เหรียญแห่งความคับแค้น : เมื่อนักวิ่งเกาหลีคว้าทองโอลิมปิกภายใต้ธงญี่ปุ่น

Maruak Tanniyom

April 29, 2024 · 1 min read

เหรียญแห่งความคับแค้น : เมื่อนักวิ่งเกาหลีคว้าทองโอลิมปิกภายใต้ธงญี่ปุ่น
กีฬาอื่น ๆ | April 29, 2024
รู้จักกับ ซน กีจอง นักวิ่งชาวเกาหลีที่คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ในฐานะตัวแทนของผู้รุกรานอย่างญี่ปุ่น

การคว้าเหรียญทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ ควรจะเป็นความภาคภูมิใจให้แก่นักกีฬา แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ ซน กีจอง นักวิ่งชาวเกาหลี  เมื่อมันได้มาจากการลงแข่งในนามของ “ญี่ปุ่น” ชาติที่ยึดครองพวกเขา 

เหตุการณ์นี้ ต้องย้อนกลับไปในโอลิมปิก 1936 ที่เบอร์ลิน เยอรมัน เมื่อ ซน กีจอง ได้เป็นตัวแทนของทีมชาติญี่ปุ่น มาลงชิงชัยในการวิ่งมาราธอน 

อันที่จริง เขาถือเป็นความหวังสำหรับญี่ปุ่น จากผลงานอันลือลั่น ด้วยการคว้าแชมป์มาราธอน 9 รายการ จาก 12 รายการ ในช่วงปี 1933-1936 รวมไปถึงโตเกียวมาราธอน 1935 ที่สามารถทำลายสถิติของ ฮวน คาร์ลอส ซาบาลา เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 1932 อีกด้วย 

แต่สำหรับ ซน การมาโอลิมปิกครั้งนั้น มันคือความเจ็บปวด เพราะเขาต้องมาในฐานะตัวแทนของชาติที่ปกครองพวกเขาอย่างโหดร้าย หลังจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีตั้งแต่ปี 1910 นอกจากนี้ เขายังต้องละทิ้งชื่อเดิม และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ซน คิเตอิ ให้เหมือนเป็นชาวญี่ปุ่น อีกด้วย 

ทำให้ ซน พยายามใช้การแข่งขันครั้งนั้นในฐานะเครื่องมือประท้วงต่อผู้รุกราน ทั้งการบอกคนอื่นว่าเขาไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่เป็นคนเกาหลี ไปจนถึงเซ็นชื่อตัวเองด้วยอักษรเกาหลี รวมถึงวาดภาพแผนที่คาบสมุทรเกาหลี (บางข้อมูลบอกว่าธงเกาหลี) ไว้ข้างลายเซ็น

แต่สุดท้าย ซน ก็หนีชะตากรรมของตัวเองไม่พ้น เมื่อเขาต้องลงแข่งในฐานะตัวแทนของชาติอาณานิคม โดยมีธงของญี่ปุ่น อยู่บนหน้าอก

อย่างไรก็ดี เมื่ออยู่ในสนาม ซน ก็พยายามทำให้ดีที่สุด แม้ว่าเขาจะเริ่มต้นได้ไม่ดีในช่วงแรก แต่ก็สามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วง 2 ไมล์สุดท้าย ก่อนจะเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 29 นาที 19 วินาที 

“ผมมั่นใจว่าผมจะชนะ แต่ตอนที่ออกสตาร์ทผมเห็นนักวิ่งเก่ง ๆ วิ่งผ่านผมไป หลังจากผ่าน 10 กิโลเมตรแรกผมก็เริ่มเห็นพวกเขาออกจากการแข่งขัน ผมเลยคิดว่า ‘บางทีผมอาจจะชนะการแข่งขันครั้งนี้'” ซน กล่าวกับ CS Monitor เมื่อปี 1988

“ตลอด 4 ปีผมฝึกซ้อมมาเพื่อเป้าหมายนั้น ถ้าผมแพ้ 4 ปีที่ผ่านมามันคงสูญเปล่า ความพอใจแบบนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนที่ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์นั้นจะเข้าใจ มันคือการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติสำหรับผม และผมก็ชนะ” 

แต่นั่นก็เหมือนจุดเริ่มต้นของความขมขื่น เพราะแม้ว่าเขาจะสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการคว้าเหรียญทองแรกให้กับตัวเอง แต่มันคือการคว้าแชมป์ในฐานะตัวแทนของญี่ปุ่น 

ซน ต้องขึ้นไปอยู่บนโพเดียม มองธงชาติของญี่ปุ่นเชิญขึ้นสู่ยอดเสา พร้อมกับเพลง Kimigayo เพลงชาติญี่ปุ่นที่กำลังบรรเลง จนทำให้เขาบอกว่านั่นคือช่วงเวลาที่อัปยศที่สุดในชีวิต 

“ตอนที่ผมขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นและเพลงชาติบรรเลงพร้อมกับเชิญธงขึ้น มันเป็นตอนที่ผมรู้สึกเสียใจกับคนที่ไม่มีประเทศ นั่นคือผม คนเกาหลีที่ชนะการแข่งขันภายใต้ธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่น” ซน ย้อนความหลังกับ CS Monitor

ทำให้ช่วงเวลานั้น แทนที่จะเชิดหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ซน เลือกที่จะก้มมองพื้น แล้วเอาต้นโอ้คมาบังธงชาติญี่ปุ่นที่หน้าอกเอาไว้ 

“สำหรับตัวผม และอันดับ 3 ที่เป็นคนเกาหลีเหมือนกัน พวกเราต่างก้มหัวลง เรากำลังร้องไห้ มันไม่ใช่เพราะชัยชนะแต่เป็นน้ำตาแห่งความโศกเศร้าและความคับข้องใจที่มันไม่ใช่ชัยชนะของเรา” ซนกล่าว 

ขณะเดียวกัน ในระหว่างการสัมภาษณ์ เขาพยายามใช้ความสำเร็จนี้เป็นเครื่องมือประท้วงการรุกรานของญี่ปุ่น ด้วยการบอกว่าเขาเป็นคนเกาหลีไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่ล่ามปฏิเสธที่จะแปลคำพูดนี้ 

“ซนตระหนักดีถึงแนวคิดของการถูกยึดครองจากต่างชาติ และเขาก็พยายามจะพูดเรื่องนี้ในการแถลงข่าว” เดวิด วอลเลชินสกี นักประวัติศาสตร์โอลิมปิก อธิบายกับ New York Times

นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ซน ยังพยายายามเน้นคำว่า “ยึดครอง” ด้วยนัยยะที่ต้องการสื่อให้โลกได้เห็นว่าสถานะของชาวเกาหลีตอนนี้เป็นอย่างไร หลังนักข่าวถามถึงเบื้องหลังแห่งความสำเร็จ 

“ร่างกายของมนุษย์สามารถทำอะไรได้มากทีเดียว จากนั้นหัวใจและจิตวิญญาณจะเข้ามายึดครอง” ซนกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการคว้าเหรียญภายใต้ธงญี่ปุ่น แต่เขาก็กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวเกาหลี ถึงขนาดที่ Dong-a Ilbo หนังสือพิมพ์รายวันของเกาหลี เอาภาพ ซน ตอนรับเหรียญขึ้นหน้าหนึ่ง แต่ลบธงญี่ปุ่นออก

อย่างไรก็ดี ชะตากรรมของ ซน หลังจากนั้น กลับสวนทาง เมื่อเขาถูกญี่ปุ่นแบนจากการแข่งขัน และส่งคนมาจับตามองอย่างเข้มงวด เนื่องจากเกรงว่าจะใช้ความสำเร็จของเป็นเครื่องมือปลุกระดมชาวเกาหลีให้ประกาศเอกราช 

ขณะเดียวกัน ซน ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อของจักรวรรดิญี่ปุ่น ในการชักชวนเด็กหนุ่มชาวเกาหลีเข้ามาเป็นทหารในกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขาบอกว่ามันคือ “ความเสียใจที่สุดในชีวิต” 

ทว่า ท้ายที่สุดเขาก็หลุดพ้นจากพันธนาการ หลังญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แพ้สงครามในปี 1945 เขากลายมาเป็นโค้ชนักวิ่งให้ทีมชาติเกาหลี และสามารถปลุกปั้น ฮวาง ยองโช คว้าเหรียญทองในโอลิมปิก 1992 ที่บาร์เซโลนา ด้วยการเอาชนะ โคอิจิ โมริชิตะ นักวิ่งชาวญี่ปุ่น อดีตเจ้าอาณานิคมของพวกเขา 

เขายังได้รับเกียรติให้เป็นผู้วิ่งคบเพลิงในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล รวมถึงจารึกชื่อในตำราประวัติศาสตร์ ในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศอีกด้วย ต่างจากที่ญี่ปุ่น ที่ระบุไว้สั้น ๆ ว่าเขาเป็นเพียงนักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิกเท่านั้น 

ซน ใช้ชีวิตมาจนถึงปี 2002 ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบในวัย 90 ปี แต่ชื่อของเขายังคงอยู่ในใจของชาวเกาหลี ทั้งในฐานะวีรบุรุษของชาติ และการไม่ยอมจำนนต่อเจ้าอาณานิคม

“ชาวญี่ปุ่นห้ามนักดนตรีไม่ให้เล่นเพลงของเรา พวกเขาห้ามนักร้องของเราไม่ให้ร้องเพลง และทำให้นักพูดของเราเงียบเสียง” ซน กล่าวเอาไว้ไม่นานก่อนเสียชีวิต

“แต่พวกเขาไม่สามารถห้ามผมจากการวิ่งได้”