โศกนาฏกรรมป่าหินฮวงโห: อัลตร้ามาราธอนมรณะที่รัฐบาลจีนพยายามปิดปากผู้รอดชีวิต

Maruak Tanniyom

April 25, 2024 · 1 min read

โศกนาฏกรรมป่าหินฮวงโห: อัลตร้ามาราธอนมรณะที่รัฐบาลจีนพยายามปิดปากผู้รอดชีวิต
กีฬาอื่น ๆ | April 25, 2024
เมื่อการวิ่งสุดท้าทายกลายเป็นโศกนาฏกรรมหมู่ที่มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย

มันควรจะเป็นการวิ่งอัลตร้ามาราธอน ที่เต็มไปด้วยความสนุก กับการได้ชมทัศนียภาพอันงดงามของป่าหิน ทว่าสุดท้ายกลับต้องจบลงอย่างน่าเศร้า เมื่อต้องมีผู้สังเวยชีวิตหลายสิบราย เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น?

เหตุการณ์นี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2021 ซึ่งเป็นตอนที่การวิ่งระยะไกล หรืออัลตร้ามาราธอน ในจีนกำลังได้รับความนิยม ได้มีการแข่งขันวิ่งระยะไกลกว่า 100 กิโลเมตร ที่ตัดผ่านภูเขาสูงในอุทยานแห่งชาติป่าหินแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) ขึ้น

การแข่งขันครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมมากถึง 172 คน โดยนักวิ่งจะต้องเจอกับเส้นทางหฤโหด แถมบางช่วงยังลาดชันไม่ต่างจากการปีนเขา และมีจุดสูงสุดอยู่ที่ 2,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

อันที่จริง มันก็คือการวิ่งเทรลทั่วไป ที่ความท้าทายถือเป็นจุดขายในการดึงดูดนักวิ่งจากทั่วโลก ทว่า ที่ต่างออกไปคือความโหดนี้กลับทำให้นักวิ่งต้องเสียชีวิตไปมากถึง 21 คน

ในตอนแรกคาดกันว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างฉับพลันบนภูเขาสูง เนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีภาวะ Hypothermic หรือการที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการสัมผัสความหนาวเป็นเวลานาน

อาการนี้จะทำให้พวกเขาพวกเขาเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือนึกคิด บางครั้งคนที่เป็นอยู่ก็ไม่รู้ตัว และมันก็นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในท้ายที่สุด  

ซึ่งตรงกับคำให้การของผู้รอดชีวิตที่ระบุว่าอุณหภูมิรอบตัวพวกเขาลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายคนต้องหยุดวิ่งชั่วคราว บางคนจนถึงขั้นต้องเอาผ้าห่มฉุกเฉินออกมาห่มคลุมตัว

“พวกเขาบอกว่าบนภูเขามันหนาวเกินไป  และเราทุกคนต่างใส่เสื้อแขนสั้นและกางเกงขาสั้น บางคนบอกเราว่าให้รีบลงจากภูเขา และบางคนน้ำลายฟูมปากไปแล้ว” ลู่ ฉิง นักวิ่งและนักปีนเขาชื่อดังกล่าวกับ กล่าวกับ CCTV

แต่มันก็เริ่มมีกลิ่นทะแม่งๆ  เมื่อโพสต์ของผู้รอดชีวิต ซึ่งบอกเล่าประสบการณ์เฉียดตายบนโลกออนไลน์  กลับถูกลบโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่หลายคน ที่เคยออกมาให้ข้อมูล กลับปิดปากเงียบ ไปจนถึงปิดบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง

“เราไม่ได้อยากเป็นคนดังในโลกออนไลน์” จ้าง เฉี่ยวเถาที่เคยโพสต์เรื่องราวลงใน Weibo กล่าว

“เราอยากใช้ชีวิตอย่างสงบ ได้โปรดเถอะทุกคน โดยเฉพาะเพื่อนในโซเชียลมีเดียของผม อย่ารบกวนผม หรือถามอะไรผมอีก”

เช่นกันกับลูกสาวของ ลู เจิ้งยี่ หนึ่งในนักวิ่งที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ก็กลายเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งในโซเชียลมีเดีย หลังออกมาทวงถามความยุติธรรมและการรับผิดชอบจากผู้จัดงาน หลังการเสียชีวิตของพ่อเธอ

เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ไม่ประสงค์ดีต่อชาติ ที่รับงานมาจาก “กองกำลังต่างชาติ” และพยายามปล่อยข่าวลือเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลจีน ไม่ต่างจาก หวง ยิ่นเจิ้น ที่สูญเสียน้องชาย ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตามประกบ และสั่งห้ามคุยกับญาติคนอื่น

“พวกเขาไม่ให้เราติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นหรือนักข่าว พวกเขาจับตามองเรา” เธอกล่าวกับ New York Times

นั่นทำให้มันน่าจะมีอะไรบางอย่าง เพราะสำหรับจีน หากเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของรัฐ พวกเขามักจะใช้วิธีกดดันผู้รอดชีวิต รวมถึงญาติผู้เสียชีวิต ไม่ให้พูด พร้อมกับบีบให้รับเงินชดเชยเพื่อปิดปาก

และก็เป็นอย่างที่คาดไว้ เมื่อมีคนออกมาแฉว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ แต่เป็นความสะเพร่าของผู้จัดงาน

จากการรายงานระบุว่า นอกจากผ้าห่มฉุกเฉิน ผู้จัดไม่ได้บังคับให้นักวิ่งต้องมีอุปกรณ์ป้องกันสภาพอากาศที่หนาวเย็นอื่น ในลิสต์อุปกรณ์สำหรับการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมการแข่งขันบางส่วนก็ออกมาให้ข้อมูลว่า เส้นทางบางจุดไม่ได้ถูกวางแผนมาดีพอ โดยเฉพาะจุดเช็คพอยท์ที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นจุดที่ยากที่สุด ด้วยความสูงระดับ 1,000 เมตร ตลอดระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร

“มันไม่มีเสบียงเตรียมเอาไว้เลยในจุดเช็คพอยท์ที่ 3 ซึ่งหมายความว่าหากนักวิ่งขึ้นไปถึงยอดเขา พวกเขาจะไม่มีทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ต้องพูดถึงน้ำร้อน มันยังไม่มีที่พักบนภูเขาที่โล่งและไม่มีทางออก” ข้อความในโซเชียลมีเดีย

ยี่ เจียนตง ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาและสุขภาพของมหาวิทยาลัยเหวินโจว กล่าวว่าปกติแล้วในการแข่งขันวิ่งเทรล ควรจะมีจุดเติมเสบียงในทุก 10 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย

“ครั้งนี้ จุดเติมเสบียง 2 จุดอยู่ห่างกันถึง 16 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่านักวิ่งจะไม่ได้รับการดูแลอยู่ราว 2-3 ชั่วโมง ที่จะไม่มีเครื่องดื่ม อาหาร หรือเต้นท์เพื่อหยุดพัก ไม่มีอะไรเลย สิ่งนี้นำมาซึ่งความอันตรายที่ใหญ่หลวง” เจียนตงกล่าวกับ CCTV

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้จัดงานยังไม่มีการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ดีพอ และคาดว่าน่าจะเป็นเพราะต้องการประหยัดงบประมาณ เนื่องจากพวกเขาชนะการประมูลด้วยการเสนอราคาเพียง 1.5 ล้านหยวน (ราว 7.8 ล้านบาท) 

“(ผู้จัดงาน) ควรเตรียมพร้อมในปฏิบัติการกู้ภัย บางรายการอาจจะมีเฮลิค็อปเตอร์ บางงานอาจะมีทีมกู้ภัยอาชีพ หรือมีคนเตรียมพร้อมอยู่เสมอ” เจียนตงให้ความเห็น

“แต่ครั้งนี้ สิ่งที่ผมเห็นก็คือมันขาด (การเตรียมการ) เหล่านี้”  

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการขาดประสบการณ์ของผู้จัดงานเอง จากข้อมูลระบุว่าบริษัทที่รับหน้าที่นี้เป็นเพียงบริษัทขนาดเล็ก และเพิ่งจะจัดงานมาได้แค่ 4 ปีเท่านั้น

“เพราะว่าพวกเขาเป็นผู้จัดงานที่ไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ที่จะดำเนินการแข่งขันอย่างปลอดภัยตลอดเส้นทาง”  วิลล์ ฟอร์ด นักข่าวสายอัลตร้ามาราธอน กล่าวใน Outside magazine

“ทั้งการเตรียมการและการกำกับดูแลสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ รวมไปถึงการวางแผนฉุกเฉินสำหรับสภาพอากาศที่เลวร้าย สิ่งเหล่านี้ไม่มีในรายการนี้”

และทำให้การแข่งขันอัลตร้ามาราธอนครั้งนี้ กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ลืมไปลงไปอีกนานแสนนาน