เอมอน โอคีฟ: แข้งอังกฤษที่เกือบตาย เพราะความรักของเจ้าชายซาอุฯ
มันเหมือนโลกหยุดหมุน เมื่อ เอมอน โอคีฟ ได้ยินประโยคที่เจ้าชายอับดุลลาห์ บิน นาสเซอร์ หลานผู้ก่อตั้งประเทศซาอุดิอารเบีย เอ่ยกับเขาในลิฟท์ของโรงแรม ระหว่างมาท่องเที่ยวในยุโรป
“ผมมีอะไรอยากจะบอกคุณ ผมคิดว่าผมรักคุณ” เจ้าชายกล่าว
ตอนนั้น โอคีฟ คิดว่าเขาน่าจะเข้าใจอะไรผิดไป จึงถามกลับไปว่า “แบบน้องชายใช่มั้ย” แต่คำว่าไม่ ก็ทำให้ชีวิตของเขาต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ในสมัยที่ลีกซาอุดิอาระเบีย ยังไม่ได้เต็มไปด้วยนักเตะระดับโลกเหมือนปัจจุบัน เอมอน โอคีฟ ตัวสำรองของ พลีมัธ อาร์ไกล์ ในลีกระดับ 3 ของอังกฤษ กลับได้รับคำเชิญให้ไปเล่นฟุตบอลที่นั่น
จุดเริ่มต้นมาจาก จอร์จ สมิธ ที่ โอคีฟ เคยร่วมงานในสโมสรระดับกึ่งอาชีพที่ชื่อว่า สตาลีบริดจ์ เซลติก ได้มีโอกาสไปรับงานที่ตะวันออกกลางในฐานะเฮดโค้ชของ อัล ฮิลาล ยักษ์ใหญ่ของลีกซาอุฯ จึงส่งจดหมายมาชวนอดีตลูกทีมไปแสวงโชคด้วยกัน
มันเป็นตอนที่ โอคีฟ กำลังมีปัญหาการเงินพอดี เมื่อรายได้ของนักเตะในลีกระดับ 3 ในตอนนั้น แทบไม่พอจ่ายค่าผ่อนบ้าน นอกจากนี้เขายังมีลูกน้อยอีก 2 คนที่ต้องเลี้ยงดู ดังนั้นการไปซาอุฯ จึงเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
“มันเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ผมคิดว่าเป็นตอนหิมะกำลังตก (ในเมืองแมนเชสเตอร์) ผมคิดว่ามันเป็นข้อเสนอที่ไม่เลวเลย” โอคีฟกล่าวกับ BBC
แต่นาทีแรกที่เหยียบแผ่นดินซาอุฯ ก็ทำให้เขารู้สึกว่านี่คือโลกที่ต่างออกไป เมื่อถูกเจ้าหน้าที่เอาหนังสือพิมพ์ที่หน้าหนึ่งมีรูปผู้หญิงไปตัดจนเหลือแต่หัว เนื่องจากการแต่งกายวาบหวิว ไม่ได้รับอนุญาตในดินแดนแห่งนี้
แต่ถึงอย่างนั้น สภาพแวดล้อมใหม่ก็ทำให้เขาแฮปปี้ โอคีฟ ได้รับการต้อนรับด้วยห้องสุดหรูในโรงแรมห้าดาว ที่มีอาหารและเครื่องดื่มฟรีแบบไม่อั้น ก่อนจะได้อพาร์ทเมนต์ส่วนตัวหลังเซ็นสัญญา รวมถึงรถยนต์ มอร์ริส มินิ ไว้ขับตอนอยู่ที่ซาอุฯ
นอกจากนี้ เขายังได้รับค่าเหนื่อยถึง 140 ปอนด์ หรือเทียบเท่า 1,100 ปอนด์ในปัจจุบัน ที่อาจจะดูไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับรายได้ 40 ปอนด์ที่อังกฤษ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียภาษี มันก็เป็นชีวิตที่เขาคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
ในช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจของซาอุฯ กำลังเฟื่องฟู ซึ่งเป็นผลมาจากการก่อตั้งองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปค ในปี 1960 และวิกฤติการณ์น้ำมันในปี 1973 ที่ทำให้ประเทศผู้ค้าน้ำมันแห่งนี้ มีรายได้ที่เฟื่องฟูสูงขึ้นกว่า 3,000 %
แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตของ โอคีฟ สุขสบายคือการนักเตะคนโปรดของ เจ้าชายอับดุลลาห์ ประธานสโมสรอัล ฮิลาล ผู้ร่ำรวยแห่งประเทศนี้ ที่นอกจากเจ้าชายจะซื้อรถหรูให้เขา ยังมักชวนเขาไปดื่มน้ำชา หรือดูฟุตบอลผ่านทีวีจอยักษ์ (ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์หรูในปี 1976) ไปจนถึงพูดคุยกับพี่น้องของพระองค์
โอคีฟ มีความสุขกับชีวิตที่ตะวันออกกลาง เพราะแม้อากาศจะร้อนไปสักนิด แต่เขาก็เข้ากับคนที่นี่ได้ดี เช่นกันกับผลงานในสนาม ที่สามารถพา อัล ฮิลาล คว้าแชมป์ลีกซาอุฯ มาครองได้สำเร็จ ขณะที่ในบอลถ้วยก็สามารถเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในคิงส์คัพ 1976
หลังจบฤดูกาล โอคีฟ ยังมีโอกาสได้เจอกับประธานสโมสร หลังเจ้าชายเดินทางมาท่องเที่ยวในยุโรป ก่อนที่ โอคีฟ จะได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าชาย ทั้งที่ปารีส และเมืองคานส์ รวมถึงในคาสิโน ตามเมืองต่าง ๆ ในทวีปแห่งนี้
“เราเข้ากันได้ดีมาก เราหัวเราะกันตลอดเวลา ผมคิดว่า เจ้าชายคงเบื่อกับบรรดาสหายที่เอาแต่คอยสูบเลือดสูบเนื้อพระองค์” โอคีฟ ย้อนความหลัง
เจ้าชายดูเหมือนจะไว้ใจเขามาก เพราะครั้งหนึ่ง ที่ปารีส พระองค์เคยฝากเงินฟรังก์ฝรั่งเศสเต็มกระเป๋าไว้ที่ โอคีฟ ที่ทำให้เขายอมรับว่าแทบช็อคเมื่อได้รู้ว่าที่เขาถืออยู่มีอะไรอยู่ในนั้น
“มันเหมือนกับที่เห็นในทีวี เงินอัดแน่นจนเต็มกระเป๋า ผมเคยวางทิ้งไว้บนเก้าอี้แล้วเดินไปซื้อกาแฟ แทบไม่อยากคิดเลยว่าถ้าผมทำหายจะเป็นอย่างไร”
คืนวันนั้น โอคีฟ ดื่มด่ำไปกับอาหารเย็น บนเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำแซน ก่อนจะชื่นชมทัศนียภาพของปารีสยามค่ำคืน จากระเบียงห้อง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นราวกับฝัน แต่ 2 วันต่อมาที่เมืองคานส์ เขาก็เหมือนถูกกระชากให้ตื่นขึ้นมา จากประโยคที่เจ้าชายบอกกับเขาในลิฟท์
เจ้าชายพยายามพูดให้ชัดเจน แต่ โอคีฟ บอกว่าเขาไม่ได้เป็นเกย์ และไม่ได้อยากมีความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ เขาเพียงต้องการแค่เล่นฟุตบอลเท่านั้น
“มันกินเวลาราว 15 วินาที (ก่อนที่ประตูลิฟท์จะปิด) แต่ผมก็รู้สึกเหมือนกับนานเป็นเดือน มันเป็นความรู้สึกเย็นยะเยือกอย่างบอกไม่ถูก”
หลังจากนั้นบรรยากาศก็เปลี่ยนไป โปรแกรมทัวร์ถูกหดให้สั้นลง แต่ โอคีฟ ก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร เพราะในลิฟท์ เจ้าชายบอกกับเขาว่า ความสัมพันธ์ของพวกเขาจะกลับไปเป็น “ประธานสโมสรกับนักเตะ” เหมือนเดิม
“ผมไม่เคยคิดเลยสักนิดว่า ตัวเองกำลังตกอยู่ในอันตราย ผมคิดว่าผมมีสัญญาอยู่ และเราก็จะกลับไปเหมือนที่ผ่านมา” โอคีฟ เล่า
แต่ความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อที่ซาอุฯ ความสัมพันธ์แบบชายรักชายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ที่ยังเป็นอยู่แม้กระทั่งในปัจจุบัน) รวมถึงสำหรับสมาชิกราชวงศ์ ผู้ทรงมีอำนาจล้นฟ้าในดินแดนแห่งนี้
แน่นอนว่า โอคีฟ ไม่ได้คิดจะเปิดโปงความลับของเจ้าชาย แต่ก็รู้สึกกังวลว่าหากเจ้าชายกดดันเขามากขึ้น เขาจะรับมือเรื่องนี้อย่างไร เมื่ออีกฝั่งคือญาติของผู้ปกครองประเทศ จึงเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับโค้ชจอร์จ
“พวกเขาไม่ปล่อยแกไว้แน่ เจ้าโง่” จอร์จบอก
ตอนที่ จอร์จ ได้ยินเรื่องที่คานส์ เขาบอก โอคีฟ ให้หนีออกจากซาอุฯ ให้เร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากที่นี่มีคำแนะนำว่าพลเมืองทั่วไปไม่ควรมีเรื่องกับสมาชิกกับราชวงศ์ เพราะสุดท้ายจุดจบอาจจะอยู่ในซักที่ในทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาล
แต่การจะเดินทางออกนอกซาอุฯ โอคีฟ จะเป็นต้องรับการยินยอมจากเจ้านาย สำหรับวีซ่าขาออก ซึ่งก็คือเจ้าชายอับดุลลาห์ ทำให้ จอร์จ แนะนำว่าอย่าบอก อัล ฮิลาล ว่าเขาจะออกจากทีม และเอาสัมภาระติดตัวไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เช้าวันต่อมา เขาไปหาเจ้าชายและโกหกว่า พ่อป่วย ต้องบินกลับอังกฤษด่วน พระองค์รับฟัง แต่นัดให้มาคุยผลในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่คำตอบจะดูเหมือนว่า เขาพอจะรู้ว่า โอคีฟ กำลังคิดอะไรอยู่
“มันเป็นเพราะเรื่องที่ฝรั่งเศสใช่มั้ย ผมไม่เชื่อว่าคุณจะกลับมาที่นี่อีก” เจ้าชายถาม
โอคีฟ พยายามโน้มน้าวเจ้าชาย จนในที่สุดพระองค์ก็ยอมเขียนสัญญาขึ้นมาเป็นภาษาอาหรับ ที่เป็นข้อตกลงให้เขากลับบ้านได้ 1 สัปดาห์ แต่ตอนนั้น โอคีฟ อ่านไม่ออก เขารู้สึกว่ากำลังถูกผูกมัดด้วยอะไรที่ไม่รู้ จึงได้ตอบกลับไปว่า
“คุณอยากให้ผมเซ็นนี่ใช่มั้ย ได้ ผมเชื่อใจท่านด้วยสัญญาภาษาอาหรับฉบับนี้ แต่คุณไม่เชื่อใจผมเหรอ โอเคไม่มีปัญหา”
ทว่าตอนที่ โอคีฟ กำลังจะเซ็น อาจจะเป็นความรู้สึกผิดในใจทำให้เจ้าชายอับดุลลาห์ หยิบกระดาษนั้นขึ้นมาแล้วฉีกทิ้ง แล้วบอกว่าเขาจะจัดหาเที่ยวบินให้นักเตะของเขาในทันที
วันรุ่งขึ้น เขาเดินทางไปสนามบิน พร้อมด้วยเสื้อผ้า 1 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้มีใครสงสัย และกลัวว่าเจ้าชายอาจจะเปลี่ยนใจได้ในทุกนาที
“เพราะถ้าเขา (เจ้าชายอับดุลลาห์) บอกว่าคุณจะไม่ได้ขึ้นเครื่อง คุณก็จะไม่ได้ขึ้นไป หรือแม้แต่ตอนที่เครื่องบินจะขึ้นแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ ผมก็เลยค่อนข้างกังวล” โอคีฟย้อนความหลัง
จนกระทั่งเมื่อล้อเครื่องบินแตะพื้นสนามบินที่ลอนดอน ความกังวลใจที่มีอยู่ก็เหมือนถูกยกออกไป แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะการจะกลับมาเล่นฟุตบอลที่อังกฤษได้ เขาต้องมีหนังสือปล่อยตัวจากสโมสร อัล ฮิลาล เพื่อลงทะเบียนกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ
“เมื่ออัล ฮิลาล บอกว่า ผมไม่สามารถออกจากทีมได้โดยไม่มีเหตุผล เอฟเอ ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก” โอคีฟกล่าว
“พวกเขาบอกว่าผมต้องกลับไป ตามสัญญาที่มี แต่ไม่มีทางที่ผมจะกลับไปที่นั่นอีก”
เมื่อ โอคีฟ ยืนยันว่าไม่ยอมกลับไป อัล ฮิลาล จึงแก้เกมด้วยการส่งแฟ็กซ์เรียกร้องเงินชดเชย ที่มีทั้งค่าละเมิดสัญญา 9,000 ริยาล หรือราว 8,000 ปอนด์ในปัจจุบัน (ราว 360,00 บาท) ค่าซ่อมแอร์ในที่พัก 1,500 ริยาล, ค่ากู้ยืมเงินจากเจ้าชาย 300 ปอนด์ รวมถึงยกเลิกเงินเดือนที่ยังไม่ได้จ่ายให้แข้งจากแมนเชสเตอร์
เขายอมรับข้อเรียกร้องข้อแรก แต่ข้ออื่นๆ เขารู้สึกว่าเหมือนโดนกลั่นแกล้ง เพราะเขาไม่เคยยืมเงินเจ้าชาย และแอร์ที่บ้านพักของเขาก็ไม่ได้พัง
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้โทรหา จิมมี่ ฮิลล์ อดีตประธานสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ ที่เพิ่งเซ็นสัญญาก้อนโต ในการวางรากฐานให้ลีกซาอุฯ โอคีฟ ที่ตอนนั้นมีพ่อเป็นนักเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ขู่ว่าจะเปิดโปงเรื่องที่เมืองคานส์ ให้ฟีฟ่าและโลกได้รู้
ทันใดนั้น อัล ฮิลาล ก็กลับลำ และส่งจดหมายปล่อยตัว โอคีฟ ที่ทำให้เขาสามารถกลับมาเล่นในอังกฤษ ก่อนจะได้ย้ายไปเล่นให้กับทีมอย่าง เอฟเวอร์ตัน รวมถึงติดทีมชาติไอร์แลนด์ จากการที่พ่อเกิดที่ไอร์แลนด์ ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี การไปเล่นที่ ซาอุฯ ก็ไม่ได้ทำให้เขารวยขึ้น เพราะค่าเหนื่อยที่ได้จากการค้าแข้งที่นั่นส่วนใหญ่ อยู่ในธนาคารซาอุฯ ทำให้ในช่วงแรกที่กลับอังกฤษ เขาต้องขายบ้านที่โอลด์แฮม และไปทำงานพาร์ทไทม์เป็นคนขับรถตู้ให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทว่าเขาก็ไม่เสียใจที่ตัดสินใจออกมาจากตรงนั้น
“ผมกลับมาเป็นนักฟุตบอลพาร์ทไทม์ และต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง มันแค่ต้องเดินต่อไป” โอคีฟกล่าว
“ถ้าผมยังอยู่ที่ซาอุฯ ผมอาจจะไม่ได้เล่นให้ เอฟเวอร์ตัน หรือทีมชาติไอร์แลนด์”
และหลังจากที่เก็บงำเป็นความลับมาหลายสิบปี ในปี 2010 โอคีฟ ก็ตัดสินใจออกมาถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ในหนังสือที่ชื่อว่า I Only Wanted to Play Football
ส่วนชีวิตของเจ้าชายอับดุลลาห์ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครรู้เรื่องราวพระองค์มากนัก ขณะที่ทางการซาอุฯ และสโมสรอัล ฮิลาล ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ โดยบอกเพียงว่าเจ้าชายเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2007
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.