วัยเยาว์ที่สิ้นสูญ : เมื่อทีมรักบี้อุรุกวัยต้องกินศพเพื่อนเพื่อชีวิตรอด

Maruak Tanniyom

April 02, 2024 · 2 min read

วัยเยาว์ที่สิ้นสูญ : เมื่อทีมรักบี้อุรุกวัยต้องกินศพเพื่อนเพื่อชีวิตรอด
กีฬาอื่น ๆ | April 02, 2024
จุดเริ่มต้นของความสยอง ที่ 1 ใน 16 ของผู้รอดชีวิตตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด

ชีวิตคนเราบางครั้งก็ถูกบีบให้ทำอะไรสุดขั้ว ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่นเดียวกับทีมรักบี้จากอุรุกวัยทีมนี้ ที่ต้องเผชิญกับคำถามที่หลอกหลอนพวกเขาไปตลอดทั้งชีวิต

“ผมไม่เคยลืมรอยเชือดแรกในรอบ 9 วันหลังเครื่องบินตก” โรแบร์โต คาเนสซา กล่าว

“เราวางเนื้อแช่แข็งบาง ๆ ไว้บนแผ่นโลหะ ในที่สุดพวกเราก็กินเนื้อนั้นตอนที่เราทนไม่ไหว”

พวกเขาคือผู้ที่เหลืออยู่จากเหตุเครื่องบินตกบนเทือกเขาแอนดีสในปี 1972 และคิดเพียงอย่างเดียวว่าเอาชีวิตรอดจากตรงนี้ให้ได้

“เราแต่ละคนต่างตัดสินใจในช่วงเวลาของตัวเอง และครั้งหนึ่งพอเราตัดสินใจไปแล้ว มันหันหลังกลับไม่ได้”

“มันเป็นการบอกลาความไร้เดียงสาครั้งสุดท้ายของเรา”

ย้อนกลับในตุลาคม 1972 มันน่าจะเป็นวันแห่งยินดี เมื่อโอลด์ คริสเตียน คลับ สโมสรรักบี้จากอุรุกวัยได้รับข่าวดีว่า ในการแข่งขันที่ประเทศชิลี พวกเขาจะได้นั่งเครื่องบินเหมาลำของกองทัพอากาศ ด้วยอภินันทนาการจากประธานสโมสร

เครื่องบินทะยานออกจากสนามบินมอนเตวิเดโอ ในวันที่ 12 ตุลาคม 1972 โดยนอกจากทีมรักบี้แล้ว บนเครื่องยังมีเพื่อน และครอบครัว ที่ตามมาเชียร์รวมแล้วกว่า 40 ชีวิต และลูกเรืออีก 5 ชีวิต

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เครื่องเทคออฟออกไปได้ไม่นาน พวกเขาก็ต้องแวะจอดพักที่เมืองเมนโดซา ประเทศอาร์เจนตินา ชั่วคราว เนื่องจากสภาพอากาศย่ำแย่เต็มที่ โดยเฉพาะพายุหิมะที่พัดกระหน่ำไปทั่วเทือกเขาแอนดีส ที่พวกเขาต้องบินผ่าน

พวกเขาออกเดินทางอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม โดยใช้เส้นทางทางใต้ที่ปลอดภัยกว่า ทว่าด้วยทัศนียภาพที่ย่ำแย่ อันเนื่องมาจากหมอกลงจัด บวกกับความผิดพลาดของนักบินที่ลดระดับเพราะเข้าใจว่าใกล้ถึงเมืองคูริโค ของชิลี ทั้งที่ยังเหลืออีก 70 กิโลเมตร ก็ทำเที่ยวบิน 571 ชนเข้ากับภูเขาอย่างจัง

แรงกระแทกทำให้หางเครื่องบินหักทันที และทำให้ผู้โดยสาร 5 คน และลูกเรืออีก 2 คนถูกดูดออกไป จากนั้นเครื่องบินก็ไหลลงจากภูเขาด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตร ก่อนจะชนเข้ากับเนินหิมะขนาดใหญ่ และคร่าชีวิตนักบินในทันที

“ผมกระเด็นไปข้างหน้าจากพลังอันมหาศาล และได้รับแรงกระแทกอย่างแรงที่หัว ผมคิดว่าผมต้องตายแน่ๆ” โรแบร์โต คาเนสซา หนึ่งในผู้โดยสารในเที่ยวบินลำนั้นกล่าวในหนังสือของเขา

“ผมจับเก้าอี้ไว้แน่น และท่อง Hail Mary บางคนร้องไห้และพูดว่า ‘พระเจ้า ช่วยลูกด้วย ช่วยลูกด้วย’ มันเป็นฝันร้ายกว่าที่จะจินตนาการได้ เด็กอีกคนร้องว่า ผมมองไม่เห็น ตอนที่เขาขยับหัว ผมเห็นสมองของเขา และเศษเหล็กไปอยู่ที่ท้องของเขา”

แม้ว่าตอนแรกจะเหลือผู้รอดชีวิตถึง 33 คนจาก 45 คน แต่พวกเขากำลังยืนอยู่บนภูเขาที่สูงชันและปกคลุมไปด้วยหิมะ โดยมีเสบียงติดตัวเพียงน้อยนิด และทำให้คืนแรกต้องมีผู้สังเวยชีวิตไปอีก 5 คนจากความหนาวเหน็บ และอีก 6 คนในวันต่อมา  

ส่วนคนที่เหลือก็พยายามอย่างหนัก เพื่อเอาชีวิตรอด ทั้งเอากระเป๋า และเศษซากเครื่องบินมาทำเป็นเพิงพักพิง เอาเบาะรองนั่งมาทำเป็นรองเท้าลุยหิมะ หรือเอาที่บังแดดในห้องนักบิน และสายชั้นในมาทำเป็นแว่นกันหิมะ

พวกเขายังคิดหาวิธีทำน้ำดื่มด้วยการเอาหิมะมาละลาย รวมถึงเขียนอักษร SOS ด้วยลิปติก บนหลังคาเครื่องบิน ด้วยความหวังว่าทีมค้นหาจะมาพบ แต่มันก็เป็นแค่ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เท่านั้น

เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายขึ้น เพราะอันที่จริงการต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อุณภูมิ -30 องศาฯ ก็ยากพอแล้ว นี่พวกเขายังมีเสบียงเพียงน้อยนิด ไม่มียา ไม่มีเสื้อผ้าที่เหมาะสม อีกทั้งยังได้รับข่าวร้ายจากวิทยุที่ค้นเจอในซากเครื่องบินว่าการค้นหาพวกเขาได้ยุติไปแล้ว

ตอนนั้นพวกเขาเหลือเพียงช็อกโกแลต 8 แท่ง, หอยแมลงภู่ 1 กระป๋อง, แยม 3 ขวด, ถั่วและผลไม้แห้งอีกนิดหน่อย, อมยิ้มไม่กี่แท่ง และไวน์อีก 1 ขวด ทำให้แม้ว่าจะพยายามจัดสรรเสบียงที่มีอยู่ให้เหลือกินให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นให้ผู้ชายกินถั่ว 3 วันต่อ 1 เม็ด แต่สุดท้ายมันก็หมดไปในหนึ่งสัปดาห์

“ที่ระดับความสูงขนาดนั้น แคลอรีที่ร่างกายต้องการนั้นเยอะมาก พวกเราอดอยากอย่างหนัก ไร้ความหวังในการหาอาหาร” นันโด แปร์ราโด ที่มีอายุเพียง 22 ปีในตอนนั้นกล่าว

ท่ามกลางความหิวโหยและสิ้นหวัง สายตาของผู้รอดชีวิตก็เหลือบไปเห็นศพของเพื่อนที่นอนอยู่ มันยังอยู่ในสภาพที่ดีจากความเย็นที่ช่วยรักษาความสดเอาไว้ และนี่อาจจะเป็นหนทางสุดท้ายที่ทำให้พวกเขารอดชีวิตไปได้

“เป้าหมายร่วมกันของพวกเราคือเอาชีวิตรอด แต่เราขาดแคลนอาหาร” โรแบร์โต คาร์เนสซา ย้อนความทรงจำในหนังสือของเขาเมื่อปี 2016  

“เราอยู่มานาน แต่ตั้งแต่สิ่งที่เราเจอบนเครื่องบินหมดลง เราไม่เจอพืชหรือสัตว์อะไรเลย”  

“เรารู้คำตอบ แต่มันเลวร้ายเกินไปที่จะคิด ศพเพื่อนของเราและเพื่อนร่วมทีม ถูกเก็บไว้จากหิมะและน้ำแข็ง ที่ทำให้มันยังสด การได้รับโปรตีนน่าจะช่วยให้เรารอดได้ แต่เราควรทำอย่างนั้นหรือ?”

เนื่องจากพวกเขาไม่เพียงเป็นคาทอลิกเท่านั้น แต่ศพเหล่านั้นยังเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมทีมของเขา แต่สุดท้ายความหิวโหย ก็ทำให้พวกเขาตัดสินใจในสิ่งที่ไม่อยากทำมากที่สุด

คาเนสซา ที่ตอนนั้นเป็นนักศึกษาแพทย์ เป็นหัวหอกในการชำแหละ เขาใช้เศษแก้วจากกระจกตัดชิ้นส่วนจากร่างที่ถูกแช่แข็งเป็นชิ้นเล็ก ๆ

“ทุกคนกำลังรอบางคนหรือบางอย่าง หรือไม่มีใครทำอะไรสักอย่างแล้วรอให้จุดจบมาถึง”  คาเนสซากล่าว

“นั่นเป็นตอนที่ผมทำในสิ่งที่ต้องทำ คือใช้ศพของคนที่เพิ่งตาย”

ศพนักบิน และผู้ช่วยคือรายแรก ๆ ที่พวกเขาเลือกกิน เนื่องจากไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่ตัดสินใจกินศพ ผู้หญิงรายหนึ่งปฏิเสธที่จะใช้วิธีนี้ และทำให้เธอน้ำหนักลดลงจาก 60 กิโลกรัม เหลือ 25 กิโลกรัม

อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่พวกเขาเผชิญ เมื่อในคืนหนึ่งได้เกิดหิมะถล่มลงมา และทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มถึง 8 ราย ส่วนที่เหลือตัวจมอยู่ใต้หิมะถึง 3 วันกว่าจะขึ้นกลับมาได้

นั่นทำให้พวกเขารู้ดีว่า การรอคอยความช่วยเหลืออยู่ที่นี่ สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องเจอคือ “ความตาย” อย่างแน่นอน ทำให้พวกเขาคิดว่าจะต้องออกเดินทางไปตามหาคนมาช่วย แต่ปัญหาก็คือพวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของชิลี

และ 2 เดือนหลังเกิดเหตุ คาเนสซา และ แปร์ราโด ก็ตัดสินใจว่าพวกเขาจะต้องออกไป แม้จะไม่มีแผนที่ อาหาร หรือประสบการณ์ในการปีนเขามาเลยก็ตาม

พวกเขาตัดสินว่าจะเดินไปทางตะวันตกของภูเขา แต่สภาพอากาศก็ย่ำแย่เกินไป ทำให้ในวันที่ 9 ของการเดินทาง ทั้งคู่เลือกจะลงไปทางหุบเขา ท่ามกลางความเหนื่อยล้าจนถึงขีดสุด

โชคดีที่มันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เมื่อมันทำให้เขาเจอกับคนที่กำลังขี่ม้าอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ ก่อนที่พวกเขาจะสื่อสารผ่านกระดาษและปากกาที่คนอีกฝั่งขว้างมา และบอกว่าพวกเขาคือผู้รอดชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก และมีอีก 14 คนที่กำลังรอการช่วยเหลือ

หลังจากนั้นไม่นาน เฮลิค็อปเตอร์ ของกองทัพชิลี ก็ออกระดมการค้นหา และ 72 วันหลังเครื่องบินตก หรือวันที่ 23 ธันวาคม 1972 ในที่สุดพวกเขาก็เจอผู้รอดชีวิตทั้ง 16 คน ในสภาพที่อิดโรย และได้รับบาดเจ็บ ทั้งกระดูกหัก หิมะกัด และไข้ที่เกิดจากความสูง

เรื่องราวของพวกเขา กลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ และทั่วโลก เพราะการเอาตัวรอดหลังเครื่องบินตก นั้นก็ยากแล้ว แต่นี่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 เดือน ภายใต้สภาพอากาศที่สุดขั้ว  

เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า “ปาฏิหาริย์แห่งเทือกเขาแอนดีส” และถูกบอกเล่าผ่านหนังสือหลายเล่มจากผู้รอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็น Survive! หรือ Alive: The Story of the Andes Survivors  หรือ I Had to Survive: How a Plane Crash in the Andes Inspired My Calling to Save Lives

นอกจากนี้ มันยังถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ที่ชื่อว่า ALIVE ที่นำแสดงโดย อีธาน ฮอว์ก และออกฉายในปี 1993 หรือล่าสุดเมื่อปี 2023 อย่าง Society of the Snow ที่ทำมาจากหนังสือในชื่อเดียวกันของ เปาโล วิเอร์ซี หนึ่งในผู้ประสบเหตุครั้งนั้น

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้รอดชีวิต แม้จะผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายมาได้ แต่พวกเขากลับรู้สึกผิดกับวิธีที่ทำลงไป จึงตัดสินใจบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเทือกเขาแอนดีส กับญาติของผู้เสียชีวิต ที่พวกเขาได้กินไปเพื่อเอาตัวรอด 

“ผมบอกเธอว่า ‘แม่ครับ เรากินเพื่อนของเราที่ตายไป’ และเธอก็บอกว่า ‘มันโอเค ไม่เป็นไรลูกรัก ไม่เป็นไร’” คาเนสซากล่าวกับ People

“สิ่งเดียวที่ผมอยากทำคือไปหาครอบครัวเพื่อนผมที่เสียชีวิตและบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ผมไม่ได้คาดหวังให้เข้าใจ แต่พวกเขาควรรู้ว่ามันกิดอะไร”

“แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ผู้คนเปิดใจและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี พวกเขาเข้าใจว่าเราต้องทำบางอย่างที่ต้องทำ ดังนั้นทุกอย่างมันจึงราบรื่น”

ปัจจุบัน คาเนสซา มีอาชีพเป็นแพทย์หัวใจเด็ก ขณะที่ แปร์ราโด กลายเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ที่คอยช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บทางจิตใจ แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ไม่เคยลืมเหตุการณ์เมื่อปี 1972 เพราะมันทำให้พวกเขามีชีวิตมาจนถึงตอนนี้

“ชีวิตเปราะบางกว่าที่คิด” คาเนสซากล่าวกับ  Sputnik News เมื่อปี 2019

“โชคร้ายที่โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น เราควรเข้าใจว่าวันใดวันหนึ่งอาจเป็นวันสุดท้ายในชีวิต ดังนั้นจงใช้ชีวิตอย่างมีค่าทุกวินาที”