มอสโก 1980 : โอลิมปิกครั้งแรกและครั้งเดียวที่ไทยไม่ได้ไป

Maruak Tanniyom

July 26, 2024 · 2 min read

มอสโก 1980 : โอลิมปิกครั้งแรกและครั้งเดียวที่ไทยไม่ได้ไป
กีฬาอื่น ๆ | July 26, 2024

นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกเมื่อปี 1948 เหล่านักกีฬาทีมชาติไทย ก็มีโอกาสได้พาธงไตรรงค์ไปโบกสะบัดในพิธีเปิดให้ชาวโลกได้เห็นแทบทุกครั้ง

อย่างไรก็ดี กลับมีครั้งหนึ่งที่นักกีฬาจากแดนสยาม ไม่ได้ไปโชว์ศักยภาพให้โลกได้เห็น นั่นก็คือโอลิมปิก 1980 ที่มอสโก

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น? ติดตามไปพร้อมกัน

อันที่จริง ไทย ถือเป็นชาติที่มีส่วนร่วมกับโอลิมปิกมาอย่างยาวนาน โดยเราเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกในปี 1952 หรือ พ.ศ. 2495 โดยส่งนักกีฬาเข้าร่วม 8 คนในการแข่งขันกรีฑา

อย่างไรก็ดี กว่าที่ทัพนักกีฬาจากแดนสยาม จะคว้าเหรียญรางวัลมาคล้องคอได้ ก็ต้องรอจนถึงปี 1972 หลัง พเยาว์ พูนธรัตน์ คว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์ในกีฬามวยสากลสมัครเล่น รุ่นไลท์ฟลายเวท

จนกระทั่งในโอลิมปิก 1980 ก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาจากไทย ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ที่ไม่ใช่เพราะไม่ผ่านรอบคัดเลือก แต่เลือกที่จะไม่ส่งไป

แม้ว่ามูลเหตุของเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง เพราะที่จริงมันคือความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจของโลก นั่นก็คือสหรัฐอเมริกา และ โซเวียต ที่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น แต่ชาวสยามในฐานะชาติพันธมิตร มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

ส่วนจุดเริ่มต้นมาจากวันที่ 20 ธันวาคม 1979 หรือไม่ถึง 1 ปี ก่อนโอลิมปิกที่มอสโก จะเริ่มขึ้น เมื่อสหภาพโซเวียต ได้ส่งทหารเข้ารุกรานอัฟกานิสถาน เพื่อนบ้านทางตอนใต้ของพวกเขา

การกระทำดังกล่าว จึงทำให้สหรัฐฯ ที่นำโดย จิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดี ออกมาเรียกร้องให้ชาติสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล คว่ำบาตรโอลิมปิก 1980 เพื่อประท้วงในเหตุการณ์ครั้งนี้

อันที่จริงในตอนนั้น คาร์เตอร์ กำลังจะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้นำของประเทศอีกครั้ง แถมเขายังเสื่อมความนิยมจากการที่ชาวอเมริกัน ถูกจับเป็นตัวประกันในสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในเดือนพฤศจิกายน 1979

นอกจากนี้เขายังส่ง มูฮัมหมัด อาลี นักชกชื่อดังของโลก ไปเยือนหลายประเทศในแอฟริกา เพื่อโน้มน้าวให้ถอนตัวไม่ส่งนักกีฬา เข้าลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ที่มอสโก แต่ก็ไม่สำเร็จมากนัก หลังมีเพียง เคนยา ที่ตอบรับ

ส่วนชาติตะวันตกที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มีความเห็นเป็นหลายฝ่าย ทั้งยินยอมพร้อมใจทำตาม หรือรัฐบาลยอมทำตาม แต่นักกีฬาไม่ยอม (ลงแข่งใต้ธงโอลิมปิก) ไปจนถึงปฏิเสธที่จะทำตาม

“นั่นเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยาก มันเป็นโอลิมปิกครั้งแรกของผม และอย่างที่สอง หนึ่งปีก่อนหน้านั้นผมใช้เวลส่วนใหญ่ไปกับการพักฟื้นจากอาการต่อมน้ำเหลืองโต” วิลเบิร์ต กรีฟ นักวิ่งสหราชอาณาจักรที่เข้าร่วมการแข่งขันในโอลิมปิก 1980 กล่าวกับ RSI

“ดังนั้นผมจึงอยากจะพิสูจน์ตัวเองว่าผมกลับมาฟิตเหมือนเดิม และเมื่อผมผ่านเข้ารอบและได้ร่วมทีม ผมก็ไม่คิดอะไรอีกแล้ว”

ทำให้สุดท้ายแล้วชาติที่ไม่เข้าร่วมในโอลิมปิก 1980 ก็มีมากถึง 65 ชาติ นำโดยสหรัฐฯ, เยอรมันตะวันตก, ญี่ปุ่น แคนาดา รวมถึงไทย

ขณะพันธมิตรของพวกเขาอย่าง ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรเลีย หรือสหราชอาณาจักรนั้น ส่งนักกีฬาเข้าร่วมเป็นบางประเภท และใช้ธงโอลิมปิก แทนธงชาติตัวเอง

ส่วนชาติที่ยังคงเข้าร่วมใน มอสโก 1980 ส่วนใหญ่เป็นชาติจากคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็ชาติที่โซเวียตมีอิทธิพลที่นั่น ไม่ว่าจะเป็น เยอรมันตะวันออก, บัลแกเรีย, คิวบา, ยูโกสลาเวีย ไปจนถึงลาว และเวียดนาม

แต่ถึงอย่างนั้น โอลิมปิก 1980 ก็ยังสามารถเปิดตัวได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ และดำเนินการแข่งขันไปจนเสร็จสิ้นในวันที่ 3 สิงหาคม 1980

โดยชาติที่ได้เหรียญทองได้มากที่สุดก็คือสหภาพโซเวียต หลังคว้าไปถึง 80 เหรียญทอง ตามมาด้วยเยอรมันตะวันออก ที่ 47 เหรียญทอง และอันดับ 3 บัลแกเรีย ที่ได้ 8 เหรียญทองเท่ากับ คิวบา แต่มีเหรียญเงินมากกว่า

ก่อนที่ 4 ปีต่อมา สหภาพโซเวียต จะแก้เผ็ดสหรัฐฯ บ้าง ด้วยการคว่ำบาตรโอลิมปิก 1986 ที่ลอสแอนเจลิส โดยมี เยอรมันตะวันออก ลาว เช็กโกโลวาเกีย คิวบา เกาหลีเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันเมื่อ 4 ปีก่อน เป็นแนวร่วม

ส่วนไทย ส่งนักกีฬาลงแข่งใน ลอสแอนเจลิส1986 อย่างเต็มสูบ ก่อนที่มันจะเป็นโอลิมปิกแห่งความทรงจำ หลัง ทวี อัมพรมหา สามารถคว้าเหรียญเงินมาฝากพี่น้องชาวไทย จากกีฬามวยสากลสมัครเล่น

นับตั้งแต่นั้น ทัพนักกีฬาจากแดนสยาม ก็ไม่เคยว่างเว้นจากการเข้าร่วมโอลิมปิกอีกเลยจนถึงทุกวันนี้