อัน เซยอง : เบื้องหลังอันดำมืดจากเหรียญทองประวัติศาสตร์แบดฯ เกาหลีใต้

Maruak Tanniyom

August 15, 2024 · 1 min read

อัน เซยอง : เบื้องหลังอันดำมืดจากเหรียญทองประวัติศาสตร์แบดฯ เกาหลีใต้
กีฬาอื่น ๆ | August 15, 2024

วินาทีที่ อัน เซยอง ตบเอาชนะ เหอ ปิงเจียว ในนัดชิงชนะเลิศแบดมินตัน หญิงเดี่ยว โอลิมปิก 2024 เธอได้กลายเป็นคนที่บ้านเกิดภาคภูมิใจ เพราะนี่คือเหรียญทองในรายการนี้ของเกาหลีใต้ในรอบ 28 ปี

ทว่า ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น เซยอง ก็ทำให้คนทั้งประเทศต้องช็อค เมื่อออกมาเปิดโปงความลับอันดำมืดของวงการแบดมินตันเกาหลีใต้ ที่เธอต้องเผชิญมาตลอด 7 ปี รวมไปถึงการต้องเป็น “เบ๊” ของรุ่นพี่

เรื่องราวเป็นอย่างไร ติดตามไปพร้อมกัน

“ฉันอยากจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ฉันทุ่มเทอย่างหนัก เพราะว่าฉันอยากให้เสียงของฉันมีพลัง” อัน เซยอง กล่าวในงานแถลงข่าว

อัน เซยอง ถือเป็นดาวโรจน์แห่งวงการแบดมินตันเกาหลีใต้ เธอขึ้นมาติดทีมชาติชุดใหญ่ตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี ก่อนจะคว้าแชมป์ได้อย่างมากมาย ในรุ่นหญิงเดี่ยวไม่ว่าจะเป็นเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2022, เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2022 และล่าสุดคือเหรียญทองโอลิมปิก 2024

แต่ท่ามกลางความสำเร็จ กลับมีความมืดดำซ่อนอยู่ เมื่อหลังคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ เซยอง ออกมาเปิดเผยว่าตลอดระยะเวลา 7 ปีที่รับใช้ทีมชาติ เธอต้องทุกข์ทรมานจากการปฎิบัติที่โหดร้ายจากสมาคมแบดมินตันเกาหลีใต้

เซยอง บอกว่าอันที่จริงเธอยังมีอาการบาดเจ็บจากเอ็นสะบ้าหัวเข่าขวาฉีกขาด ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เอเชียนเกมส์ที่หางโจว เมื่อปี 2023 และเคยรับการรักษาอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2024 ทว่า เธอกลับถูกบังคับให้ลงเล่นทั้งที่บาดเจ็บ เนื่องจากอยู่ในช่วงใกล้การแข่งขันโอลิมปิก 2024

“อาการบาดเจ็บมันรุนแรงกว่าที่คาดไว้ และฉันก็ผิดหวังที่ทีมชาติไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” เซยอง กล่าวกับ Hani

“การวินิจฉัยเบื้องต้น ซึ่งอ้างว่าฉันต้องการการพักฟื้นแค่ 2-4 สัปดาห์กลายเป็นการวินิจฉัยผิดพลาด ฉันเข้ารับการตรวจร่างกายอีกครั้งในช่วงปลายปี 2023 และผลก็แจ้งฉันว่าฉันต้องเล่นต่อไปเพื่อให้คุ้นชินกับความเจ็บปวด”

ขณะเดียวกัน เซยอง ยังมาได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าตอนเข้าค่ายเก็บตัวในกรุงปารีส ก่อน โอลิมปิก จะเริ่มขึ้นแค่ไม่กี่วัน และได้ร้องขอให้แพทย์ชาวเกาหลีให้เข้ามาช่วยรักษา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากสมาคมฯ

นอกจากนี้ เซยอง ยังกล่าวว่าสมาคมฯ มักจะให้ความสำคัญกับนักกีฬาประเภทคู่มากกว่าเดี่ยว ทั้งในแง่การฝึกซ้อม ไปจนถึงการฟื้นฟูร่างกาย เนื่องจากมีโอกาสลุ้นแชมป์ หลังเคยมาถึง 5 เหรียญจากทั้ง ชายคู่ หญิงคู่ และคู่ผสม

“เพราะว่าประเภทคู่มักจะมีผลงานที่ดีเสมอมา” เซยองกล่าวกับ Yonhub

ขณะที่สมาคมฯ ก็ออกมาปฏิเสธคำวิจารณ์ และอ้างว่า เซยอง “ร้องขอ” ไปฟื้นฟูร่างกายกับต้นสังกัดของตัวเองอย่าง ซัมซุง ไลฟ์ สปอร์ต เอง และการเข้าร่วมการแข่งขันที่จีนและญี่ปุ่น ก็เป็น “ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า” ของเธอ ส่วนการให้ความสำคัญกับประเภทคู่มากกว่าเดียว สมาคมฯ กำลังตรวจสอบเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงแค่ส่วนปลายของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เมื่อหลังจากนั้น SBS สื่อชื่อดังของเกาหลีออกมารายงานว่า หลังจาก เซยอง ติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกเมื่อปี 2017 เธอก็ต้องเผชิญกับการข่มเหงจากรุ่นพี่ และใช้งานเธอไม่ต่างจากเบ๊

SBS อ้างคำให้การของพ่อเซยอง โดยระบุว่าเธอต้องทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการซ้อมอย่าง เปลี่ยนสายเอ็นแร็คเก็ตให้รุ่นพี่, ทำความสะอาดห้องรุ่นพี่ และซักผ้าให้รุ่นพี่ จนทำให้เธอไม่มีเวลาผักผ่อนอย่างเพียงพอ

โดยผู้ปกครองของ เซยอง ได้เข้าเรียกร้องให้กับสมาคมฯ ปรับปรุงการดูแลคุณภาพของนักกีฬาให้ดีขึ้น และแม้ว่าสมาคมฯ ยืนยันว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทันที แต่สัญญาว่าจะพยายายามค่อยๆ จัดการให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

สำหรับเรื่องของ เซยอง ในตอนนี้ได้กลายเป็นประเด็นระดับชาติ จนทำให้กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ต้องเข้ามาสอบสวน ที่ไม่ใช่แค่แบดมินตัน แต่ยังรวมไปถึงกีฬาอื่นอีกด้วย ขณะที่หลายคนก็ออกมาตั้งคำถามถึงวิธีฝึกซ้อมที่ล้าสมัย อย่างการใช้กำลังหรือกดดันทางวาจาในวงการกีฬาเกาหลีใต้

เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีรากเหง้ามาจากแนวคิดแบบขงจื๊อ ซึ่งให้ความสำคัญกับลำดับชั้นทางสังคมและความอาวุโส จึงทำให้มีกรณีนักกีฬาถูกข่มเหง หรือล่วงละเมิดจากผู้มีอำนาจ ทั้งโค้ช รุ่นพี่ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ

ไม่ว่าจะเป็น ชิน ซุคฮี นักสเก็ตความเร็ว เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกฤดูหนาว 2 สมัย ที่ออกมาเผยว่าเธอถูกอดีตโค้ชข่มขืนซ้ำ ๆ มานานหลายปี หรือ ชอย ซุคฮยอน นักไตรกีฬาที่ฆ่าตัวตาย เมื่อปี 2020 หลังถูกล่วงละเมิดจากโค้ชและเพื่อนร่วมทีม ไปจนถึงฝาแฝดนักวอลเลย์บอล ที่ถูกแบนจากทีมชาติ จากปัญหาการกลั่นแกล้งในอดีต

ด้วยเหตุนี้ ทำให้แม้ว่าในโอลิมปิก 2024 ทัพนักกีฬาเกาหลีใต้จะคว้าเหรียญทองได้มากสุดในประวัติศาสตร์ เทียบเท่ากับเมื่อปี 2008 และ 2012 แต่ถูกตั้งคำถามว่าเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ มีอะไรซ่อนอยู่อีกหรือไม่ ?

“ฉันคิดว่าฉันอดทนมามากแล้วตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โดยเก็บงำ (สิ่งที่เกิดขึ้น) เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ฉันเองก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ด้วยตัวคนเดียว แต่มันก็มีเรื่องผิดหวังมากมาย” เซยองที่ประกาศไม่ลงแข่งแบดมินตันตอลดเดือนสิงหาคมนี้กล่าวกับ CNN

“ฉันคิดว่าแบดมินตันของเรา สามารถพัฒนาไปได้ไกลจริงๆ แต่ฉันก็คิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมามองย้อนว่าทำไม เราจึงได้เหรียญทองเพียงแค่เหรียญเดียว”