วันพีซต้องเลื่อนฉาย : เมื่อ ‘โชเฮ โอตานิ’ ทำให้ทีวีในญี่ปุ่นยังไม่ตาย

Maruak Tanniyom

November 04, 2024 · 2 min read

วันพีซต้องเลื่อนฉาย : เมื่อ ‘โชเฮ โอตานิ’ ทำให้ทีวีในญี่ปุ่นยังไม่ตาย
กีฬาอื่น ๆ | November 04, 2024
เพราะเหตุใดนักเบสบอลทีมชาติญี่ปุ่นจึงทำให้วงการโทรทัศน์ในบ้านเกิดที่กำลังจะหมดลมหายใจกลับมามีความหวังอีกครั้ง?

โชเฮ โอตานิ กลายเป็นความภาคภูมิใจคนใหม่ของชาวญี่ปุ่น หลังช่วยให้ แอลเอ ดอดเจอร์ ผงาดคว้าแชมป์ เวิลด์ซีรีส์ในปีนี้ได้สำเร็จ แถมยังเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่สามารถทำโฮมรัน 50 ครัั้ง และขโมยเบส 50 ครั้งในฤดูกาลเดียวกัน

ทั้งนี้ ที่บ้านเกิดอย่างญี่ปุ่น โอตานิ ไม่ได้ช่วยส่งเสริมในด้านกีฬาเท่านั้น แต่เขายังมีคุณูปการแก่วงการโทรทัศน์ที่กำลังมอดดับ ให้กลับมามีเชื้อไฟอีกครั้ง

เกิดอะไรขึ้นจากปรากฏการณ์ “โอตานิ เอฟเฟค” ติดตามไปพร้อมกัน

แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบบนิเวศของสื่อขนาดใหญ่ประเทศหนึ่งของโลก แต่ญี่ปุ่นเองก็ไม่อาจรอดพ้นการดิสรัปชั่นของอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันดูโทรทัศน์น้อยลง

จากข้อมูลของ Statista ระบุว่าญี่ปุ่นมีจำนวนคนดูโทรทัศน์ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 จากอัตราเฉลี่ย 174.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปีดังกล่าว เหลือแค่เพียง 135 ชั่วโมงในปี 2023

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางลมหายใจที่รวยรินของวงการทีวี พวกเขาก็มาได้ฮีโรคนใหม่ที่เข้าเติมเชื้อไฟได้ทันเวลา และคนนั้นก็คือ โชเฮ โอตานิ นักเบสบอลทีมชาติญี่ปุ่น

ในปี 2024 โอตานิ ย้ายข้ามฟากจาก แอลเอ แองเจิลส์ ไปอยู่กับ แอลเอ ดอดเจอร์ส ด้วยค่าเหนื่อยสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์ (ราว 23,000 ล้านบาท) ในสัญญา 10 ปี

อันที่จริงตัวเขาก็เป็นนักเบสบอลฝีมือดีอยู่แล้ว ด้วยการคว้าตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมของลีกมาครองได้ถึง 2 สมัย ตอนอยู่กับ แองเจิลส์ รวมถึงยังเป็นคนตีโฮมรันได้มากที่สุดอีก 1 ครั้งในปี 2023

แต่การมาอยู่กับ ดอดเจอร์ส ทำให้ โอตานิ ยกระดับตัวเองขึ้นไปอีกขั้น เขากลายเป็นกำลังสำคัญช่วยให้ทีมเก็บชัยชนะได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะคว้าแชมป์เวิลด์ซีรีส์ได้สำเร็จ ด้วยการเอาชนะ นิวยอร์ก แยงกีส์ ไปได้ 4-1 เกม

นอกจากนี้ โอตานิ ยังเป็นคนแรกที่สามารถทำสถิติ 50-50 หรือการตีโฮมรัน 50 ครั้ง และขโมยเบส 50 ครั้งในฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) อีกด้วย

ทว่า นอกเหนือจากความสำเร็จบนผืนแผ่นดินอเมริกา โอตานิ ยังทำให้วงการโทรทัศน์บ้านเกิดของเขาคึกคักขึ้นมา จากยอดผู้ชมที่ฟื้นกลับมาจากกระแส “โอตานิฟีเวอร์”

เนื่องจากการแข่งขันของ ดอดเจอร์ส มักจะตรงกับช่วงเช้าตามเวลาของญี่ปุ่น ทำให้ โอตานิ กลายเป็นขวัญใจของผู้สูงอายุ และวัยเกษียณ ที่มักจะตื่นแต่เช้า และหาอะไรดูตอนรับประทานอาหารเช้า

“คนแก่ในญี่ปุ่นรักโอตานิ ทั้งแม่ของฉัน และเพื่อนของแม่ฉันทุกคน เธอเกษียณแล้ว ดังนั้นเธอจึงมีเวลามากพอที่จะดูทั้งเกมในตอนเช้า” ชินเกะ ซีอีโอของ Mint ผู้จำหน่ายการ์ดสะสมแถวหน้าของญี่ปุ่นกล่าวกับ Athletic

ทั้งนี้ ที่ญี่ปุ่น เบสบอลถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ความสำเร็จของ โอตานิ จึงทำให้เขาไม่ต่างจากเซเล็บ และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

“ไม่มีใครในญี่ปุ่น ที่ไม่รู้จักกับ โอตานิ ผมคิดว่าไม่มีนะ” โรเบิร์ต ไวท์ติง นักเขียนชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเบสบอลญี่ปุ่นกล่าว

จากรายงานระบุว่าตอนที่ ดอดเจอร์ส เอาชนะ ซานดิเอโก พาเดรส ในรอบเพลย์ออฟ 8 ทีมสุดท้าย มีคนญี่ปุ่น ที่ชมเกมนี้ที่แข่งในช่วง 9 โมงเช้าของวันเสาร์ มากถึง 12.9 ล้านคน ซึ่งมากกว่าผู้ชมในสหรัฐฯ (5.4 ล้านคน) เสียอีก

หรือในวันที่ โอตานิ ทำสถิติ 50-50 เขาตกเป็นข่าวในทุกหน้าหนังสือพิมพ์ในบ้านเกิด รวมถึง Nikkei ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจ เช่นกันกับในรายการโทรทัศน์ ที่มีหน้าของเขาในทุกช่อง ไม่เว้นแม้แต่รายการช่วงกลางวัน ที่ปกติไม่ได้รายงานข่าวกีฬา

หรือแม้แต่วันแข่ง เวิลด์ ซีรีส์ ผู้คนก็ให้ความสนใจอย่างล้นหลาม จนถึงขนาดต้องเลื่อนฉายอนิเมะยอดนิยมอย่าง “วันพีซ” ออกไป เพื่อไม่ให้ชนกับการแข่งขันของ โอตานิ

“ในตลาดโลก มูลค่าและอำนาจของญี่ปุ่นค่อยๆลดลงทุกปี ดังนั้นฟอร์มอันยอดเยี่ยมของ โอตานิ จึงเป็นเหมือนประภาคาร” โทโมอากิ เนงิชิ ผู้บริหารด้านการตลาดเบสบอล ที่เคยทำงานให้ แปซิฟิกลีกของญี่ปุ่น อธิบาย

“โอตานิ เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นในตลาดโลก เขาเป็นซูเปอร์ฮีโรที่สุดยอด ที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน”

ปกติแล้ว เกมการแข่งขันทุกเกมของ ดอดเจอร์ส จะได้รับการถ่ายทอดสดผ่านช่อง NHK หรือสถานีโทรทัศน์แห่งชาติญี่ปุ่น ที่ทำให้ผู้คนจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สามารถรับชมผลงานของ โอตานิ ได้ทุกเกม

“ทุกคนต้องกินอาหารเช้า และจากนั้นก็ดู โอตานิ” มาซาโนริ นิโนะมิยะ เจ้าของบริษัทวัย 59 ปีกล่าว

ข่าวของ โชเฮ โอตานิ บนหน้าหนังสือพิมพ์

นั่นจึงทำให้ โอตานิ กลายเป็นขวัญใจคนใหม่ของผู้สูงวัยได้ไม่ยาก บวกกับภาพลักษณ์ที่สุภาพและอ่อนน้อมถ่อมตน ก็ทำให้พิชเชอร์ของ ดอดเจอร์ส รายนี้ ช่วยให้วงการโทรทัศน์ญี่ปุ่น สามารถต่อลมหายใจไปได้อีกเฮือก

มันคือภาพสะท้อนของอิทธิพลของ โอตานิ ที่มีต่อญี่ปุ่น ที่ทำให้เขากลายเป็นเครื่องเคียงที่ขาดไม่ได้ในตอนเช้า แม้แต่สำหรับคนที่ไม่เคยดูเบสบอลมาก่อนก็ตาม

“ผมเขียนหนังสือเบสบอลมาหลายเล่ม และได้รับความสนใจระดับประเทศ แต่มันไม่มีความหมายสำหรับเธอ” ไวท์ติงวัย 82 ปี กล่าวถึง มาจิโกะ คอนโดะ ภรรยาวของเขา

“แต่ตอนนี้ เพราะ โอตานิ เธอมักจะถามว่า ‘โอตานิ ทำได้กี่โฮมรันแล้ว?’”