Football War : สงครามใหญ่อเมริกากลางที่มีชนวนเหตุมาจาก "ฟุตบอล"

Maruak Tanniyom

April 18, 2024 · 2 min read

Football War : สงครามใหญ่อเมริกากลางที่มีชนวนเหตุมาจาก
ฟุตบอล | April 18, 2024
เมื่อกีฬาที่มีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหลายพันคน

ฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่ดูง่าย ที่มีเป้าหมายแค่การยิงประตู อีกทั้งยังสนุกและตื่นเต้นไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งกีฬาที่มีเป้าหมายเพื่อความบันเทิงชนิดนี้ กลับเป็นชนวนที่ทำให้เกิดสงคราม จนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปหลายพันคน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? 

เหตุการณ์นี้อาจจะต้องย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1960s เมื่อ เอลซัลวาดอร์ และ ฮอนดูรัส สองชาติในอเมริกากลาง ที่มีพรมแดนติดกัน มีเรื่องราวกระทบกระทั่งเรื่องผู้อพยพ

เนื่องจาก ในช่วงเวลานั้น แม้ว่า เอลซัลวาดอร์ จะมีพื้นที่เล็กกว่า ฮอนดูรัส ถึง 5 เท่า แต่พวกเขากลับมีประชากรมากถึง 3 ล้านคน ขณะที่ฮอนดูรัส มีประชากรแค่เพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น 

การลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของชาวเอลซัลวาดอร์ กว่า 350,000 คน ส่งผลกระทบต่อชาวฮอนดูรัสเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนกลุ่มนี้เข้ามาแย่งงานของพวกเขา แถมบางคนยังลงหลักปักฐาน มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง 

และก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย รัฐบาลฮอนดูรัส จึงได้ออกกฎหมายควบคุมผู้อพยพ และใช้โฆษณาชวนเชื่อโทษว่า ชาวเอลซัลวาดอร์ คือต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมืองของพวกเขาย่ำแย่ สร้างความเกลียดชังที่มีต่อเพื่อนบ้านของพวกเขายิ่งขึ้นไปอีก 

นอกจากนี้ ในปี 1969 รัฐบาลฮอนดูรัส ยังได้ปฏิรูปที่ดินยึดคืนพื้นที่ที่ชาวเอลซัลวาดอร์ครอบครอง แล้วนำมาแจกจ่ายให้ชาวฮอนดูรัส ที่กลายเป็นการบีบให้เพื่อนบ้านของพวกเขา ต้องย้ายกลับบ้านเกิดของตัวเองไป ซึ่งแน่นอนว่ามันสร้างความขุ่นเคืองใจให้ รัฐบาลและชาวเอลซัลวาดอร์ ไม่น้อย 

และในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่าง เอลซาวาดอร์ และ ฮอนดูรัส กำลังตึงเครียด ทีมชาติของพวกเขาก็ดันมาเจอกันในเกมฟุตบอลโลก 1970 รอบคัดเลือก 

มันเป็นรอบก่อนรองชนะเลิศ แบบ 2 นัดเหย้าเยือน ที่จะหาผู้ชนะไปเจอผู้ชนะระหว่างเฮติ และสหรัฐอเมริกา เพื่อชิงชัยตั๋วใบสุดท้ายของภูมิภาคนี้ หลังได้เม็กซิโก เข้าไปรออยู่แล้วในฐานะเจ้าภาพ 

และการต่อสู้ก็เริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่ลงสนาม เมื่อเกมนัดแรกที่ เเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัส ได้มีแฟนบอลของ ฮอนดูรัส พากันไปรวมตัวที่โรงแรมที่นักเตะ เอลซัลวาดอร์ พักอยู่ ก่อนจะส่งเสียงดัง ทั้งพูดคุยกัน บีบแตรรถ ไปจนถึงขว้างก้อนหินใส่หน้าต่าง รบกวนนักเตะของคู่แข่งไม่ให้หลับสบาย 

แน่นอนว่ามันได้ผล เมื่อนักเตะเอลซัลวาดอร์ ที่เจอฤทธิ์ของแฟนบอลเจ้าบ้าน ต้องลงเล่นด้วยความเหนื่อยล้า ก่อนจะพ่ายไปด้วยสกอร์ 1-0 ในนัดแรก 

อันที่จริง มันเหมือนจะเป็นแค่เกมฟุตบอลนัดหนึ่ง ทว่า หลังจบเกม เอมิเลีย โบยานอส แฟนบอลสาวของวัย 18 ปี เอล ซัลวาดอร์ รับไม่ได้กับผลการแข่งขัน จึงได้จบชีวิตตัวเองหลังเกมนัดนั้น 

ก่อนที่มันจะกลายเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่คุกรุ่นอยู่แล้ว ได้ระเบิดออกมา เมื่อสื่อของ เอลซัลวาดอร์ ได้นำเธอไปเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยการพาดหัวข่าวบนหน้าหนึ่งอย่างเดือดดาล 

“เด็กสาวที่รับไม่ได้กับการได้เห็นบ้านเกิดของเธอกำลังจะถูกทำลาย” รายงานจากหนังสือพิมพ์ El Nacional 

“งานศพของเธอได้รับการถ่ายทอดทางทีวี โดยมีประธานาธิบดี และรัฐมนตรีของพวกเขาเดินตามโลงศพ พร้อมด้วยทีมฟุตบอลของเอลซัลวาดอร์ ที่เพิ่งกลับมาจากฮอนดูรัส ในเช้าวันนี้” 

เอมิเลีย ได้กลายเป็นตัวจุดกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวเอลซัลวาดอร์ ขณะเดียวกันมันก็สร้างความเกลียดชังของพวกเขาที่มีต่อบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ฮอนดูรัส 

และมันก็ทำให้แฟนบอล เอลซัลวาดอร์ ออกมา “แก้แค้น” ในตอนที่ ทีมชาติฮอนดูรัส มาเยือนพวกเขาในอีก 7 วันต่อมา ทั้งการส่งเสียงโวยวายหน้าโรงแรมคู่แข่ง ทำลายหน้าต่างที่พัก พร้อมกับปาไข่เน่าและหนูตายเข้าไปข้างใน    

นอกจากนี้ ในวันรุ่งขึ้นของการแข่งขัน แฟนบอลเอลซัลวาดอร์ ยังได้ตั้งแถวสาปส่งนักเตะทีมเยือน จนทำให้ ฮอนดูรัส ต้องใช้รถหุ้มเกราะเดินทางไปสนาม รวมถึงต้องส่งเจ้าหน้าที่มาตรึงกำลังในสนามเพื่อป้องกันเหตุจราจล 

แม้สุดท้าย เอลซัลวาดอร์ จะเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 3-0 แต่ความโกรธแค้นของแฟนเจ้าถิ่นก็ยังหลงเหลืออยู่ เมื่อหลังเกมแฟนบอลพวกเขาได้ก่อจราจลขนาดย่อม ทั้งการไล่เผารถของแฟนบอลฮอนดูรัส ที่ตามมาเชียร์จนเสียหายกว่า 150 คัน รวมถึงทำร้ายแฟนบอลของทีมเยือน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก 

“เราโชคดีมากที่เราแพ้ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะตายไปแล้ว” มาริโอ กริฟฟิน โค้ชของฮอนดูรัสในตอนนั้น กล่าวหลังจากเดินทางกลับถึงประเทศ

แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อชาวฮอนดูรัสเองก็รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจากเกมนัดที่ 2  จึงได้ “เอาคืน” ด้วยการบุกทำลาย เผา หรือเข้าปล้นร้านค้าและบ้านเรือนในฮอนดูรัส ที่มีชาวเอลซัลวาดอร์เป็นเจ้าของ 

“เมื่อนักเตะเดินทางกลับถึงเตกูซิกัลปา พวกเขาได้เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ความขุ่นเคืองของแฟนบอลจึงลุกเป็นไฟ” ดี เบลเวล นักเขียนชาวอเมริกันกล่าว

สถานการณ์มันยิ่งเลวร้ายลง เมื่อไม่ใช่แค่สถานที่เท่านั้น แต่ชาวเอลซัลวาดอร์ในฮอนดูรัส ก็กลายเป็นเป้าหมาย พวกเขาถูกรุมทำร้าย บางคนถูกลากตัวออกมาจากบ้านหรือที่ทำงาน ขณะที่ผู้หญิงหลายคนถูกข่มขืน 

รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ พยายามขอร้องให้รัฐบาลฮอนดูรัส ออกมาควบคุมสถานการณ์ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และทำให้ชาวเอลซัลวาดอร์กว่า 11,700 คนต้องอพยพหนีตายกลับประเทศ 

อันที่จริง การแข่งขันทั้งสองทีมก็ยังไม่จบ เนื่องจากการแข่งขันในยุคนั้นนับเพียงแค่ผลแพ้ชนะ ไม่ได้นับสกอร์รวม ทำให้ ฮอนดูรัส และ เอลซัลวาดอร์ ต้องมาเตะเพลย์ออฟตัดสินอีกหนึ่งนัด ที่สนามเป็นกลาง และสุดท้ายเป็น เอลซัลวาดอร์ ที่เอาชนะไปได้ 3-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือหลังเกมนัดนั้น รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ ได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการฑูตกับรัฐบาลฮอนดูรัส เพื่อตอบโต้ที่เพื่อนบ้านปล่อยให้มีการไล่ฆ่าชาวเอลซัลวาดอร์ 

“ฮอนดูรัสไม่ให้ความสำคัญที่จะยับยั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมันแทบไม่ต่างกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัสก็ดูเหมือนจะไม่ชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวเอลซัลวาดอร์เลยซักนิด” แถลงการณ์จากรัฐบาลเอลซัลวาดอร์

จนกระทั่งในวันที่ 14 กรกฎาคม 1969 ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติก็ขาดสะบั้นลง เมื่อ เอลซัลวาดอร์ ได้ส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีสนามบินทอนคอนติน ฐานที่มั่นกองทัพอากาศฮอนดูรัส และเมืองอื่น ๆ อีกมากมาย 

ก่อนที่เช้าวันต่อมา พวกเขาจะส่งกองกำลังภาคพื้นดิน พร้อมด้วยรถถัง และรถหุ้มเกราะ บุกเข้าตีเมืองหลวงของฮอนดูรัส ได้สำเร็จในช่วงค่ำของวันนั้น 

แต่ ฮอนดูรัส ก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองโดนกระทำอยู่ฝ่ายเดียว พวกเขาตอบโต้ด้วยการส่งกองบิน เข้าโจมตีเมืองโยปานโก รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองอคาจุตญา เมืองท่าหลักของเอลซัลวาดอร์ พร้อมกับทำลายท่าเรือ และโรงเก็บน้ำมันจนไม่เหลือชิ้นดี 

การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด จนทำให้มหาอำนาจของภูมิภาคอย่างสหรัฐอเมริกา ต้องเข้ามาจัดการ ก่อนที่ องค์การนานารัฐอเมริกัน จะสั่งให้ เอลซัลวาดอร์ ถอนกำลังออกจากฮอนดูรัสทันที มิเช่นนั้นจะเข้ามาแทรกแซง 

สุดท้ายสงครามก็ยุติลงในวันที่ 18 กรกฎาคม หรือเพียงแค่ 4 วันหลังจากนั้น แต่นั่นก็สร้างความเสียหายให้แก่ทั้งสองประเทศไม่น้อย 

จากรายงานระบุว่ามีชาวเอลซัลวาดอร์กว่า 900 ราย ต้องสังเวยชีวิตไปจากสงครามนี้ และอีก 300,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนฮอนดูรัว พวกเขาต้องเสียทหารและพลเรือนไปมากกว่า 2,100 ชีวิต และอีกหลายพันคนต้องเป็นคนไร้บ้าน ทั้งที่ชนวนเหตุของเรื่องนี้มาจากฟุตบอล และทำให้เกมนัดดังกล่าวถูกเรียกว่า “Football War”  

อย่างไรก็ดี สำหรับนักเตะพวกเขามองว่า ฟุตบอลไม่ใช่สาเหตุ แต่มันถูกใช้เป็นเครื่องมือ ถูกใช้เป็นเครื่องสร้างความชอบธรรมจากรัฐบาล ในการก่อสงคราม 

“สงครามไม่ได้เกิดขึ้นจากเกมนัดนั้นของเรา มันเป็นแรงจูงใจทางการเมือง” มาริโอ มอนเก นักเตะทีมชาติเอลซัลวอดอร์ ที่ลงเล่นในเกมนัดนั้น กล่าวกับ Sports Illustrated

“ผมคิดว่าเราถูกใช้ประโยชน์” เมาริซิโอ โรดิเกวซ  อดีตนักเตะทีมชาติเอลซัลวาดอร์ ในเกมนัดดังกล่าวเสริม 

“รัฐบาลใช้เราแทนเสียงของพวกเขา และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับทีมชาติฮอนดูรัสเช่นกัน”  

แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นภาพสะท้อนที่ดีว่าฟุตบอลมีอิทธิพลกับผู้คนในภูมิภาคนี้มากแค่ไหน เพราะมันทำหน้าที่เป็นศาสนา ลัทธิ และความเชื่อ รวมถึงศูนย์รวมใจของคนในชาติ มากกว่าที่จะเป็นแค่เกมการแข่งนัดหนึ่ง

“(ในละตินอเมริกา) เส้นแบ่งระหว่างฟุตบอลกับการเมืองมันคลุมเครือ มีรัฐบาลหลายประเทศที่อ่อนแอลงหรือถูกโค่นล้มหลังความพ่ายแพ้ของทีมชาติ ผู้เล่นที่อยู่ในทีมที่แพ้จะถูกกดดันในฐานะผู้ทรยศ” หลุยส์ ซัวเรซ นักข่าวชาวเม็กซิกันกล่าว