เหรียญแห่งความคับแค้น : เมื่อนักวิ่งเกาหลีคว้าทองโอลิมปิกภายใต้ธงญี่ปุ่น

การคว้าเหรียญทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ ควรจะเป็นความภาคภูมิใจให้แก่นักกีฬา แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ ซน กีจอง นักวิ่งชาวเกาหลี  เมื่อมันได้มาจากการลงแข่งในนามของ “ญี่ปุ่น” ชาติที่ยึดครองพวกเขา 

เหตุการณ์นี้ ต้องย้อนกลับไปในโอลิมปิก 1936 ที่เบอร์ลิน เยอรมัน เมื่อ ซน กีจอง ได้เป็นตัวแทนของทีมชาติญี่ปุ่น มาลงชิงชัยในการวิ่งมาราธอน 

อันที่จริง เขาถือเป็นความหวังสำหรับญี่ปุ่น จากผลงานอันลือลั่น ด้วยการคว้าแชมป์มาราธอน 9 รายการ จาก 12 รายการ ในช่วงปี 1933-1936 รวมไปถึงโตเกียวมาราธอน 1935 ที่สามารถทำลายสถิติของ ฮวน คาร์ลอส ซาบาลา เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 1932 อีกด้วย 

แต่สำหรับ ซน การมาโอลิมปิกครั้งนั้น มันคือความเจ็บปวด เพราะเขาต้องมาในฐานะตัวแทนของชาติที่ปกครองพวกเขาอย่างโหดร้าย หลังจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีตั้งแต่ปี 1910 นอกจากนี้ เขายังต้องละทิ้งชื่อเดิม และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ซน คิเตอิ ให้เหมือนเป็นชาวญี่ปุ่น อีกด้วย 

ทำให้ ซน พยายามใช้การแข่งขันครั้งนั้นในฐานะเครื่องมือประท้วงต่อผู้รุกราน ทั้งการบอกคนอื่นว่าเขาไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่เป็นคนเกาหลี ไปจนถึงเซ็นชื่อตัวเองด้วยอักษรเกาหลี รวมถึงวาดภาพแผนที่คาบสมุทรเกาหลี (บางข้อมูลบอกว่าธงเกาหลี) ไว้ข้างลายเซ็น

แต่สุดท้าย ซน ก็หนีชะตากรรมของตัวเองไม่พ้น เมื่อเขาต้องลงแข่งในฐานะตัวแทนของชาติอาณานิคม โดยมีธงของญี่ปุ่น อยู่บนหน้าอก

อย่างไรก็ดี เมื่ออยู่ในสนาม ซน ก็พยายามทำให้ดีที่สุด แม้ว่าเขาจะเริ่มต้นได้ไม่ดีในช่วงแรก แต่ก็สามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วง 2 ไมล์สุดท้าย ก่อนจะเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 29 นาที 19 วินาที 

“ผมมั่นใจว่าผมจะชนะ แต่ตอนที่ออกสตาร์ทผมเห็นนักวิ่งเก่ง ๆ วิ่งผ่านผมไป หลังจากผ่าน 10 กิโลเมตรแรกผมก็เริ่มเห็นพวกเขาออกจากการแข่งขัน ผมเลยคิดว่า ‘บางทีผมอาจจะชนะการแข่งขันครั้งนี้'” ซน กล่าวกับ CS Monitor เมื่อปี 1988

“ตลอด 4 ปีผมฝึกซ้อมมาเพื่อเป้าหมายนั้น ถ้าผมแพ้ 4 ปีที่ผ่านมามันคงสูญเปล่า ความพอใจแบบนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนที่ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์นั้นจะเข้าใจ มันคือการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติสำหรับผม และผมก็ชนะ” 

แต่นั่นก็เหมือนจุดเริ่มต้นของความขมขื่น เพราะแม้ว่าเขาจะสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการคว้าเหรียญทองแรกให้กับตัวเอง แต่มันคือการคว้าแชมป์ในฐานะตัวแทนของญี่ปุ่น 

ซน ต้องขึ้นไปอยู่บนโพเดียม มองธงชาติของญี่ปุ่นเชิญขึ้นสู่ยอดเสา พร้อมกับเพลง Kimigayo เพลงชาติญี่ปุ่นที่กำลังบรรเลง จนทำให้เขาบอกว่านั่นคือช่วงเวลาที่อัปยศที่สุดในชีวิต 

“ตอนที่ผมขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นและเพลงชาติบรรเลงพร้อมกับเชิญธงขึ้น มันเป็นตอนที่ผมรู้สึกเสียใจกับคนที่ไม่มีประเทศ นั่นคือผม คนเกาหลีที่ชนะการแข่งขันภายใต้ธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่น” ซน ย้อนความหลังกับ CS Monitor

ทำให้ช่วงเวลานั้น แทนที่จะเชิดหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ซน เลือกที่จะก้มมองพื้น แล้วเอาต้นโอ้คมาบังธงชาติญี่ปุ่นที่หน้าอกเอาไว้ 

“สำหรับตัวผม และอันดับ 3 ที่เป็นคนเกาหลีเหมือนกัน พวกเราต่างก้มหัวลง เรากำลังร้องไห้ มันไม่ใช่เพราะชัยชนะแต่เป็นน้ำตาแห่งความโศกเศร้าและความคับข้องใจที่มันไม่ใช่ชัยชนะของเรา” ซนกล่าว 

ขณะเดียวกัน ในระหว่างการสัมภาษณ์ เขาพยายามใช้ความสำเร็จนี้เป็นเครื่องมือประท้วงการรุกรานของญี่ปุ่น ด้วยการบอกว่าเขาเป็นคนเกาหลีไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่ล่ามปฏิเสธที่จะแปลคำพูดนี้ 

“ซนตระหนักดีถึงแนวคิดของการถูกยึดครองจากต่างชาติ และเขาก็พยายามจะพูดเรื่องนี้ในการแถลงข่าว” เดวิด วอลเลชินสกี นักประวัติศาสตร์โอลิมปิก อธิบายกับ New York Times

นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ซน ยังพยายายามเน้นคำว่า “ยึดครอง” ด้วยนัยยะที่ต้องการสื่อให้โลกได้เห็นว่าสถานะของชาวเกาหลีตอนนี้เป็นอย่างไร หลังนักข่าวถามถึงเบื้องหลังแห่งความสำเร็จ 

“ร่างกายของมนุษย์สามารถทำอะไรได้มากทีเดียว จากนั้นหัวใจและจิตวิญญาณจะเข้ามายึดครอง” ซนกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการคว้าเหรียญภายใต้ธงญี่ปุ่น แต่เขาก็กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวเกาหลี ถึงขนาดที่ Dong-a Ilbo หนังสือพิมพ์รายวันของเกาหลี เอาภาพ ซน ตอนรับเหรียญขึ้นหน้าหนึ่ง แต่ลบธงญี่ปุ่นออก

อย่างไรก็ดี ชะตากรรมของ ซน หลังจากนั้น กลับสวนทาง เมื่อเขาถูกญี่ปุ่นแบนจากการแข่งขัน และส่งคนมาจับตามองอย่างเข้มงวด เนื่องจากเกรงว่าจะใช้ความสำเร็จของเป็นเครื่องมือปลุกระดมชาวเกาหลีให้ประกาศเอกราช 

ขณะเดียวกัน ซน ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อของจักรวรรดิญี่ปุ่น ในการชักชวนเด็กหนุ่มชาวเกาหลีเข้ามาเป็นทหารในกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขาบอกว่ามันคือ “ความเสียใจที่สุดในชีวิต” 

ทว่า ท้ายที่สุดเขาก็หลุดพ้นจากพันธนาการ หลังญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แพ้สงครามในปี 1945 เขากลายมาเป็นโค้ชนักวิ่งให้ทีมชาติเกาหลี และสามารถปลุกปั้น ฮวาง ยองโช คว้าเหรียญทองในโอลิมปิก 1992 ที่บาร์เซโลนา ด้วยการเอาชนะ โคอิจิ โมริชิตะ นักวิ่งชาวญี่ปุ่น อดีตเจ้าอาณานิคมของพวกเขา 

เขายังได้รับเกียรติให้เป็นผู้วิ่งคบเพลิงในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล รวมถึงจารึกชื่อในตำราประวัติศาสตร์ ในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศอีกด้วย ต่างจากที่ญี่ปุ่น ที่ระบุไว้สั้น ๆ ว่าเขาเป็นเพียงนักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิกเท่านั้น 

ซน ใช้ชีวิตมาจนถึงปี 2002 ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบในวัย 90 ปี แต่ชื่อของเขายังคงอยู่ในใจของชาวเกาหลี ทั้งในฐานะวีรบุรุษของชาติ และการไม่ยอมจำนนต่อเจ้าอาณานิคม

“ชาวญี่ปุ่นห้ามนักดนตรีไม่ให้เล่นเพลงของเรา พวกเขาห้ามนักร้องของเราไม่ให้ร้องเพลง และทำให้นักพูดของเราเงียบเสียง” ซน กล่าวเอาไว้ไม่นานก่อนเสียชีวิต

“แต่พวกเขาไม่สามารถห้ามผมจากการวิ่งได้” 

 

Maruak Tanniyom

Share
Published by
Maruak Tanniyom

Recent Posts

“เพื่อนร่วมรุ่นฮาก” – “มือขวา อาร์เน่อ” บอก 2 คนนี้เหมือนกันแค่ทรงผม

ฟุตบอลของ เอริค เทน ฮาก และ อาร์เน่ สล๋อต ต่างมีแนวทางของตัวเองกันทั้งคู่ อาจจะไม่ได้เอาสไตล์ที่ถือเป็นศาสตร์เบื้องต้นของฟุตบอลดัตช์ทั้ง 2 แบบ ไม่ว่าจะจาก โยฮัน ครัฟฟ์ หรือ…

14 hours ago

ใครเตะเยอะไป? รู้จักลีกบราซิลสุดโหดหวดหลัก 60 นัดต่อฤดูกาล

ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก รูปแบบใหม่ ประเดิมนัดแรกกันไปแล้วเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากเหล่าผู้เล่น ที่มองว่าพวกเขากำลังจะลงเตะ “มากเกินไป” ในหนึ่งฤดูกาล อย่างไรก็ดีในอีกซีกโลก มีลีกประเทศหนึ่งที่เตะกันอย่างดุเดือดในระดับ 50-60 นัดต่อฤดูกาลอยู่เสมอ และ บราซิล ก็คือประเทศนั้น…

17 hours ago

อาร์เตต้าชี้ปืนเตะ UCL วันพฤหัสไม่เสียเปรียบเรือ ยันจัดเต็มเจอ อตาลันต้า

มิเกล อาร์เตต้า กุนซือหนุ่มของอาร์เซน่อล เผยว่าการที่ต้องลงเตะเกมแรกของศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ ลีก เฟส ที่จะต้องบุกเยือนแชมป์ ยูโรปา ลีก อย่างอตาลันต้าในคืนวันพฤหัสบดี ไม่น่าจะทำให้ทีมปืนใหญ่เสียเปรียบ…

20 hours ago

แปลกกว่าที่เคย : เผยเหตุผล ทำไมปีนี้มีเกม UCL เตะวันพฤหัสบดี

ปกติแล้ว ศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มักจะแข่งกันในคืนวันอังคารหรือไม่ก็คืนวันพุธ มีเพียงแค่เกมรอบชิงชนะเลิศที่จะเตะกันในคืนวันเสาร์เท่านั้นที่เตะในวันที่แตกต่างจากรอบปกติ แต่ในฤดูกาลนี้ถือเป็นเรื่องที่แปลกไปจากที่เคยพอสมควร เมื่อจะมีเกม UCL ในคืนวันพฤหัสบดีด้วย โปรแกรม แชมเปี้ยนส์ ลีก วันพฤหัสบดีที่…

23 hours ago

ฮาลันด์พลาดโอกาสโค่นสถิติพี่โด้ หลังยิงงูใหญ่ไม่ได้

เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ พลาดโอกาสโค่นสถิติที่ไม่เคยมีใครใกล้เคียงจะโค่นลงได้ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ลงอย่างน่าเสียดาย หลังจากที่ไม่สามารถมีชื่อบนสกอร์บอร์ดได้สำเร็จ ในเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ ลีก เฟส ที่…

23 hours ago

มือขวาอาร์เตต้า รับงานปุ๊ปนั่งดูวีดีโอย้อนหลัง 2 ปี เพื่อแก้เซ็ตพีซโดยเฉพาะ

มิเกล อาร์เตต้า รับงานกับ อาร์เซน่อล และไม่ได้ร้องขอแค่การเสริมทัพเพื่อได้นักเตะที่ถูกต้องตรงปรัชญาเท่านั้น แต่เขายังเรียกร้องการเสริมทีมงานสต๊าฟฟ์ที่แก้ไขจุด่อนทุกทีมที่เคยมี โดยเฉพาะเรื่องของลูกตั้งเตะที่เป็นจุดสลบของทีมมาตลอด กระบวนการสรรหาของ อาร์เซน่อล เริ่มขึ้นหลังจากนั้น คนที่ อาร์เตต้า ร้องขอคือ นิโคลาส โจเวอร์…

1 day ago