ปัญหาเชิงวัฒนธรรม: เหตุใด เกาหลีใต้ จึงไม่ค่อยมีนักกีฬาโอนสัญชาติในโอลิมปิก?

Maruak Tanniyom

August 13, 2024 · 1 min read

ปัญหาเชิงวัฒนธรรม: เหตุใด เกาหลีใต้ จึงไม่ค่อยมีนักกีฬาโอนสัญชาติในโอลิมปิก?
กีฬาอื่น ๆ | August 13, 2024

“นับตั้งแต่ผมมาเกาหลีใต้ ไม่มีใครขอความเห็นผมเลย ผมถูกมองว่าเป็นแค่คนต่างชาติที่นี่” รา กุนอา กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในชาติจากเอเชียที่กลับมาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในโอลิมปิกครั้งนี้ คือเกาหลีใต้ ด้วยการคว้าไปถึง 13 เหรียญทอง ทำสถิติซิวทองได้มากสุดตลอดกาลเทียบเท่ากับ โอลิมปิก 2008 และ 2012

อย่างไรก็ดี เมื่อไล่เรียงลงไปกลับพบว่า ทัพนักกีฬาเกาหลีใต้ แทบจะไม่มีผู้เล่นลูกครึ่ง หรือโอนสัญชาติเลยด้วยซ้ำ ต่างกับเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น ที่ใช้ในฟุตบอล, บาสเก็ตบอล รวมไปถึงวิ่งระยะสั้น

เพราะอะไร? ติดตามไปพร้อมกัน

โอนสัญชาติ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญสำหรับหลายชาติในการเสริมสร้างขุมกำลังให้แข็งแกร่ง เพื่อลงชิงเหรียญในโอลิมปิก และอันที่จริงเกาหลีใต้ ก็นำแนวคิดนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2010

พวกเขาเรียกว่า “การแปลงสัญชาติเป็นกรณีพิเศษ” ที่จะอนุญาตให้นักกีฬาที่ผ่านคุณสมบัติสามารถถือ 2 สัญชาติได้ และส่งลงแข่งขันในเอเชียนเกมส์ หรือโอลิมปิก

อย่างไรก็ดี ในปารีส 2024 พวกเขากลับมีนักกีฬาโอนสัญชาติ หรือลูกครึ่งเพียงแค่ไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือ ฮอ มีมี นักยูโดลูกครึ่งเจ้าของเหรียญเงินในรุ่น 57 กิโลกรัม และ จอน จีฮี นักเทเบิลเทนนิส เชื้อสายจีนเท่านั้น

เหตุผลก็คือนักกีฬาโอนสัญชาติส่วนใหญ่ ไม่ผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาเล่นในโอลิมปิกรอบสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น โอ จูฮัน (วิลสัน โลยาเน อิรูเป) นักวิ่งมาราธอนเชื้อสายเคนยา, รา กุนอา (ริคาร์โด ราฟิเต) นักบาสเก็ตบอลเชื้อสายอเมริกัน หรือ คิม จิน (อันเดร จิน โคคลิลาร์ด) นักรักบี้ลูกครึ่งอเมริกัน

โอ จูฮัน

แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือสังคมเกาหลีใต้ ยังเปิดใจยอมรับนักกีฬาเหล่านี้ในระดับที่ค่อนข้างน้อย จนทำให้ตัวเลขของผู้เล่นต่างประเทศ หรือแม้แต่ลูกครึ่งที่โตในต่างประเทศ มาถือสัญชาติเกาหลีอยู่ในระดับเพียงแค่หยิบมือ

ปัจจัยหลักก็คือการเป็นสังคมแบบเดี่ยว จากประชากรชาวเกาหลีที่มีมากถึง 96 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำให้พวกเขาไม่คุ้นชินกับการเปิดรับคนที่ไม่ใช่คนเกาหลีโดยกำเนิดเข้ามาอยู่ในสังคม

“ชาวต่างชาติมักจะถูกประเมินไว้ต่ำเกินไปสำหรับหลายประเทศ หรือบางประเทศก็มองข้ามพวกเขาอย่างสิ้นเชิง” ลุค แชดวิค ศาสตราจารย์ด้านกีฬาและเศรษฐศาสตร์ภูมิศาสตร์แห่ง SKEMA Business School กล่าวกับ DW

ขณะเดียวกัน การเป็นสังคมเดี่ยว ยังนำไปสู่แนวคิดเหยียดเชื้อชาติ จนทำให้ผู้เล่นโอนสัญชาติ มีชีวิตที่ยากลำบากในเกาหลีใต้มากขึ้นไปอีก และหนึ่งในคนที่เคยประสบด้วยตัวเองก็คือ รา กุนอา นักบาสฯ ทีมชาติเกาหลีใต้

เพราะแม้จะเป็นคีย์แมนของเกาหลีใต้จนก้าวขึ้นไปคว้าทองแดง เอเชียนเกมส์ 2018 แต่ผู้เล่นเจ้าของส่วนสูง 2.03 เมตรคนนี้ ก็ออกมาเปิดเผยว่า หากเล่นไม่ดี เขามักจะถูกด่าทอด้วยข้อความเหยียดเชื้อชาติในโลกโซเชียลมีอยู่เสมอ ทั้งไล่เขากลับประเทศ ไปจนถึงไล่ให้ลูกสาวของเขาไปตาย

“นับตั้งแต่ผมมาเกาหลีใต้ ไม่มีใครขอความเห็นผมเลย ผมถูกมองว่าเป็นแค่คนต่างชาติที่นี่” กุนอา เผยความรู้สึก

นอกจากนี้ ด้วยความที่สังคมเกาหลีมีรากเหง้ามาจากแนวคิดแบบขงจื๊อ ที่ให้ความสำคัญกับลำดับชั้นทางสังคมหรือความอาวุโส ทำให้ผู้เล่นโอนสัญชาติต้องเจอกับวัฒนธรรมที่พวกเขาไม่เข้าใจ ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากไปจนถึงถูกรังแก

“วัฒนธรรมกีฬาในเกาหลีใต้มีความแตกต่างอย่างมาก ด้วยโครงสร้างที่ตายตัวซึ่งผมไม่เข้าใจ แต่ก็แค่ทำตาม” โช คิน วาน นักบาสฯ ลูกครึ่งเกาหลี-ฮ่องกง กล่าวกับ South China Morning Post

“ผู้เล่นปีแก่ในทีมบาสเก็ตบอลมหาวิทยาลัยมักจะหาเรื่องผม เพราะว่าผมมาจากที่อื่น”

ขณะที่ อี ซุงจุน นักบาสฯลูกครึ่งอเมริกัน-เกาหลี เสริมว่า “ปกติแล้วผู้เล่นที่เก่งที่สุดของทีมมักจะเป็นกัปตัน แต่ที่เกาหลี คนที่แก่ที่สุดในทีมคือกัปตัน”

“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผู้เล่นอายุมากจากม้านั่งสำรองบางคนต้องมาบอกว่าผมควรทำอะไร”

รา กุนอา

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้สังคมเกาหลียังไม่ค่อยเปิดใจต่อนักกีฬาโอนสัญชาติ คือเรื่องภาษา แม้ว่าชาวเกาหลีในปัจจุบัน จะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น แต่การกลัวการสื่อสารกับคนต่างชาติดูเหมือนจะยังคงฝังรากลึกในจิตใต้สำนึกของพวกเขา

“ผมคิดว่าการสื่อสารที่ผิดพลาดคืออุปสรรคสำคัญ เพราะว่าแม้ว่าพวกเขาจะรักผู้เล่นอย่าง รา กุนอา ที่นำมิติใหม่ๆเข้ามาสู่วงการบาสเก็ตบอลเกาหลี แต่พวกเขาก็อาจจะหงุดหงิดเมื่อผู้เล่นเหล่านี้ไม่สามารถพูดภาษาเดียวกันได้” อี ซึงจุน ให้ความเห็น

สิ่งนี้ยังส่งผลกระทบไปยังนโยบายระหว่างประเทศของพวกเขา เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่เปิดรับผู้อพยพน้อยมาก ซึ่งอาจจะเป็นปัญหา สำหรับชาติที่มีอัตราการเกิดเพียงแค่ 0.78 ต่อผู้หญิง 1 คน

ก็ต้องมารอดูกันว่าในอนาคต เกาหลีใต้จะมีนักกีฬาโอนสัญชาติมากขึ้นหรือไม่ หรือในทางตรงข้ามที่อาจจะไม่เห็นอีกเลย ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา