OnlyFans : เส้นทางสู่โอลิมปิกของนักกีฬายุคใหม่ ?

Maruak Tanniyom

August 01, 2024 · 2 min read

OnlyFans : เส้นทางสู่โอลิมปิกของนักกีฬายุคใหม่ ?
กีฬาอื่น ๆ | August 01, 2024

โอลิมปิก ถือเป็นมหกรรมกีฬาที่เป็นเหมือนความฝันของใครหลายคน ทว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาไปถึงจุดนั้นได้ ไม่ใช่แค่ความสามารถเท่านั้น แต่ “เงิน” ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว นักกีฬาที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ จะมีเพียงแค่เงินสนับสนุนจากสมาคมกีฬาของตัวเอง ซึ่งมักจะครอบคลุมแค่ค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมเท่านั้น

ทำให้นักกีฬาส่วนใหญ่ จำเป็นต้องหาเงินจากแหล่งอื่นมาจุนเจือ ซึ่งหากเป็นกีฬายอดนิยม พวกเขาอาจจะมีแบรนด์เข้ามาสนับสนุน หรือหากเป็นนักกีฬาดัง บางทีก็อาจจะมีเอกชน หรือบุคคลเข้ามาซัพพอร์ทเป็นการส่วนตัว

แต่พวกเขาเหล่านั้น เป็นแค่ยอดของพิรามิดเท่านั้น เมื่อมีนักกีฬาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกีฬาไม่ดัง ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน หรือต้องตาต้องใจสปอนเซอร์ และทำให้การมาแข่งโอลิมปิกแต่ละครั้งนั้นยากลำบาก

อย่างไรก็ดี บางอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อนักกีฬาหลายคนในปัจจุบัน เริ่มเห็นช่องทางในการสร้างรายได้จากแอพพลิเคชั่น OnlyFans

สำหรับ OnlyFans มันเป็นแพลตฟอร์ม ที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาสร้างสรรค์เนื้อหา เพื่อให้คนเข้ามาติดตาม ซึ่งผู้ติดตามต้องเสียค่าสมาชิกแบบรายเดือนตามที่เจ้าของช่องกำหนด เพื่อรับชมเนื้อหา โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มักจะเป็นคอนเทนท์วาบหวิวไปจนถึงโป๊เปลือย

แจ็ค ลาเฟอร์ นักกระโดดน้ำ สมาชิกของสหราชอาณาจักรชุดลุยปารีส 2024 คือหนึ่งในนั้น เขาเปิด OnlyFans เพราะว่าเงินที่ได้รับจากสมาคมฯ ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

“แน่นอนว่าผมมีในสิ่งที่ผู้คนต้องการ ผมแฮปปี้ที่จะรับเงินก้อนนั้น ผมค่อนข้างขยันและผมก็อยากได้เงินอีกหน่อยถ้าผมทำได้” นักกระโดดน้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2016 กล่าวกับ The Telegraph

“งบประมาณไม่เคยปรับเลย (ในหลายปีที่ผ่านมา) ผมเป็นท็อป 3 ของโลก และได้เงินราว 28,000 ปอนด์ (ราว 1.2 ล้านบาท) ต่อปี”

ช่องของ ลาเฟอร์ มีค่าสมาชิกเพียงแค่ 10 เหรียญต่อเดือน แต่เนื้อหาภายในไม่ได้เป็นภาพที่โป๊เปลือยขนาดนั้น มันคือภาพของเขาในชุดว่ายน้ำ กางเกงในหรือบ็อกเซอร์ แต่ที่ดึงดูดคือมันคือช่องทางที่ทำให้แฟนคลับ สามารถคุยกับเขาเป็นการส่วนตัวได้

แจ็ค ลาเฟอร์

แน่นอนว่า ลาเฟอร์ ไม่ใช่นักกีฬาโอลิมปิกคนเดียวที่กระโดดเข้ามาอยู่ในวงการ OnlyFans เมื่อเพื่อนร่วมทีมชาติของเขาไม่ว่าจะเป็น โนอาห์ วิลเลียมส์, ดาเนียล กูดเฟลโลว หรือ แมตตี ลี ก็ต่างมีช่องของตัวเอง และแน่นอนมันไม่ได้เปลือยล่อนจ้อน

“โปรดจำไว้ว่าผมคือนักกระโดดน้ำสหราชอาณาจักรไม่ใช่ดาวโป๊ ดังนั้นทุกอย่างจึงปลอดภัยและนี่เป็นสถานที่ที่ผมสามารถคุยกับคุณได้ทุกคน” ลี ที่คิดค่าบริการ 20 เหรียญต่อเดือน อธิบายในช่องของเขา

หรือ ร็อบบี้ แมนสัน นักกีฬาพายเรือทีมชาตินิวซีแลนด์ ที่บอกว่ารายได้จาก OnlyFans มันมากกว่าที่เขาได้จากเงินสนับสนุนจากสมาคมฯ ถึง 2 เท่า

“ผมมีเพื่อนบางคนที่สนับสนุนผม แต่ผมไม่มีสปอนเซอร์ใหญ่ที่เข้ามาสนับสนุนในนามส่วนตัวขนาดนั้น แน่นอนทีมชาติก็มีสปอนเซอร์ของพวกเขา แต่ผมก็ไม่เคยมีปัญหากับสิ่งนั้น หรือกับทีมพายเรือนิวซีแลนด์” แมนสัน กล่าวกับ Reuters

“ผมเดาว่าคนจากสมาคมพายเรือนิวซีแลนด์ หรือแม้กระทั่งผู้บริหารก็ตระหนักดีว่าสิ่งนี้ทำเงินให้ผมมากทีเดียว และทำให้ผมไปถึงจุดที่ผมอยากไป”

“และพวกเขาก็เข้าใจว่าเราไม่ได้มีเงินทุนมากนักเช่นกัน นั่นก็เยี่ยมเลย ผมจึงไม่มีปัญหาอะไรเลยที่ทำเรื่องนี้”

อย่างไรก็ดี มันอาจจะต่างออกไปสำหรับ อารีชา นิวแมน นักค้ำถ่อทีมชาติแคนาดา ดีกรีเหรียญทองคอมมอนเวลท์เกมส์ ที่มองว่าตัวเองเป็นวัตถุทางเพศอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร

อารีชา นิวแมน

“ไม่ว่าฉันจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ฉันถูกทำให้เซ็กซี่จากกีฬาชนิดนี้ จากสิ่งที่ฉันสวมใส่และจากความสวยของฉัน” นิวแมนกล่าวกับ Daily Mail

“ถ้าฉันปรากฎตัวในกางเกงเลกกิ้งเต็มตัวและสปอร์ตบราที่ปิดหน้าท้อง ผู้คนก็ยังมองว่าฉันเซ็กซี่ ฉันหมายความว่ามันหยุดเรื่องนี้ไม่ได้”

“ตอนที่ฉันตัดสินใจเปิด OnlyFans สิ่งสำคัญสำหรับฉันจริงๆคือ การเป็นส่วนหนึ่งที่ควบคุมได้”

เธอยืนยันว่าเธอไม่ได้เปลือยในทุกโพสต์ และมองว่ามันคือช่องทางที่ทำให้เธอสามารถพูดคุยกับแฟนคลับแบบตัวต่อตัว

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่นักกีฬาที่ยังเล่นอยู่เท่านั้น แต่อดีตนักกีฬาโอลิมปิกหลายคน ก็เข้ามามีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มนี้ เนื่องจากมันสามารถทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไปได้หลังเลิกเล่น

เอลิเซ คริสตี อดีตนักสเก็ตน้ำแข็งของทีมสหราชอาณาจักร ที่เคยลงเล่นในโอลิมปิกมาแล้วถึง 3 สมัย และเป็นเจ้าของเหรียญทองชิงแชมป์โลก และแชมป์ยุโรปอีกหลายครั้งคือคนหนึ่งที่มีแอคเคาท์ในแพลตฟอร์มนี้

เอลิเซ คริสตี้

“ฉันมาจากคนที่เคยคว้าเหรียญรางวัลจากระบบหนึ่งไปสู่คนที่ไม่มีอะไรเลยและถูกทิ้งให้เรียนรู้กับชีวิต” คริสตี กล่าวกับ The Telegraph

“ฉันต้องเสียบ้าน และทำงาน 3 จ๊อบต่อวัน (แต่ OnlyFans) ก็พาฉันกลับมาจากความดำมืดนั้นได้ และตอนนี้ ฉันก็ใช้มันในด้านบวก”

“หลายคนใช้มันเพื่อมีส่วนร่วมกับฉันและชีวิตของฉัน เรียนรู้เพิ่มเติมกับมันและสิ่งที่เกิดขึ้น และถามฉันเกี่ยวกับเรื่องกีฬาและสุขภาพ”

ทั้งนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะใช้ OnlyFans ด้วยวัตถุประสงค์ใด แต่มันเป็นภาพสะท้อนชั้นดี ถึงอีกด้านหนึ่งของชีวิตนักกีฬา ว่าพวกเขาอีกหลายคนต้องเผชิญกับความยากลำบากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ยังลงแข่ง หรือชีวิตหลังจากนั้น