เจาะประเด็นถามความเห็น “เอสวัน” : ทำไมวงการสอยคิวไร้วี่แววสายเลือดใหม่ ?

Kim Junumporn

October 17, 2024 · 1 min read

เจาะประเด็นถามความเห็น “เอสวัน” : ทำไมวงการสอยคิวไร้วี่แววสายเลือดใหม่ ?
กีฬาอื่น ๆ | October 17, 2024

วงการสนุกเกอร์ไทยซบเซาลงแค่ไหนในช่วงนี้ให้คุณสังเกตข่าวบนหน้าสื่อกีฬาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวงการสอยคิวในช่วงหลัง คุณจะพบว่ามีแต่ชื่อนักกีฬาที่คุ้นหูคนไทยมาเป็น 10-20 ปีแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้งเฮดไลน์ยังคงเป็นชื่อของผู้เล่นอย่าง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย, เอฟ นครนายก, หมู ปากน้ำ หรือคนอื่น ๆ ที่มีแค่จำนวนนับนิ้วได้

คำถามคือผู้เล่นระดับดาวรุ่งหน้าใหม่ ๆ ของวงการสนุ๊กเกอร์ไทยไปไหนหมด และวงการสนุกเกอร์ของเราเดินทางมาถึงขาลงจริง ๆ แล้วหรือไม่ ?

ทีมงาน Mansion Sport Thailand ได้ติดต่อสัมภาษณ์ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับคำถามนี้จาก ไชยพงศ์ กรวสุรมย์ หรือชื่อในวงการคือ “เอส S1” เจ้าของธุรกิจโต๊ะสนุกเกอร์เบอร์ต้น ๆ ของประเทศไทย และยังมีดีกรีเป็น  อดีตผู้จัดการบิลเลียดทีมชาติไทย

และสิ่งที่เขาบอกมา…ทำให้เราเห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้อย่างชัดเจน

วงการสนุกเกอร์ไทยยุครุ่งเรืองเป็นอย่างไร ?

เพื่อให้เห็นภาพว่า ณ ตอนนี้วงการสนุกเกอร์บ้านเราซบเซามากแค่ไหน ก็คงต้อย้อนกลับไปถามถึงยุครุ่งเรืองในอดีต เพื่อให้เห็นภาพเปรียบเทียบที่ชัดที่สุด แบบที่คนไม่เล่นสนุกเกอร์ก็ยังเข้าใจ ซึ่งเรื่องนี้ย้อนกลับไปไม่ไกลแค่ 6-7 ปีก่อนเท่านั้นเอง

“ยุครุ่งเรื่องของวงการสนุกกอร์ไทยคือช่วงประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคุณจะเห็นภาพของวงการชัดเจนมาก เรามีนักกีฬาที่เป็นระดับมือโปรลงแข่งขันในอังกฤษ สหราชอณาจักร และยุโรปอยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ต๋อง, เอฟ, หมู, แจ๊ค สระบุรี , กร นครปฐม , ไฟว์ นครนายก และอีกหลายคนในยุคนั้นที่พวกเขาไปใช้ชีวิตกินอยู่ที่ประเทศอังกฤษเลย”

“ตอนนั้นเป็นยุคของคุณ สินธุ พูนศิริวงศ์ เป็นนายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย และเรามีการสนับสนุนที่ดีจากรัฐ และเอกชนได้ก็เพราะว่าเรามีนักกีฬาเก่ง ๆ ระดับฝีมือแถวหน้า นักกีฬาเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสอยู่ตลอด ทำให้สนุกเกอร์ไม่เคยถูกลืมและหายไปจากหน้าสื่อเลย สปอนเซอร์ภาคเอกชนจึงแข็งขันในเรื่องการสนับสนุนมาก ๆ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็ลากยาวมาจนถึงช่วงปี 2019 – 2020 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ”

“ซึ่งจุดนั้นแหละน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความซบเซา เพราะการแข่งขันทุกประเภทแทบถูกหยุดไป ซึ่งนั่นส่งผลกับวงการสนุกเกอร์ไทยมาก ๆ ไม่ใช่แค่กับนักแข่งเท่านั้น แม้แต่สนุกเกอร์คลับหรือโต๊ะสนุ๊กตามจังหวัดต่าง ๆ ก็โดนผลกระทบเรื่องนี้ด้วยเพราะแทบไม่มีคนมาเล่นเลย”

อย่าโทษโรคร้ายเพราะเจอกันทั้งโลก

แม้ “เอส” จะบอกว่าโควิดคือจุดเริ่มต้น แต่เขาไม่ได้อยากจะบอกว่ามันเป็นปัจจัยทั้งหมดของเรื่องนี้ ความจริงที่สำคัญที่สุดที่ยืนยันได้ว่าวงการสนุกเกอร์ซบเซาคือ ประเทศไทยไม่มีนักกีฬาหน้าใหม่ที่ฝีมือดี ระดับที่สามารถเล่นสนุกเกอร์อาชีพเพิ่มขึ้นเลย

“สิ่งสำคัญมาก ๆ ของกีฬาทุกชนิดก็คือนักกีฬานี่แหละ วงการสนุกเกอร์ก็เหมือนกัน เราขาดนักกีฬารุ่นใหม่มานานแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องยอมรับความจริงข้อนี้ร่วมกัน”

“ประการแรกคุณจะสร้างนักกีฬาเก่ง ๆ คนหนึ่งได้ คุณจะให้แค่เงินสนับสนุนอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องมี Know How ให้กับเขา ทำให้นักกีฬารุ่นใหม่มีเป้าหมาย วางโครงสร้างให้พวกเขาให้แต่ละคนได้เดินหน้าต่อไปแบบมีทิศทาง รู้ว่าพวกเขาจะเจอกับอะไรในหนทางข้างหน้า และถ้าพวกเขาผ่านไปได้ในแต่ละจุด แต่ละจุด จะมีอะไรรออยู่ และต้องปรับตัวแบบไหนในระดับที่สูงขึ้น … สิ่งเหล่านี้สำคัญมากจริง ๆ มันคือเส้นทางที่จะพาพวกเขาเดินไปหาความสำเร็จ ซึ่งก่อนพวกเขาจะเดินไปตรงนั้น พวกเขาต้องเชื่อในสิ่งนั้นก่อน”

“ถามว่าอะไรที่จะทำให้พวกเขาเชื่อได้ดีไปกว่าการที่ทำให้พวกเขาเห็นภาพและมีโฟกัสที่ชัดเจนให้กับพวกเขาก่อน เมื่อพวกเขาเชื่อ พวกเขาก็พร้อมจะทุ่มเทเพื่อไปต่อยังสิ่งที่รออยู่”

สิ่งที่ เอส พยายามอธิบายคือเรื่องของการสนับสนุนที่รอบด้าน และทำให้เอื้อต่อนักกีฬามากที่สุด … ณ ตอนนี้แม้ภาครัฐอาจจะเริ่มมีการจัดการแข่งขันรายการต่าง ๆ มากขึ้น แต่ในความจริงแล้วมันไมได้ประโยชน์มากนัก เพราะถ้าคุณไม่สร้างนักกีฬาหน้าใหม่ คุณก็จะได้เห็นแต่ผู้เล่นหน้าเดิม ๆ แข่งขันกันแบบเดิม ๆ เรียกได้ว่าเปลี่ยนแค่สถานที่และรายการ แต่คนไม่ได้เปลี่ยน ไม่ได้มีการผลัดใบอย่างที่ควรจะเป็น

“จริง ๆ บ้านเราก็มีการแข่งขันเยอะนะ แต่คนแข่งส่วนใหญ่ก็หน้าเดิม ๆ ทั้งนั้น คุณลองไปดูแต่ละคนที่แข่งสิ แทบจะเป็นคนแก่กันหมดแล้ว(หัวเราะ)”

“เราจะจัดเฉพาะการแข่งขันไมได้ เราต้องดูแลจากราก หาคนที่มีทาเลนท์ให้เจอจริง ๆ ผมเข้าใจว่างบประมาณในการสนับสนุนนักกีฬาคนหนึ่งให้ไประดับโลกมันสูง แต่มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และต้องเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาสนุกเกอร์ที่นักกีฬาที่จะเก่งได้จริง ๆ ต้องไปเทิร์นโปร และไปใช้ชีวิตอยู่ทีประเทศอังกฤษเลย”

“ถามว่าทำไมต้องไปอังกฤษด้วย เหตุผลก็คือการแข่งขันสนุกเกอร์รายการระดับโลกมักจะมีการแข่งขันที่ประเทศอังกฤษ สหราชอณาจักร และในยุโรป ในปี ๆ หนึ่งมากกว่า 20 รายการ เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้ไปกินอยู่ที่อังกฤษ จะทำให้พวกเขาเจอสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก เช่นคู่ซ้อมที่เก่งกาจ คู่แข่งที่เป็นระดับโลก ซึ่งถ้าคุณได้เจอกับคนระดับนี้บ่อย ๆ มันจะยกระดับตัวเองได้ดีที่สุด”

“ความลำบากมันอยู่ที่ตรงนี้แหละ เมื่อต้องไปอยู่ที่อังกฤษมันทำให้การสนับสนุนทำได้ยาก ด้วยเรื่องของข้อจำกัดต่าง ๆ เช่นเงินค่าตั๋วเครื่องบินในการเดินทาง ค่าที่พัก ซึ่งบางครั้งด้วยกรอบของทางราชการ ก็ไม่สามารถเก็บหมดได้รอบด้านซึ่งข้อนี้ผมขอยืนยันว่าผมไมได้ติติง ผมเข้าใจว่ามันมีข้อจำกัด เพราะกีฬาสนุกเกอร์นั้นใช้เงินเยอะมากสำหรับนักกีฬาคนหนึ่งในแต่ละปี”

ทางเราได้สอบถามค่าใช้จ่ายต่อปีสำหรับนักกีฬาอาชีพระดับโปรที่ไปกินอยู่ในประเทศอังกฤษ และพบว่าต้องมีรายจ่ายแบบจ่ายแน่ ๆ ต่อปีอยู่ที่ราว ๆ 2 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นค่าบ้านเช่าที่ตกเป็นเงินไทยเดือนละ 4-5 หมื่นบาท ค่าอุปกรณ์และการซ้อมอีกราว ๆ 4-5 แสนบาท ไหนจะค่ากินค่าอยู่ทั่วไปบวกเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งต่อให้จะประหยัดแค่ไหน แต่เงินจำนวน 2 ล้านบาทคือสิ่งที่เลี้ยงไม่ได้ และยากที่ภาครัฐจะสนับสนุนได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามใช่ว่าเรื่องนี้จะเป็นทางตัน … ทุกอย่างสามารถกลับไปสู่ยุคเรืองรองของวงการสนุกเกอร์ไทยได้ หากเรามีนักกีฬาดาวรุ่งที่เก่งแบบทะลุขึ้นมาจนทั้งภาครัฐ และเอกชนพร้อมใจกันสนับสนุน และผลักดันเด็กคนนั้นให้ไปถึงฝัน

ไม่ใช่แค่ฝัน แต่ทุกอย่างเป็นจริงได้

“ผมจะยกตัวอย่างวิธีที่ชัดที่สุดนะ คุณลองไปมองดูวงการกรีฑาก่อนหน้านี้ … 4-5 ปีก่อนแทบไม่มีคนสนใจ จนกระทั่งเกิดดาวรุ่งระดับหัวแถวของโลกอย่าง บิว ภูริพล บุญสอน ขึ้นมา มันกลายเป็นกระแสขึ้นมา และบูมสุด ๆ จนทำให้ทุกฝ่ายเห็นศักยภาพของนักกีฬา และพร้อมจะสนับสนุนทุก ๆ ด้านเพื่อความสำเร็จของนักกีฬาคนนี้”

“แต่อย่าลืมนะการที่เราจะสร้างนักกีฬาที่เก่งอย่าง บิว หรือทำให้มีดาวรุ่งในวงการสนุกเกอร์ระดับนั้นได้ คุณต้องย้อนกลับที่จุดที่ผมเคยบอกว่า คุณสนับสนุนนักกีฬาจากต้นน้ำ ทำให้เด็ก ๆ เติบโตมาอย่างถูกที่ถูกทางได้หรือเปล่า ?”

“ถ้าถามผมตอนนี้ผมบอกได้เลยว่ายังอีกไกลที่เราจะมองหานักกีฬาไทยหน้าใหม่ที่ไปถึงแชมป์รายการใหญ่ในกีฬาอาชีพ ตอนนี้ต้องยอมรับตามตรงว่าเอาแค่ให้สามารถเทิร์นเป็นโปรในอังกฤษให้ได้ แค่นี้ผมว่าก็ยากแล้วจริง ๆ”

ตัวของ เอส เองก็พยายามที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันส่วนนี้ ที่โต๊ะสนุกเกอร์ S1 มีการแข่งขันระดับเยาวชนหลายรุ่นอายุ มีเด็ก ๆ เข้าแข่งขันมาตั้งแต่ 8 – 14 ปี มาตลอดในช่วงระยะหลัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นี้ก็พอจะทำให้เขาเห็นแววเด็กบางคนที่อาจจะไปถึงระดับโปรเพลย์เยอร์ได้ในอนาคต

“ถ้าเรามีนักกีฬาเก่งระดับ นิวเอฟ, นิวหมู หรือนิวต๋องได้ ผมมั่นใจว่ากระแสจะกลับมา มันจะเปลี่ยนแปลงให้เด็ก ๆ อยากเข้ามาในวงการนี้มากขึ้น ทำให้เรามีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ มากขึ้น

“ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้มันไม่ใช่ความผิดของใครหรือการรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง … เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องกับวงการนี้ต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน เพื่อให้เราเดินต่อไปข้างหน้า ก่อนที่ชาติเพื่อบ้านอื่น ๆ จะแซงหน้าเราไปได้ เพราะถ้าถึงจุดนั้นการจะปลุกกระแสให้กลับมาอีกครั้งมันจะยากกว่าเดิมแน่นอน”