แรงขับแห่งความยากจน : ทำไมคนฟิลิปปินส์ถึงได้เก่งเรื่องพูล?
จบลงไปแล้วสำหรับการแข่งขันพูล 9 ลูกรายการ Mansion Sports 9 Ball Open Tournament Thailand 2024 โดยตำแหน่งแชมป์ตกเป็นของ เจฟฟ์ เดอ ลูนา มือพูลอันดับท็อป 4 ของโลก จากฟิลิปปินส์ เจ้าของฉายา “นักแทงเปิดที่แม่นที่สุดในโลก” คว้าแชมป์และเงินรางวัล 150,000 บาทไปครอง จากการเอาชนะคู่ต่อสู้ร่วมชาติอย่าง เจสัน มาราบี ในนัดชิงชนะเลิศ
การที่ชาวฟิลิปปินส์มาชิงกันเองไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และในอดีตจนถึงปัจจุบัน ฟิลิปปินส์ได้ผลิตนักสอยคิวระดับท็อปๆ ของโลกออกมาแล้วนับไม่ถ้วน
ซึ่งเบื้องหลังของความเก่งกาจบนโต๊ะผ้าสักหลาดของชาวฟิลิปปินส์ มันมาจากสัญชาตญาณของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเลยทีเดียว
จากกีฬาของทหารอเมริกัน สู่หนทางชนะเดิมพันชีวิต
เหตุผลที่ทำให้พูลกลายเป็นกีฬายอดนิยมในประเทศฟิลิปปินส์ ต้องย้อนไปในช่วงยุค 1900s ที่ทหารอเมริกันไปประจำการที่ประเทศฟิลิปปินส์และเล่นพูลเป็นงานอดิเรก และผลักดันให้กีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อกีฬาพูลกลายเป็นที่แพร่หลาย การพนันในการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์ค่อยๆ หันมาเดิมพันชีวิตกับโต๊ะผ้าสักหลาดเพื่อหลีกหนีจากความไม่มีอันจะกิน และพวกเขามีดีเอ็นเอกระหายชัยชนะในกีฬานี้มากกว่าใครๆ เพราะมันไม่ใช่แค่การเล่นเพื่อชนะ แต่มันคือความอยู่รอด
พูลไม่ได้เป็นแค่เกมกีฬาในประเทศฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางทำมาหากินจากการขับเคี่ยวอันดุเดือด ซึ่งสร้างผู้เล่นระดับท็อปของโลกมาประดับวงการแล้วหลายคน
มันคือกีฬาที่แข่งกันในห้องที่พื้นเป็นดินขรุขระ โต๊ะมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ ในเมืองเล็กๆ หลายพันเมืองซึ่งเป็นหนทางสำหรับการหลีกหนีความยากจนที่ชาวฟิลิปปินส์หลายล้านคนต้องเผชิญ
แม้กีฬาชนิดนี้จะมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นในประเทศอย่างไต้หวัน และจีน แต่ครั้งหนึ่งในช่วงปลายปี 2019 ฟิลิปปินส์คือชาติเดียวที่มีนักแข่งทั้งชายและหญิงติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก ในแรงกิ้งที่จัดอันดับโดยสมาคมกีฬาพูล-บิลเลียดโลก พวกเขาเคยมี
เท็ด เลอร์เนอร์ นักข่าวซึ่งเกิดที่สหรัฐอเมริกา แต่ไปใช้ชีวิตที่ประเทศฟิลิปปินส์ เคยพูดถึงความกดดันอันหนักหน่วงในการลงแข่งพูลที่ฟิลิปปินส์ว่า “ถ้าหากคุณยิงพลาด คุณอาจไม่มีอะไรกินได้เลย”
การต้องต่อสู้ในกีฬานี้เพื่อความอยู่รอด ส่งผลสำคัญให้ฟิลิปปินส์คือชาติที่เป็นตัวเต็งของกีฬาบิลเลียด, พูล, สนุกเกอร์ และแคร่อมในกีฬาซีเกมส์ พวกเขากวาดเหรียญทองซีเกมส์ในกีฬาประเภทพูลและสนุกเกอร์รวมกันมากถึง 38 เหรียญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และหากนับรวมเหรียญเงินและเหรียญทองแดงเข้าไปด้วย ฟิลิปปินส์คว้าเหรียญรางวัลจากกีฬาชนิดนี้ในซีเกมส์มากถึง 98 เหรียญ
ผลิตนักพูลระดับท็อปของโลกออกมาอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างชัดเจนที่สุดของนักกีฬาชนิดนี้ที่ฟิลิปปินส์ภาคภูมิใจคงหนีไม่พ้น เอเฟรน เรเยส เจ้าของฉายา “นักมายากล” แห่งวงการ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักสอยคิวที่เก่งที่สุดตลอดกาล และเคยคว้าแชมป์โลกทั้งประเภทพูล 8 ลูกและพูล 9 ลูก
เรเยสคือบุตรคนที่ 8 จากครอบครัวยากจนที่มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เขาออกจากบ้านเกิดซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลาเพื่อไปอาศัยอยู่กับคุณลุงซึ่งเป็นเจ้าของร้านโต๊ะพูลแห่งหนึ่งในเมืองหลวง เขาเริ่มเล่นพูลตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบเพื่อหาทางยกระดับฐานะหลีกหนีความยากจนให้ได้
“ผมเคยเห็นลุงของผมได้เงินสดๆ หลังจากเล่นบิลเลียด และผมก็ได้รู้ว่าผมสามารถหาเลี้ยงชีพจากสิ่งนี้ได้” ตำนานนักสอยคิววัย 70 ปีเคยให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีไว้เมื่อปี 2019
เรเยสโด่งดังจากการหาเงินและเลี้ยงชีพด้วยการเล่นพูลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดคำศัพท์ว่า “การรุกรานของชาวฟิลิปปินส์” (Filippino Invasion) ในกีฬาชนิดนี้เมื่อช่วงยุค 1980s ทำให้ช่วงหนึ่ง ฟิลิปปินส์คือประเทศที่ถูกยกให้เป็นเมืองหลวงสำหรับกีฬาพูล-บิลเลียดของโลกเลยทีเดียว แม้แต่ชาวอเมริกันยังเจอความยากลำบากเสมอเมื่อต้องแข่งกับคนฟิลิปปินส์ เพราะสำหรับชาวฟิลิปปินส์ มันคือการเล่นเพื่อหาอาหารลงท้องในแต่ละวันเลยทีเดียว
คาร์โล เบียโด้ ซึ่งเคยรั้งอันดับ 4 ของแรงกิ้งโลกก็เคยเผยว่า “เราไม่สามารถหาเงินมาซื้ออาหารกินทุกวันได้เลย” จากนั้นการหันมาเดิมพันกับการเล่นพูลค่อยๆ เปลี่ยนชีวิตเขา
“ผมเริ่มต้นด้วยเงินเพียง 20 เปโซ (0.39 ดอลล่าร์สหรัฐ) แล้วสุดท้ายผมก็หากินได้ด้วยการเล่นบิลเลียด”
เบียโด้คว้าแชมป์โลกพูล 9 ลูกได้ในปี 2017 และเป็นชาวฟิลิปปินส์คนสุดท้ายที่คว้าแชมป์รายการดังกล่าว ซึ่งความสำเร็จของนักสอยคิวชาวฟิลิปปินส์ ทำให้โลกเปลี่ยนมุมมองต่อกีฬาพูลว่าเป็นเกมของคนจน และช่วยผลิตแชมป์โลกในเวลาต่อมาได้ ทั้ง เอเฟรน เรเยส, คาร์โล เบียโด้ และแชมป์โลกหญิงพูล 9 ลูกคนล่าสุดอย่าง รูบิเลน อามิต ซึ่งเติบโตมาด้วยการดูการแข่งพูลทางทีวีบ่อยๆ
เหตุการณ์สำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลให้ชาวฟิลิปปินส์ยิ่งต้องการใช้กีฬาพูลเปลี่ยนชีวิต ก็คือการคว้าแชมป์โลกของ เอเฟรน เรเยส ในปี 1999 ซึ่งเป็นนักแข่งพูลชาวฟิลิปปินส์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ไปถึงตำแหน่งแชมป์โลกพูล 9 ลูกได้ และทำให้ชาวฟิลิปปินส์ยิ่งมองกีฬาพูลว่าเป็นกีฬาที่มีเกียรติ และเป็นเส้นทางสร้างรายได้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยคนฐานะยากจน แต่ก็ผลิตนักสอยคิวเก่งๆ จากระดับรากหญ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง
บางทีความยากจนมันอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์มีพรสวรรค์ในกีฬาชนิดนี้มากกว่าคนหลายๆ ประเทศก็เป็นได้ เพราะโต๊ะพูลในชุมชนยากจนมักจะมีพื้นผิวที่ไม่เรียบ แต่นั่นช่วยเป็นการฝึกให้ชาวฟิลิปปินส์มีเทคนิคการแก้ปัญหาลูกที่ยิงได้ยากๆ ได้อย่างชำนาญ จนพวกเขามีนักแข่งที่พร้อมออกไปล่าตำแหน่งแชมป์และเงินรางวัลได้ในทุกพื้นที่ของโลก
Picks and Pick'em is here!
More teams, more wins. Join a public league and draft instantly.