ลงลึกถึงโครงสร้าง : ทำไมฟุตบอลเกาหลีพัฒนาไม่ทันญี่ปุ่น แม้ไปบอลโลกก่อน?
เกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของเอเชีย พวกเขาคือชาติที่ 2 ของทวีปที่ได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (ในปี 1954) และไปไกลถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายในปี 2002 อีกทั้งยังเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์เอเชียอีก 2 สมัย
ขณะที่ทีมเยาวชนของพวกเขา เป็นขาประจำในฟุตบอลโอลิมปิก และเคยคว้าเหรียญทองแดงเมื่อปี 2012 ส่วนชุด U20 เคยเป็นเจ้าของตำแหน่งรองแชมป์โลกเมื่อปี 2019
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบสภาพโดยรวมกับคู่รักคู่แค้นอย่างญี่ปุ่น ที่เพิ่งไปฟุตบอลโลกครั้งแรกตอนปี 1998 กลับกลายเป็นหปว่าพวกเขาดูจะพัฒนาไปทันเพื่อนบ้าน ทั้งในแง่คุณภาพของลีก และผลงานการดวลกันในทีมชาติ ที่เอาชนะไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2019
แน่นอนว่า เรื่องนี้แม้แต่ชาวเกาหลีใต้ก็ยังรู้สึก ที่ได้สะท้อนผ่านแบบสำรวจของ JoongAng Ilbo สื่อชื่อดังแดนโสม ที่ได้สอบถามผู้คนที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลเกาหลี รวมถึงโค้ช และนักเตะในทีมชาติชุดปัจจุบัน
จากผลสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มองว่าตอนนี้วงการฟุตบอลญี่ปุ่น ได้ก้าวผ่านเกาหลีใต้ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเพราะสเกลฟุตบอลของสองประเทศที่ต่างกันอย่างลิบลับ
จากข้อมูลของ JoongAng Daily ระบุว่า เกาหลีใต้ มีนักฟุตบอลที่ลงทะเบียนแค่ 116,000 คน ส่วนญี่ปุ่นมีมากถึง 826,000 คน หรือต่างกันกว่า 7 เท่า เช่นกันในระดับ เยาวชน ที่เกาหลี มีนักฟุตบอลที่ลงทะเบียนกับสโมสรไม่ถึง 1,000 คน ส่วนญี่ปุ่นคือมากกว่า 15,000 คน
แน่นอนว่า ทั้งสองประเทศ มีจำนวนประชากรที่แตกต่างกัน จากการที่เกาหลีใต้มีประชากรแค่ราว 51 ล้านคน ส่วนญี่ปุ่นมี 125 ล้านคน แต่ความแตกต่างนั้น ไม่ได้สอดคล้องกับจำนวนของผู้เล่นโดยรวมที่ยังเล่นอยู่
“มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเจอผู้เล่นฝีเท้ายอดเยี่ยม 11 คน จากผู้เล่น 1 ล้านคน มากกว่าผู้เล่นเพียงแค่ 10,000 คน และคุณภาพจะซ่อนอยู่ในปริมาณ” เจ้าหน้าที่ในวงการฟุตบอลคนหนึ่งกล่าวกับ JoongAng Ilbo
อาห์น ฮโย ยอน ผู้จัดการทีมของมหาวิทยาลัยดงกุ๊ก ก็เห็นด้วยกับตัวเลขนี้ พร้อมเสริมว่า “บางครั้งเกาหลีก็มีนักเตะเก่งๆ อย่าง อี คัง อิน ของปารีส แซงต์แชร์กแมง หรือ เบ จุน โฮ ของ แดจอน ฮานา ซิติเซน แต่ญี่ปุ่น มีผู้เล่นอีก 10 คนที่อาจจะไม่ได้เก่งเท่า เบ แต่เล่นในสไตล์ที่คล้ายกัน”
ผู้ตอบแบบสอบถามยังวิจารณ์ว่า เป็นเพราะการแข่งขันกีฬาของเกาหลี มุ่งเน้นไปที่ชัยชนะและเหรียญรางวัล มากกว่าการพัฒนาผู้เล่นอย่างยั่งยืน
“เราจำเป็นต้องสอนพื้นฐานและทักษะให้ผู้เล่นเยาวชนให้ดี แค่ในความเป็นจริง ไม่มีโค้ชคนไหนที่จะไม่สนใจผลการแข่งขัน” ชิน ยอน โฮ ผู้จัดการทีมฟุตบอลมหาวิทยาลัยเกาหลี อธิบาย
“(ฟุตบอลเกาหลี) เอาตัวรอดด้วยนักเตะพรสวรรค์อย่าง ชา บุม กุน, พัค จีซอง, ซน ฮึงมิน, คิม มินแจ และ อี คังอิน”
บวกกับความนิยมของลีก ที่แม้ฟุตบอลจะไม่ใช้กีฬาอันดับ 1 ของทั้งสองประเทศ แต่ญี่ปุ่น กลับมีแฟนบอลเฉลี่ยต่อนัดในเจลีก1 สูงถึง 18,993 คน ในฤดูกาล 2023) ส่วนเคลีก 1 อยู่ที่ราว 10,679 คน ที่ถือว่าดีมากแล้ว เพราะเมื่อฤดูก่อน ลีกสูงสุดแดนโสมมียอดผู้ชมเฉลี่ยแค่เพียง 4,578 คนเท่านั้น
และมันก็ทำให้ เกาหลี ส่งออกผู้เล่นไปค้าแข้งในต่างแดนได้น้อย จากสถิติเมื่อปี 2023 ระบุว่านักเตะจากแดนโสมที่เล่นอยู่ในยุโรป มีเพียงแค่ 28 คน ส่วนญี่ปุ่นมีมากถึง 136 คน
ปัญหาสำคัญของนักเตะเกาหลีคือ พวกเขาต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากชายเกาหลีทุกคนที่ร่างกายแข็งแรง ต้องเข้ารับใช้ชาติ 1 ปีครึ่ง ที่ทำให้ผู้เล่นฝีเท้าดีลังเลที่จะไปเล่นในต่างประเทศ เนื่องจากต้องกลับเกาหลีก่อนอายุ 27 ปี
แม้ว่าหลายคนจะใช้วิธีลัดด้วยการ คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ หรือคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิก ให้ได้เป็นอย่างน้อย เพื่อได้สิทธิ์ยกเว้น แต่การทำได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้
“มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างเรื่องการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ที่ปัจจุบันมีผลเฉพาะผู้ที่ทำผลงานโดดเด่นในเวทีระดับนานาชาติ ถ้าเราอยากจะให้ผู้เล่นเยาวชนของเราสามารถเริ่มต้นชีวิตอาชีพที่ยุโรป” คิม ฮัค บุม อดีตกุนซือทีมชาติเกาหลีชุดโอลิมปิกเสนอความเห็น
แตกต่างจากญี่ปุ่น ที่นอกจากจะไม่มีอุปสรรคในลักษณะนี้ สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ยังส่งเสริมให้ผู้เล่นย้ายไปเล่นในต่างประเทศ ปัจจุบันสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ได้ก่อตั้งสำนักงานที่เมืองดุสเซลดอล์ฟ ประเทศเยอรมนี เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เล่นในต่างแดน
ขณะเดียวกันสโมสรเอง ก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนักเตะให้ไปค้าแข้งในยุโรป หรือเสริมสร้างทัศนคติ ที่ทำให้ผู้เล่นหลายคนยอมลดเงินเดือนตัวเอง แลกกับการพัฒนาฝีเท้า เพื่อออกไปเล่นในต่างประเทศ
“เซเรโซ (โอซากา) มีทีมเยาวชนอยู่ใน 3 พื้นที่ใกล้กับที่สโมสรตั้งอยู่ พร้อมทีมงานที่จะคอยสอนผู้เล่นเยาวชนกว่า 2,000 ชีวิต” ซาโตชิ คาจิโนะ ผู้อำนวยการกีฬาของเซเรโซ กล่าว
“เป้าหมายของเราคือพัฒนาผู้เล่นที่มีความสามารถเพียงพอที่จะลงเล่นในเวทีระดับนานาชาติได้”
แต่ถึงอย่างนั้นเกาหลี ก็ยังไม่ได้ยอมแพ้ พวกเขากำลังพยายามพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ วิเคราะห์และแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง เพื่อวันหนึ่งที่จะกลับมาทวงบัลลังก์เบอร์ 1 ของเอเชีย – ตำแหน่งที่พวกเขาเคยยืนอยู่เมื่อในอดีต
“ผมยอมรับว่านักเตะญี่ปุ่นเก่ง แต่มันก็มีกรณีของ คิม มินแจ ที่กลายเป็นกองหลังระดับโลก ผ่านระบบการพัฒนาเยาวชนของเกาหลี” นักเตะทีมชาติเกาหลีผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว
“การพัฒนาความสามารถเป็นรายบุคคล เป็นวิธีที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างสองประเทศได้”
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.