Olympic

ไม่กลัวหนี : เกาหลีเหนือปิดประเทศ แต่ทำไมกล้าส่งนักกีฬามาแข่งโอลิมปิก?

ถือเป็นชาติจากเอเชียที่ทำผลงานได้ไม่เลวสำหรับนักกีฬาเกาหลีเหนือ เมื่อคว้าไปแล้ว 2 เหรียญเงิน กับอีก 3 เหรียญทองแดง จากกระโดดน้ำ, ปิงปอง และมวยปล้ำ

ทว่า ที่ทำให้หลายคนประหลาดใจคือทั้งที่เกาหลีเหนืออยู่ในสถานะปิดประเทศ แต่พวกเขากลับส่งนักกีฬาเข้าร่วมในครั้งนี้ถึง 16 คน ชนิดแบบไม่กลัวหนี

นั่นเป็นเพราะพวกเขามีจุดประสงค์อื่นนอกจากเรื่องกีฬา ส่วนจะเป็นอะไรนั้น ติดตามได้ที่นี่

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาหลีเหนือ ตัดสินใจส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังจากเว้นวรรคไปในโตเกียว 2020 (โดยระบุว่าเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19) นั้นเป็นเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นมิตรกับนานาประเทศ

ทำให้ในโอลิมปิกครั้งนี้ นักกีฬาเกาหลีเหนือสามารถพูดคุยกับนักกีฬาต่างชาติได้มากกว่าปกติ แม้ว่าก่อนจะถามอะไร จะต้องเช็คกับผู้ดูแลที่คอยตามประกบพวกเขาก็ตาม

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นภาพนักกีฬาเกาหลีเหนือที่ค่อนข้างเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายเซลฟี่ตอนรับเหรียญรางวัลในเทเบิลเทนนิส ร่วมกับนักกีฬาเกาหลีใต้ หรือการโบกมือให้กับกล้องของ อัน ชาง อ๊ก นักยิมนาสติกหญิง ที่คว้าอันดับ 4 ในประเภทม้ากระโดด

นอกจากนี้ อัน และ นักกีฬาเกาหลีเหนือ ยังพากันแลกเข็มกลัดของเกาหลีเหนือ กับนักกีฬาจากชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็น จีน, เช็ก หรือ ไอร์แลนด์ จนมันเหมือนเป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์

สำหรับ เกาหลีเหนือ พวกเขาเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1964 และแม้จะไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมมากนัก แต่ก็สามารถคว้าเหรียญมาคล้องคอได้ถึง 54 เหรียญ และเป็นเหรียญทองถึง 16 เหรียญ

พวกเขาเก่งกาจในกีฬาอย่าง มวยปล้ำ, มวยสากลสมัครเล่น, กระโดดน้ำ, ยิมนาสติก และปิงปอง อันที่จริง ยกน้ำหนัก ก็เป็นกีฬาที่พวกเขาถนัด แต่ครั้งนี้กลับไม่ได้ลงแข่งเนื่องจากไม่ผ่านรอบคัดเลือก

อย่างไรก็ดี นอกจากเหรียญรางวัล สิ่งที่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ เกาหลีเหนือ ซึ่งขึ้นชื่อในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และจำกัดการเข้าออกของผู้คนในประเทศอย่างเข้มงวด ยอมส่งนักกีฬามาเล่นในโอลิมปิก ก็คือโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ต่อเวทีโลก

เกาหลีเหนือใช้โอลิมปิกในการโต้แย้งมุมมองจากภายนอกที่มองว่าพวกเขาเป็นประเทศเผด็จการสุดโต่ง พลเมืองไม่มีอิสระในการใช้ชีวิต ไปจนถึงมีค่ายกักดันสำหรับผู้เห็นต่างทางการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่โอลิมปิก ไม่มีออกอากาศในเกาหลีเหนือ จึงไม่จำเป็นต้องใช้มันในฐานะเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาแสดงออกมา จึงมีจุดประสงค์ให้โลกได้สัมผัส มากกว่าให้พี่น้องร่วมประเทศของพวกเขาได้เห็น

“ผมคิดว่า คิม จองอึน ใช้โอลิมปิกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับคนเกาหลีใต้ รวมชาวอเมริกัน แต่มีปัญหากับรัฐบาลของทั้งคู่มากกว่า” รามอน ปาเชโก ปาร์โด ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย คิงคอลเลจ ลอนดอน กล่าวกับ Sydney Morning Herald

ทว่า การเดินทางออกนอกประเทศ ก็มีความเสี่ยงที่ประชาชนของพวกเขาจะหลบหนี ซึ่งเคยมีตัวอย่างมาแล้วในอดีต ทำให้เกาหลีเหนือ ไม่เคยปล่อยให้นักกีฬาของพวกเขาคลาดสายตาแม้แต่คนเดียว

“เกาหลีเหนือต้องแน่ใจว่าไม่มีนักกีฬาหรือสต้าฟโค้ชคนไหน ถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง เพื่อป้องกันการแปรพักตร์” ศาสตราจารย์ ปาเชโก ปาร์โด อธิบาย

“นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังมีระบบค่ายกักกันอยู่ หมายความว่าใครก็ตามที่คิดแปรพักตร์ จะรู้ดีว่าครอบครัวพวกเขาจะถูกลงโทษ”

“นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกาหลีเหนือ สามารถป้องกันการแปรพักตร์ได้ดี ซึ่งต่างจากประเทสคอมมิวนิสต์ยากจน อย่างเช่น คิวบา”

ขณะเดียวกัน ชนชั้น และความสำเร็จที่ทำได้ ยังเป็นเครื่องการันตีว่าชีวิตของพวกเขาจะไม่ลำบากเหมือนเพื่อนร่วมประเทศ ที่ทำให้ รัฐบาลเกาหลีเหนือมั่นใจว่านักกีฬาของพวกเขาจะไม่หลบหนีอย่างแน่นอน

“นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของเกาหลีเหนือ อยู่ในกลุ่มของชนชั้นนำของประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในกรุงเปียงยางได้”  ปาเชโก ปาร์โด กล่าว

“ดังนั้น พวกเขารู้ดีว่า ปารีส และเมืองอื่นๆในต่างประเทศ ที่พวกเขาไปแชข่งพัฒนากว่าพวกเขาเป็นปกติอยู่แล้ว”

“พวกเขาอาจจะได้เห็นว่าประเทศของตัวเองยังด้อยพัฒนาและไม่มีอิสระจากสายตาของพวกเขาเอง แต่พวกเขาก็ไม่ได้แปลกใจอะไรมากนัก”

มันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ เกาหลีเหนือ ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกมาตลอด ที่นอกจาก โอลิมปิก แล้วยังมีฟุตบอลโลก (2 ครั้ง) รวมไปถึงเอเชียนเกมส์ ที่เคยขาดไปเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น

สำหรับ ปารีส โอลิมปิก 2024 เกาหลีเหนือ ยังเหลือลุ้นเหรียญอีกหนึ่งรายการ คือการแข่งขันวิ่งมาราธอน ที่จะแข่งขันในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ก็มารอดูกันว่านักกีฬาของพวกเขาจะทำได้ดีแค่ไหน ก่อนที่จะกลับไปซ่อนตัวในประเทศที่ปิดตัวอีกครั้ง

Kim Junumporn

Share
Published by
Kim Junumporn

Recent Posts

มาก่อนกาล : เกลียด LGBT และ Anti WOKE ที่ทำให้ อีลอน มัสก์ ด่า “เคลิฟ” ว่า “ไอ้ผู้ชาย”

เรื่องราวของ ไอมาน เคลีฟ นักชกแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกที่ ปารีส กำลังเป็นประเด็นเพราะมีการเปิดเผยว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นผู้ชาย โดยในโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา เคลิฟ สร้างกระแสเป็นอย่างมาก เพราะชกนักชกอิตาลีจนฝั่งอิตาลีต้องขอยอมแพ้ และบอกว่านี่คือหมัดที่หนักที่สุดในชีวิต ซึ่งตอนนั้นกระแสก็ไปหลายทาง บอกคนบอก…

9 hours ago

คล้ายๆเลยนะ! ย้อนเหตุการณ์ “อันเช่” โดน มาดริด ปลดปี 2014-15

"อันเชล็อตติ ทำอะไรผิดน่ะเหรอ ? ... ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน" นี่คือคำตอบผ่านสื่อของของ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสร เรอัล มาดริด ที่ไล่ คาร์โล อันเชล็อตติ ออกจากการเป็นกุนซือในฤดูกาล…

10 hours ago

โจชัวร์ เซิร์กซี : ดีลปริศนาที่ เทน ฮาก ไม่เคยอยากได้ และ อโมริม ก็คิดว่าจะไม่เอา

แม้ว่าจะ เอริค เทน ฮาก ถูกปลดจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ในฤดูกาลนี้ แต่ต้องยอมรับว่าการซื้อขายนักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของเขา มีความคึกคักเป็นพิเศษ ด้วยผู้เล่นขาเข้า 6 รายในราคารวมกันเกือบ 200…

15 hours ago

เกลียดจัดแต่ดันต้องเล่นด้วยกัน! ความวุ่นวายของฝรั่งเศสยุค คันโตน่า vs ชิโนล่า

เอริค คันโตนา คือนักเตะที่แฟน ๆ ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่มีวันลืมลง เขาเป็นคนที่ย้ายมาอยู่กับทีมในปี 1992 และเป็นคนที่เริ่มต้นยุคสมัยความยิ่งใหญ่ของทีมปีศาจเเดงก็คงไม่ผิดนัก ไม่ว่าสตาฟโค้ช, เพื่อนร่วมทีม และแม้แต่ เซอร์…

1 day ago

เหตุผลสุดพระเอกที่ทำให้ วาร์ดี้ เลิกเล่นทีมชาติตั้งแต่ช่วงพีก

เรื่องของ เจมี่ วาร์ดี้ นั้นชัดเจนมาก นับตั้งแต่เขาเเจ้งเกิดกับ เลสเตอร์ ซิตี้ เขาก็กลายเป็น "เดอะ แบก" ของทีมมาจนถึงทุกวันนี้ โดยช่วงฤดูกาล 2015-16 ที่เลสเตอร์คว้าเเชมป์พรีเมียร์ลีกนั้นเป็นปีที่วาร์ดี้พีกสุด ๆ…

1 day ago

ตูร์ เดอ ทรัมป์ : คู่แข่งจักรยานทางไกล ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ของ “โดนัล ทรัมป์”

โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะได้ลุ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สมัยที่ 2 หลังมีคะแนนนำ กมลา แฮร์ริส คู่แข่งอยู่พอสมควร ทั้งนี้ ก่อนที่ ทรัมป์ จะมาถึงจุดนี้ เขาเคยเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของการแข่งขันจักรยานทางไกล ที่เป็นคู่แข่ง…

2 days ago