

“ผมโกรธมากจริง ๆ ผมโกรธจนถึงขนาดผมสามาถย้ายออกจากเยอรมันได้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมฟีฟ่าจึงตัดสินใจแบบนี้”  ไอล์ตันกล่าว

“มีคนบอกผมว่ามีบางคนจากเยอรมันขอให้ฟีฟ่าตัดสินใจแบบนี้ แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเหล่านั้นจึงทำแบบนี้” 

“ผมแค่ปรารถนาที่จะเล่นให้ทีมชาติสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะว่าผมไม่เคยถูกเรียกติดทีมชาติบราซิลเลย” 

“โดยส่วนตัว มันไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว มันคือประสบการณ์ที่ดีมากที่จะทำให้ผมมีชีวิตต่อไป” 

อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของผู้ควบคุมความเป็นไปในโลกฟุตบอล การออกกฎเช่นนี้อาจจะสมเหตุผมผล เพราะหาก ไอล์ตัน โอนสัญชาติได้ ก็อาจมีชาติอื่นที่ร่ำรวยไปด้วยเงินทอง แต่ขาดแคลนทรัพยากรบุคคลทำตามอย่างแน่นอน 

และเมื่อถึงจุดนั้น ระบบการสร้างนักเตะในระดับเยาวชน ก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะพวกเขามีทางลัดที่สามารถดึงนักเตะฝีเท้าดีจากชาติที่แข็งแกร่ง ที่ไม่เคยเล่นให้ทีมชาติของตัวเอง มาเล่นให้พวกเขาได้ แค่เพียงมีเงินจูงใจ

สำหรับ ไอล์ตัน หลังจากโดนคุมกำเนิด เขาก็ไม่เคยเล่นให้กับทีมชาติบราซิลอีกเลย จนแขวนสตั๊ดในปี 2013 เช่นกันสำหรับ เลอันโดร ขณะที่เดเด้ เขามีโอกาสได้เล่นให้ขุนพลแซมบ้า 1 นัดถ้วนในอีกหนึ่งเดือนต่อมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าว 

สำหรับ กาตาร์ พวกเขาต้องรอคอยการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อยู่หลายสิบปี แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ จนกระทั่งปี 2022 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง กลายเป็นเจ้าภาพชาติแรกในประวัติศาสตร์ ที่แพ้ 3 นัดรวดในรอบแบ่งกลุ่ม   

#MansionSports #ElevateYourGame #ยกระดับข่าวกีฬา #อีกขั้นของโลกกีฬา