ย้อนการโดนย่างสดของนกพิราบ สังเวยพิธีเปิดโอลิมปิก 1988 จุดเปลี่ยนพิธีเปิดโอลิมปิกตลอดกาล

Pipat Sathirawut

July 26, 2024 · 1 min read

ย้อนการโดนย่างสดของนกพิราบ สังเวยพิธีเปิดโอลิมปิก 1988 จุดเปลี่ยนพิธีเปิดโอลิมปิกตลอดกาล
กีฬาอื่น ๆ | July 26, 2024

พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีกำหนดการเริ่มต้นพิธีในเวลา 19.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันศุกร์ที่ 26 กรฎาคม (00.30 น. ของวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคมตามเวลาไทย) ซึ่งภาพจำของคอกีฬาในช่วงหลายปีหลังมานี้ จะพบว่าพิธีเปิดของโอลิมปิกเกมส์จะจัดขึ้นในช่วงกลางคืนทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หนสุดท้ายที่พิธีเปิดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติจัดขึ้นตอนกลางวัน คือศึกโอลิมปิกเกมส์ 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยพิธีเปิดเริ่มตั้งแต่เวลา 10.30 น. ของวันที่ 17 กันยายน 1988 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีโอลิมปิกครั้งไหนที่ให้พิธีเปิดเริ่มขึ้นตอนกลางวันอีกเลย

ภาพจำที่หลายคนยังคงพูดถึงจนถึงตอนนี้จากพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ก็คือโศกนาฏกรรมที่นกพิราบกว่า 10 ชีวิตโดนย่างสดบนกระถางคบเพลิง ซึ่งการสังเวยชีวิตของนกพิราบในวันนั้นนั่นเอง ที่ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่มีการใช้นกพิราบจริงแสดงในพิธีเปิดโอลิมปิกอีกต่อไป และเปลี่ยนเวลาทำการแสดงมาเป็นตอนกลางคืนทุกครั้งด้วย

 

นกพิราบ : สัญลักษณ์แห่งอิสรภาพสันติภาพ

ชาวตะวันตกเชื่อว่านกพิราบเป็นวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ตามพระคัมภีร์ไบเบิล มันจึงเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน นั่นทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี ซึ่งมีค่านิยมในการให้มหกรรมกีฬาเป็นตัวแทนของความเป็นเลิศ, การให้เกียรติ และมิตรภาพ โดยต้องการให้กีฬาคือสิ่งที่เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน ใช้นกพิราบเป็นสัญลักษณ์ในพิธีเปิดการแข่งขันมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มใช้ครั้งแรกในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1920 ที่เมืองอันท์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม

ในพิธีเปิดโอลิมปิก 1920 แต่ละประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันจะให้นายทหาร 1 นายมาเป็นตัวแทนประเทศในการปล่อยนกพิราบ  เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงกีฬาที่ทำให้เกิดสันติภาพ และนั่นคือภาพที่สวยงามที่ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปี 1988 นกพิราบจะถูกใช้ในพิธีเปิดโอลิมปิกทุกครั้ง

 

การเป็นเจ้าภาพของเกาหลีใต้ในโอลิมปิก 1988

ในช่วงต้นยุค 1980 ภาพจำของประเทศเกาหลีใต้ต่อสายตาชาวโลกไม่ค่อยดีนัก เพราะมีเหตุการณ์ “การสังหารหมู่ที่ควังจู” (Gwangju Uprising) ในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 ซึ่งมีการล้อมปราบผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน สูญหายกว่า 75 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกหลายพันคน ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีทหารเป็นประธานาธิบดีต้องการจัดมหกรรมกีฬา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น และได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1988 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 1981

ประธานในพิธีเปิดโอลิมปิกปี 1988 คือประธานาธิบดี โรห์ แท-วู และพิธีเปิดก็เป็นไปอย่างราบรื่น มีการปล่อยนกพิราบตามธรรมเนียมปกติ และมีการให้อดีตนักกีฬาโอลิมปิกของเกาหลีใต้วิ่งถือคบเพลิงเข้าไปในสนาม เพื่อเตรียมจุดลงในกระถาง เป็นสัญญาณการเปิดการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวกลับดูกลายเป็นภาพที่ไม่สวยงามนัก เพราะบนกระถางคบเพลิงยังมีนกพิราบเกาะอยู่มากกว่า 10 ตัว (จากจำนวนหลายร้อยตัวที่ถูกปล่อยให้โบยบิน) แล้วเมื่ออดีตนักกีฬาของแดนโสมขาวขึ้นไปถึงกระถางเพื่อเตรียมจุดไฟ แทนที่เหล่านกพิราบจะบินหนีไป แต่พวกมันกลับยังอยู่ที่เดิมเหมือนกับว่าอยากรู้อยากเห็นว่าจะทำอะไรกันต่อ ซึ่งพิธีก็ดำเนินต่อไป แล้วเมื่อคบเพลิงถูกจุดขึ้น เปลวไฟก็ลุกโชติช่วงอย่างรวดเร็ว แต่กลายเป็นว่าทั่วทั้งโลกที่เห็นภาพการถ่ายทอดสดพิธีเปิด ต้องเห็นบรรดานกพิราบที่เป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพถูกย่างสดกันต่อหน้าต่อตาอย่างน่าสยดสยอง

 

ตั้งแต่นั้นมา พิธีเปิดโอลิมปิก ก็ไม่มีการปล่อยนกพิราบอีก และเปลี่ยนมาทำพิธีในเวลากลางคืนซึ่งเป็นเวลาที่นกพิราบนอนหลับ เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมแบบเมื่อ 36 ปีก่อนอีก และหลังจากนั้นไฮไลท์ในพิธีเปิดโอลิมปิกแต่ละครั้ง จะเน้นที่การแสดงแสงสี, ศิลปะ, วัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่ชาติเจ้าภาพนำมาโชว์เป็นหลักแทน