ขบวนการลอบเข้าเมือง : เส้นทางสู่ฮีโร่แมนฯ ยูฯ ของ อาหมัด ดิยัลโล

Maruak Tanniyom

March 18, 2024 · 1 min read

ขบวนการลอบเข้าเมือง : เส้นทางสู่ฮีโร่แมนฯ ยูฯ ของ อาหมัด ดิยัลโล
ฟุตบอล | March 18, 2024
พบกับเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของฮีโร่คนใหม่ปีศาจแดง กับการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์

อาหมัด ดิยัลโล กลายเป็นซูเปอร์ซับของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อย่างแท้จริง หลังลงมาซัดประตูชัยในนาทีที่ 120+1 พาปีศาจแดง เอาชนะ ลิเวอร์พูล คู่รักคู่แค้นไปอย่างสุดมัน 4-3 ในฟุตบอลเอฟเอคัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย เมื่อคืนที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ดี กว่าที่ ดิยัลโล จะมาถึงจุดนี้ กลับไม่ได้ง่ายดาย เมื่อเขาต้องยอมอยู่ในวงจรค้ามนุษย์ เพื่อโอกาสในเวทียุโรป และทำให้ชีวิตก่อนหน้านั้นเต็มไปด้วยปริศนา 

และนี่คือเรื่องราวของชายผู้นี้

ตามประวัติของ อาหมัด ดิยัลโล ตราโอเร เขาเกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2002 ที่เมืองอาบิดจาน เมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของ ไอวอรี โคสต์ และได้เริ่มต้นเส้นทางลูกหนังในระดับเยาวชนกับ โบกา บาร์โก ก่อนจะมาอยู่กับทีมเยาวชนอตาลันตา ในอิตาลี เมื่อปี 2015 

ในปี 2019 เขาได้ประเดิมสนามให้กับทีมชุดใหญ่ของ อตาลันตา ใน เซเรียอา และได้ลงเล่นในเกมระดับทวีปอย่าง ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ในฤดูกาล 2020-2021 ก่อนที่ แมนฯ ยูไนเต็ด จะทุ่มเงินกว่า 37 ล้านปอนด์ กระชากตัวมาร่วมทัพในฤดูกาลดังกล่าว 

อย่างไรก็ดี ขณะที่เส้นทางของ ดิยัลโล กำลังรุ่งโรจน์ หลังถูกปล่อยให้ กลาสโกว เรนเจอร์ ยืมตัวไปใช้งาน เขาก็ตกเป็นข่าวครึกโครมว่า ได้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย หลังสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (FICG) พบว่าดาวเตะชาวไอวอรีโคสต์ ใช้เอกสารปลอม ในการย้ายมาเล่นในแดนมะระโรนี 

จากการรายงานของอัยการอิตาลี ระบุว่า ดิยัลโล และ ฮาหมัด จูเนียร์ ตราโอเร (ปัจจุบันเล่นให้กับนาโปลี) ถูกพาเข้ามาโดยผู้ใหญ่ 5 คน ผ่านเมืองเร็กจิโอ เอมิเลีย ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของอิตาลี โดยมี ฮาเหม็ด มามาดู ทราโอเร และมารินา เอ็กวิค เทเฮอร์ ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ปลอม ๆ ของพวกเขา

นอกจากนี้ จากคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลคดีนี้ที่ไม่ประสงค์ออกนามยังระบุว่าจากผลตรวจดีเอ็นเอ ชี้ชัดได้ว่า ดิยัลโล และ จูเนียร์ ตราโอเร ไม่ได้เป็นพี่น้องกัน และที่สำคัญ อาหมัด ดิยัลโล ทราโอเร ไม่ได้เป็นชื่อจริงของเขา ที่ทำให้ภายหลังเขาตัด “ตราโอเร” ออกจากชื่อ เหลือเพียง อาหมัด ดิยัลโล 

จากผลดังกล่าวทำให้ ดิยัลโล ถูกสั่งปรับเป็นเงินสูงถึง 42,000 ปอนด์ (1.7 ล้านบาท) จากข้อหาใช้เอกสารปลอม แค่ในคดีโกหกพ่อแม่ที่แท้จริง กลับไม่โดนเอาผิด เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสมัยเป็นผู้เยาว์ 

อย่างไรก็ดี เคสของ ดิยัลโล เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เมื่อจากรายงานของ Foot Solidaire เมื่อปี 2013 ระบุว่าในแต่ละปี จะมีเด็กจากแอฟริกาตะวันตกที่ใฝ่ฝันในเส้นทางฟุตบอลมากถึง 15,000 คน ถูกขบวนการค้ามนุษย์ลักลอบนำเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย

แน่นอนว่าเหตุผลสำคัญคือเพื่อพวกเขาให้หลุดพ้นจากความยากจน เช่นกันสำหรับ ไอวอรี โคสต์ บ้านเกิดของ ดิยัลโล ที่ยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง ขณะที่ประชาชนกว่าหลายล้านคน ต้องอัดแน่นเป็นปลากระป๋องอยู่ในเมืองอาบิจาน เพื่อความอยู่รอด 

“มันมีปัญหามากกว่านี้ในกานา และไนจีเรีย มันค่อนข้างแพร่หลาย เลยทีเดียว” เอเยนต์ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าวกับ The Athletic 

วิธีของขบวนการเหล่านี้คือ พวกเขาจะเปิดอคาเดมี เพื่อหาเด็กที่มีแวว แล้วดึงเข้ามาอยู่ในสังกัด แลกกับการจ่ายเงินเพียงเล็กน้อยให้กับครอบครัว ก่อนจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัวควบกับผู้ปกครองให้แก่นักเตะเหล่านั้น 

“มันอาจจะเป็นใครสักคนในท้องถิ่นที่จะมาดูแลเรื่องการเงินให้กับพวกเขา” เอเยนต์คนเดิมกล่าว 

พวกเขาอาจจะให้เงินนักเตะรุ่นเยาว์ไปซื้อรองเท้าใหม่ ไปจนถึงอาหาร ในฐานะการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับเส้นทางอาชีพในอนาคต เพราะหากผู้เล่นเหล่านั้นได้ย้ายทีม ผลตอบแทนก็จะตกมาอยู่ที่พวกเขาด้วย 

ในหลายเคส ผู้จัดการจะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ชี้แนะ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการโกงอายุ ที่หลายครั้งสโมสรก็มีส่วนร่วมด้วยเนื่องจากพวกเขาจะได้ผลประโยชน์ในตอนที่ขายนักเตะได้ และทำให้นักเตะหลายคนโดนเอาเปรียบ เนื่องจากพวกเขาโดนกุมความลับอันดำมืดนี้เอาไว้ 

และเมื่อนักเตะอยู่ในช่วงอายุที่ขายได้ พวกเขาก็จะลักลอบพาผู้เล่นเข้ามาในประเทศที่พวกเขามีวีซ่าอาศัยอยู่ โดยอ้างว่าเป็นลูกบ้าง เป็นหลานบ้าง ก่อนจะผลักดันให้ผู้เล่นเหล่านั้นเซ็นสัญญากับสโมสรในยุโรปให้ได้ 

ทว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือน ดิยัลโล เพราะมีผู้เล่นแอฟริกาจำนวนไม่น้อยที่ถูกลักลอบนำเข้ามา แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน แถมบางคนยังถูกหลอกให้จ่ายเงินเพื่อพามา โดยไม่ได้เซ็นสัญญาสักฉบับ 

“เราจ่ายเงินให้เอเยนต์ไป 2.5 ล้านฟรังก์ CFA (ราว 170,000 บาท) เขาทำวีซ่าให้ผม 6 เดือน แต่ไม่ได้เดินทางไปกับผม” เซดู คาบอเร จากบูร์กินา ฟาร์โซ กล่าว Vice

“ตอนนั้นผมอายุ 18 ปี เมื่อผมถึงมาร์กเซย์ เด็กหนุ่มผิวขาวมารับผมแล้วพาไปอยู่บ้านหลังใหญ่กับเด็กผิวดำที่อยากเป็นนักฟุตบอลเหมือนผมอีกหลายคน บางคนมาจากแอฟริกากลาง บางคนมาจากแอฟริกาตะวันตกและตะวันออก พวกเขาทั้งหมดต่างบอกว่าพวกเขาจ่ายเงินไปเป็นจำนวนมาก”

ซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้เล่นบางคนต้องลงเอยกับเส้นทางอาชญากรรม ทั้งเข้าไปอยู่ใน แก๊งค้ายาเสพติด ค้าประเวณี ไปจนถึงต้องเป็นแรงงานทาส ที่ลุกลามกลายเป็นปัญหาอื่น ๆ จนยาก  

แต่ถึงอย่างนั้น นักเตะจากแอฟริกา หลายคน ก็ยินยอมที่จะเข้ามาอยู่ในเส้นทางที่เสี่ยงนี้ เพราะมันอาจจะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้พวกเขา หลุดพ้นจากความยากลำบากในบ้านเกิด แม้ว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์นี้ก็ตาม 

“นี่เป็นเรื่องปกติในแหล่งบ่มเพาะนักฟุตบอลของแอฟริกาตะวันตก ที่ครอบครัวจะมองว่าฟุตบอลคือคนทางเดียวที่จะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน” เอ็ด ฮอว์ค ผู้เขียนหนังสือ The Lost Boys ที่บอกเล่าอุตสาหกรรมการค้ามนุษย์ สรุป