นักฟุตบอลเกาหลีเหนือ ถ้าแข่งแพ้ต้องไปใช้แรงงานจริงหรือ ?

Maruak Tanniyom

March 25, 2024 · 1 min read

นักฟุตบอลเกาหลีเหนือ ถ้าแข่งแพ้ต้องไปใช้แรงงานจริงหรือ ?
ฟุตบอล | March 25, 2024
เมื่อความพ่ายแพ้ ทำให้ผู้เล่นทีมชาติเกาหลีเหนือ อาจจะลงเอยในสิ่งที่ไม่มีชาติไหนทำกัน ทว่าแท้จริงมันเป็นเช่นไรกันแน่

แม้ว่าเกาหลีเหนือ จะเป็นหนึ่งในชาติที่น่าจับตามองของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึง 2 ครั้ง หรือการคว้าแชมป์โลกในระดับเยาวชน แต่หลายคนก็เป็นห่วงสวัสดิภาพของผู้เล่นยามทีมต้องประสบกับความปราชัย

เนื่องจากมีข่าวลือหนาหูว่า หากพวกเขาพ่ายแพ้คู่แข่งอย่างอับอาย โดยเฉพาะการปราชัยต่อเกาหลีใต้ พวกเขาจะถูกลงโทษด้วยการส่งไปใช้แรงงานที่เหมืองถ่านหิน

อย่างไรก็ดี เรื่องเล่านี้มีความจริงแค่ไหน พวกเขายังคงถูกส่งไปใช้แรงงาน แม้กระทั่งในตอนที่โลกอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้วอย่างนั้นหรือ?

อันที่จริง การถูกส่งไปใช้แรงงานที่เหมืองของผู้เล่นเกาหลีเหนือ เริ่มระแคะระคายถึงหูชาวโลก หลังทัพโสมแดง ทำผลงานได้อย่างเซอร์ไพรส์ ผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ ในฟุตบอลโลก 1966 แถมยังสามารถยัดเยียดความปราชัยให้แก่ อิตาลี อดีตแชมป์โลก ในนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม

แม้ว่าเส้นทางของพวกเขา ต้องมาหยุดในรอบ 8 ทีมสุดท้าย หลังพ่ายโปรตุเกส ที่มี ยอดดาวยิงแห่งยุค 5-3 ทั้งที่ออกนำ 3-0 แต่นี่เป็นผลงานที่ดีที่สุดของตัวแทนจากเอเชียในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขากลับมีบทลงโทษที่รออยู่ที่บ้านเกิด เมื่อมีรายงานไปถึงหู คิม อิล ซูง ผู้นำสูงสุดในขณะนั้น ว่าหลังชนะอิตาลี ในรอบแรก นักเตะและโค้ชดันฉลองกันอย่างเต็มคราบ ซึ่งผิดกฎระเบียบของทีม และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้านโปรตุเกสไม่ไหว

บทลงโทษในตอนนั้นของพวกเขาก็คือถูกส่งไปใช้แรงงานหนักที่เหมืองถ่านหิน ซึ่งตรงกับคำยืนยันของ คัง ชอล ฮวาน นักเขียนชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ เจ้าของหนังสือโด่งดังชื่อ The Aquariums of Pyongyang

เขาเล่าว่าเจอกับ พัค ซุงจิน ผู้ยิงประตูเสมอชิลี และประตูเบิกร่องในเกมกับโปรตุเกส รวมถึงนักเตะทีมชาติเกาหลีเหนือคนอื่น ในค่ายแรงงาน ยกเว้นเพียงแค่ พัค ดูอิค ผู้ยิงประตูชัยในเกมกับอิตาลี

“ที่เปียงยาง การเล่นตลกในบาร์ของเหล่าผู้เล่นทีมชาติ ถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำของพวกชนชั้นกระฎุมพี, พวกฝ่ายขวา และถูกครอบงำโดยพวกจักรวรรดินิยมและมีความคิดที่แย่” คัง อธิบาย

“เมื่อกลับมาถึงเกาหลี ทั้งทีมยกเว้นแค่ พัค ที่ปวดท้องในคืนวันนั้น ถูกส่งไปยังค่ายกักกัน”

เขาอ้างว่า พัค ต้องทำงานอยู่ในค่ายกักกันถึง 20 ปี แต่ พัค และนักเตะทีมชาติเกาหลีเหนือคนอื่น ก็ออกมาปฏิเสธใน “The Game of Their Lives” ภาพยนตร์สารคดีของ BBC เมื่อปี 2002 ว่าไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ดี อดีตนักกีฬาทีมชาติเกาหลีเหนือหลายคน ก็ยืนยันการถูกส่งไปค่ายกักกัน เมื่อทำผลงานได้น่าผิดหวัง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ในทางกลับกันถ้าทำผลงานได้ดี พวกเขาก็จะได้รางวัลเป็นการตอบแทน

“คนที่ได้เหรียญรางวัลจะได้อพาร์ทเมนต์” อี ชาง ซู อดีตนักยูโดทีมชาติกาหลีเหนือ เจ้าของเหรียญเงิน ยูโด ชิงแชมป์โลก 1989 และเหรียญเงิน เอเชียนเกมส์ 1990

จากการรายงานของ องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ ระบุว่ามีคนราว 200,000 คน ที่ถูกบังคับให้ไปใช้แรงงาน โดยได้รับอาหารเพียงน้อยนิด และถูกขู่ว่าหากขัดขืนจะโดนประหาร

“ผมเคยถูกส่งไปทำงานที่เหมืองเป็นครั้งแรก เพราะเราแพ้ต่อเกาหลีใต้ในปักกิ่งเอเชียนเกมส์” อี กล่าวกับ Reuter

“หลังจากนั้นผมก็ถูกส่งไปทำงานในห้องต้มน้ำ เพียงเพราะผมได้คุยกับรองประธานหน่วย”

ข้อมูลดังกล่าวตรงกับ มุน คินัม อดีตโค้ชชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีออกจากประเทศเมื่อปี 2004 ที่เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ไว้ว่า “ผู้เล่นและโค้ชจะได้รับรางวัลเป็นบ้านหลังใหญ่ หากพวกเขาชนะ”

“แต่พวกเขาก็ต้องชดใช้ความพ่ายแพ้ด้วยการถูกส่งไปทำงานในเหมือง”

ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบัน การถูกส่งไปใช้แรงงานในเหมืองถ่านหิน จะไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการลงโทษแบบนี้จะหมดไป เพียงแต่มันถูกแทนที่ด้วยบทลงโทษแบบอื่น โดยขยับระดับการลงโทษนี้ไปอยู่ในระดับเกือบสูงสุดแทน

“คนที่ได้เหรียญรางวัล จะได้รับการตอบแทนด้วยการจัดแบ่งที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น, ส่วนแบ่งอาหารที่ดีขึ้น, รถยนต์ หรือบางทีอาจจะได้ของขวัญจากระบบ” โทชิมิตสึ ชิเงมูระ ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองอธิบาย

“แต่ผู้ที่ทำให้เขา (ผู้นำตระกูลคิม) รู้สึกผิดหวัง จะถูกลงโทษ ด้วยการย้ายไปอยู่ในที่พักที่แย่ลง ลดส่วนแบ่งอาหาร และในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ก็อาจถูกลงโทษด้วยการส่งไปเหมืองถ่านหิน”

ตัวอย่างที่เห็นภาพที่สุดคือฟุตบอลโลก 2010 เมื่อมีรายงานว่า คิม จอง อึน ทายาทของเกาหลีเหนือในตอนนั้น ไม่พอใจอย่างมากกับการพ่าย 3 เกมรวดในรอบแบ่งกลุ่ม แถมหนึ่งในนั้นยังเป็นการปราชัยในเกมกับโปรตุเกส ที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติถึง 7-0

จากรายงานของ Radio Free Asia ระบุว่า หลังทัวร์นาเมนต์จบลง  นักเตะทีมชาติเกาหลีเหนือชุดนั้น ต่างถูกเรียกมาตำหนิ หรือที่พวกเขาเรียกว่า “การอภิปรายครั้งใหญ่” ที่หอวัฒนธรรม ในกรุงเปียงยาง เป็นระยะเวลากว่า 6 ชั่วโมง ด้วยข้อหา “ทรยศอุดมการณ์ของชาติ” โดยมีนักกีฬา และนักเรียนกีฬากว่า 400 คน รวมถึงรัฐมนตรีกีฬาในตอนนั้นเป็นพยาน  

“ผู้เล่นที่เข้าร่วมฟุตบอลโลก ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ยกเว้นแค่ จอง เตเซ และ อันยอง ฮัค (นักเตะเกาหลีเหนือที่เกิดในญี่ปุ่น)” นักธุรกิจชาวจีนที่อ้างว่าได้ข้อมูลมาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกาหลีเหนืออธิบาย Radio Free Asia

“มีข่าวลือว่าโค้ช คิม จุง ฮัน โค้ชของทีมยังถูกขับออกจากพรรคแรงงาน หรือถูกส่งไปใช้แรงงานในไซต์ก่อสร้างที่กรุงเปียงยาง แต่ข่าวลือดังกล่าวยังยากจะตรวจสอบ”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยความที่เกาหลีเหนือ ยังเป็นประเทศปิด และหาข้อมูลได้ยาก แถมหลายอย่างยังดูคลุมเครือ ทำให้ยากจะฟันธงว่าการลงโทษ ด้วยการส่งไปใช้แรงงานหนัก ยังคงมีอยู่หรือไม่

และตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน เรื่องนี้ก็คงจะเป็นปริศนาต่อไป