มาแซล บักดัฟ: วอนเดอร์คิดมโนที่แม้แต่สื่อดังยังหลงเชื่อ

Maruak Tanniyom

April 24, 2024 · 1 min read

มาแซล บักดัฟ: วอนเดอร์คิดมโนที่แม้แต่สื่อดังยังหลงเชื่อ
ฟุตบอล | April 24, 2024
พบกับเรื่องราวของแข้งอัจฉริยะมอลโดวา ที่ตกเป็นข่าวกับสโมสรยักษ์ในยุโรป ทั้งที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง

เขาคือเด็กมหัศจรรย์จากมอลโดวา ที่ตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับยักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีกอย่างอาร์เซนอล และลิเวอร์พูล แถมยังถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในยอดแข้งดาวรุ่งของโลกจากนิตยสาร Times 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกลับไม่มีใครเคยเห็นเขา เพราะนี่คือหนึ่งในการหลอกลวงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ฟุตบอล เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น? 

ย้อนกลับไปในปี 2008 ในอีกด้านหนึ่งของยุโรปตะวันตก มอลโดวา ชาติเล็กๆ ที่มีพรมแดนติดกับโรมาเนียและยูเครน ได้มีดาวรุ่งน่าจับตาที่ชื่อว่า “มาแซล บัพดัฟ” ถือกำเนิดขึ้น 

เขาอายุเพียง 16 ปี แต่ได้ประเดิมสนามกับ โอลิมเปีย บัลติ (ซาเรีย บัลติ) สโมสรในบ้านเกิด ตั้งแต่อายุ 15 แถมยังสามารถทำแฮตทริคได้ในเกมฟุตบอลถ้วยได้อีกด้วย 

ส่วนเวทีระดับนานาชาติ เขาได้ถูกเรียกตัวติดทีมชาติชุดใหญ่ของมอลโดวาไปเป็นที่เรียบร้อย และได้ประเดิมสนามในนามทีมชาติเป็นนัดแรก หลังถูกเปลี่ยนตัวลงไปในเกมเสมอกับ อาร์เมเนีย 2-2  

นอกจากนี้ในเกมวันนั้น บักดัฟ ยังมีส่วนสำคัญกับจังหวะตีเสมอของมอลโดวา หลังเลี้ยงบอลผ่านแนวรับคู่แข่งถึง 2 คน เข้าไปยิงติดปลายมือนายด่านของ อาร์เมเนีย จนบอลมาเข้าทางเพื่อนร่วมทีมของเขา ตามซ้ำเข้าไป 

ทำให้ตอนนั้น ชื่อของเขาถูกพูดถึงในสื่อดังทั่วยุโรปไม่ว่าจะเป็น When Saturday Comes หรือ Goal.com ในฐานะ “เด็กอัจฉริยะแห่งมอลโดวา” ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นยอดนักเตะคนต่อไป ขณะที่ Times สื่อดังของอังกฤษ ยังยกย่องให้เขาเป็น 1 ใน 50 ดาวรุ่งน่าจับตาของโลก 

“นักเตะที่ดีที่สุดของมอลโดวา”  คำอธิบายของ Times 

บักดัฟ ยังตกเป็นข่าวว่าเตรียมจะย้ายไปโชว์ฝีเท้าในพรีเมียร์ลีก โดยมีหลายทีมรุมแย่งตัว รายงานในตอนนั้นระบุว่า เซอร์เก ยูลิคอฟ เอเยนต์ของเขา ได้เข้ามาพูดคุยที่ออฟฟิศของ อาร์เซนอล ขณะที่ ลิเวอร์พูล ก็พร้อมจ่ายเงิน 5 ล้านปอนด์ กระชากตัวเขามาร่วมทีม 

“แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขามีศักยภาพเทียบเท่า ฟาเบรกัส และ นาสซรี แต่เขาต้องมีเวทีเพื่อแสดงความสามารถและพิสูจน์มัน เขาแข็งแกร่งพอกับ โอบี มิเกล ของเชลซี แต่จำไว้ว่าเขาเพิ่งจะอายุเพียงแค่ 16 ปีเท่านั้น” ข้อความที่อ้างว่าเป็นบทสัมภาษณ์ของ ยูลิคอฟ กับ AP

ชีวิตของ บักดัฟ ดูเหมือนกำลังจะไปได้สวยกับว่าที่แข้งพรีเมียร์ลีก ขณะที่ตัวเขายังถูกพูดถึงในกระดานสนทนาของแฟนบอล หลายคนตื่นเต้นที่จะได้ยลโฉมแข้งอัจฉริยะรายนี้ จนทำให้ชื่อของเขาถูกค้นหาใน Google ไปกว่า 106 ล้านครั้ง

แต่ปัญหาก็คือทำไมไม่มีใครเคยเห็นหน้าค่าตาของเขาเลย ? 

เช่นกันสำหรับ นีล แม็คโดเนลล์ บล็อกเกอร์ ที่ใช้นามปากกาว่า เฟรดอร์ราร์ซี ก็รู้สึกสงสัยในเรื่องนี้ หลังจากเห็นคอมเมนต์หนึ่ง จึงได้สอบถามไปยัง อิวาน มาคารอฟ บรรณาธิการของ SovietSport สื่อกีฬาของรัสเซีย ที่มีเส้นสายในมอลโดวา และพบว่า นอกจาก บักดัฟ จะไม่มีตัวตนแล้ว ชื่อของเขายังไม่ใช่ชื่อของคนมอลโดวาอีกด้วย 

ก่อนที่เรื่องนี้จะได้รับการยืนยันจาก ลาฟเรนตี อนิสเซนโซ บรรณาธิการบริหารของ moldfootball.com ว่านักเตะคนนี้ไม่เคยมีอยู่จริง รวมถึงในประเทศของเขาก็ไม่มีสื่อที่ชื่อ Diario Mo Thon ที่อ้างว่าเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของ มอลโดวา ผู้จุดกระแสเรื่องราวของ บักดัฟ

“บุคคลนี้ไม่มีตัวตน เขาไม่เคยลงเล่นในเกมกับ อาร์เมเนีย (ผมอยู่ในสนามในวันนั้น) ผมเพิ่งรู้จักเขาวันนี้ และพบข้อมูลปลอมมากมายเกี่ยวกับเขาในอินเตอร์เน็ต” อนิสเซนโต กล่าวกับ Sportlens

จนกระทั่งในที่สุดเรื่องก็มาเฉลยว่า แท้จริงแล้ว บักดัฟ คือนักเตะที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก เดแคลน วาเลย์ นักข่าวชาวไอริช ที่ต้องการทดลองทางสังคม หลังเห็นการปั่นราคานักเตะให้สูงเกินจริงจากเหล่าเอเยนต์และสื่อ 

เขาเริ่มจากการสร้างนักเตะปลอมขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 โดยใช้ชื่อจากเรื่อง M’asal Beag Dubh หรือ My Little Donkey เรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวไอริช ที่ว่าด้วยเรื่องของคนขายลาที่ไม่ซื่อสัตย์ ที่พยายามหลอกขายลาขี้เกียจด้วยราคาที่สูงเกินจริง 

วาเลย์ ทำให้เรื่องน่าเชื่อถือขึ้นด้วยการแอบเพิ่มชื่อของ บักดัฟ ในทีมชาติมอลโดวา บนหน้า Wikipedia จากนั้นค่อยระบุลงไปในประวัติส่วนตัวว่าเขาเคยติดทีมชาติ ส่วนที่ตอนแรกยังไม่มีใครระแคะระคาย เนื่องจากตอนนั้นผู้คนยังตระหนักในเรื่องข่าวปลอมน้อยมาก 

จากนั้น วาเลย์ ก็เขียนข่าวปลอมในสไตล์ของ AP พร้อมกับสร้าง เอเยนต์อย่าง เซอร์เก ยูลิคอฟ ขึ้นมาทำหน้าที่ให้ข่าวเกี่ยวกับ บักดัฟ ก่อนนำเรื่องของนักเตะรายนี้ไปโพสต์ลงในเว็บบอร์ดต่าง ๆ แล้วปล่อยให้เรื่องเล่าทำหน้าที่ของมัน 

อันที่จริง การที่เรื่องนี้ถูกจุดติด เป็นเพราะนักเขียนของ Times เลือก บักดัฟ เข้ามาอยู่ในลิสต์ 50 นักเตะดาวรุ่งของโลก จนทำให้เรื่องน่าเชื่อถือขึ้น และกว่าจะรู้ว่านี่คือเฟกนิวส์ พวกเขาก็เสียท่าไปแล้ว 

“ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันเป็นเรื่องอันตราย” วาเลย์กล่าวกับ Irish Times

ทั้งนี้ หลังจากสื่อเริ่มรู้ตัว พวกเขาก็ออกแถลงการณ์ยกใหญ่ เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือกลับมา โดย Times ออกจากลิสต์ 50 ดาวรุ่งโลก พร้อมกับชี้แจงความผิดพลาด ส่วน Goal.com ได้ออกหนังสือขอโทษ และอธิบายเหตุผลว่าเป็นเพราะได้ข้อมูลมาจากรายงานของ AP ฉบับปลอม 

แม้ว่าในปัจจุบัน ชื่อของ บักดัฟ จะไม่ค่อยถูกพูดถึงแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นบทเรียนชั้นดีแก่สื่อมวลชน และผู้รับข่าวสาร ถึงความอันตรายในการเชื่อถือข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง

และที่สำคัญมันคือหมุดหมายที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงข่าวปลอม รวมถึง “คิดก่อนเชื่อ” ข้อมูลที่รับมา ไม่ใช่ “เขาว่ามาอย่างไร ก็ว่าไปอย่างนั้น” อีกแล้ว