อยู่เบื้องหลังมาก่อนจะให้นักเตะแบก : ย้อนแผนพัฒนาดาวรุ่งสิงโตที่เซาธ์เกตคือผู้ริเริ่ม

Pipat Sathirawut

July 16, 2024 · 2 min read

อยู่เบื้องหลังมาก่อนจะให้นักเตะแบก : ย้อนแผนพัฒนาดาวรุ่งสิงโตที่เซาธ์เกตคือผู้ริเริ่ม
ฟุตบอล | July 16, 2024

ดูเหมือนว่าการประกาศลาออกจากตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติอังกฤษของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ในวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม จะเป็นข่าวดีมากกว่าข่าวร้ายสำหรับแฟนบอลสิงโตคำราม เพราะกองเชียร์อังกฤษจำนวนไม่น้อยรอคอยข่าวนี้มานานหลายปีแล้ว เนื่องจากไม่พอใจรูปแบบการเล่นที่เน้นผลการแข่งขันมากเกินไป แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในรูปแบบการคว้าโทรฟี่ได้เสียที

เซาธ์เกตได้ชื่อว่าเป็นเฮดโค้ชคนแรกของทีมชาติอังกฤษที่พาทีมเข้าชิงฟุตบอลรายการใหญ่ นับตั้งแต่ เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ พาทีมคว้าแชมป์โลกได้เมื่อปี 1966 แถมสถิติบอกว่าจากทั้งหมด 4 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่ผ่านมา มาตรฐานที่เซาธ์เกตทำไว้ก็คือเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นอย่างต่ำทุกครั้ง (ซึ่งเป็นสิ่งที่อังกฤษทำไม่สำเร็จในศึกฟุตบอลโลก 2010 และ 2014)

เขาสามารถพาทีมสิงโตคำรามเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น การเข้ารอบตัดเชือกบอลโลกหนสุดท้ายของอังกฤษ ต้องย้อนไปไกลถึงปี 1990 ภายใต้การคุมทีมของ เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน เลยทีเดียว ขณะที่ผลงานในยูโร เซาธ์เกตก็คือกุนซือเพียงคนเดียวในประวัติศาสร์ที่พาอังกฤษเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ แถมทำได้ถึง 2 สมัยติดต่อกัน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะต้องอกหักในนัดชิงทั้ง 2 ครั้งก็ตาม

แฟนบอลหลายคนดูถูกเซาธ์เกตว่าที่สามารถพาอังกฤษเข้ารอบลึกได้ เป็นเพราะมีดวงช่วยในการจับสลากให้ไม่ต้องเจอทีมแข็งๆ แต่ทีมสิงโตคำรามในยุคของเขา มักจะเจอคู่แข่งที่ชื่อชั้นเป็นรองเสมอในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ก่อนจะจอดป้ายทุกครั้งเมื่อเจอเข้ากับทีมที่ดีกว่า

ขณะที่ขุมกำลังนักเตะของทีมชาติอังกฤษในช่วงหลายปีหลังก็ดูจะแข็งแกร่งมากกว่าชาติอื่นๆ แต่สุดท้ายเขาก็ไม่มีปัญญาพาทีมคว้าถ้วยรางวัลอะไรได้เลย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนไม่รู้ ก็คือ แกเร็ธ เซาธ์เกต คือผู้อยู่เบื้องหลังแผนพัฒนานักเตะดาวรุ่งของอังกฤษชุดนี้มาตั้งแต่แรก และการที่ทีมสิงโตคำรามมียุคที่ขุมกำลังเรียกว่าเป็นช่วง “โกลเด้น เจเนอเรชั่น” มันเป็นเพราะแผนงานของเขาผลิดอกออกผลพอดี ในช่วงที่เขาเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีม

ย้อนบทบาทเซาธ์เกต จุดเริ่มต้นพัฒนาแข้งอังกฤษสู่แถวหน้าของโลก

ในวันที่ 31 มกราคม 2011 สมาคมฟุตบอลอังกฤษหรือเอฟเอ ได้แต่งตั้ง แกเร็ธ เซาธ์เกต รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาความเป็นเลิศ (Head of elite development) หลังจากที่เขาว่างงานมานาน 15 เดือน หลังโดนปลดออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมของมิดเดิ้ลสโบรช์เมื่อเดือนตุลาคม 2009

หน้าที่หลักของเซาธ์เกตก็คือทบทวนแผนพัฒนานักเตะของเยาวชนอังกฤษใหม่อีกครั้ง เขาต้องประสานงานร่วมกับพรีเมียร์ลีกและสมาคมฟุตบอลลีก (อีเอฟแอล) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ทีมชาติมีนักเตะและโค้ชที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่อังกฤษล้มเหลวในศึกฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ ด้วยการตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายจากการแพ้เยอรมนียับเยิน 1-4 โดยทำงานอยู่ภายใต้ เซอร์ เทรเวอร์ บรู๊คกิ้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาฟุตบอลของเอฟเอในเวลานั้น

แกเร็ธ เซาธ์เกต รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาความเป็นเลิศให้กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษในปี 2011

แกเร็ธ เซาธ์เกต ใช้เวลาราวๆ 18 เดือนเพื่อศึกษาวิจัยปัญหาของวงการฟุตบอลอังกฤษ ควบคู่ไปกับการศึกษาตัวอย่างจากทีมชาติที่ประสบความสำเร็จ ณ เวลานั้น ก่อนจะคลอดแผนพัฒนาฟุตบอลตั้งแต่ระดับรากหญ้าออกมา โดยหนึ่งในแผนการสำคัญก็คือการกำหนดให้ทีมเยาวชนของอังกฤษที่อายุยังไม่ถึงรุ่น 13 ปี ไม่ต้องแข่งแบบ 11 ต่อ 11 ในสนามใหญ่อีกแล้ว โดยทีมชุดที่เด็กกว่านั้น จะแข่งขันกันในแบบที่เป็นทีมละ 5 คน, 7 คน หรือ 9 คน ตามระดับการเติบโตของอายุ

เหตุผลที่ไอเดียของเซาธ์เกตเป็นเช่นนั้น ก็คือชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของยุโรปในช่วงระหว่างช่วงปี 2000-2010 อย่าง ฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน ก็ไม่ได้ให้ทีมเยาวชนแข่งขันกันแบบทีมละ 11 คนจนกว่าจะอายุครบ 14 ปี ซึ่งการเล่นในสนามที่เล็กลง และใช้จำนวนผู้เล่นน้อยลง จะทำให้เยาวชนอังกฤษมีเบสิคฟุตบอลที่แน่นขึ้น และมีความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นมากขึ้น ซึ่งในอดีต นักเตะอังกฤษมักจะเน้นพละกำลังมากกว่าเทคนิค แต่ถ้าหากแผนพัฒนาเยาวชนออกมาเวิร์ค จะทำให้ฝีเท้าของแข้งในแดนผู้ดียกระดับขึ้นมาเทียบกับพวกดาวรุ่งแถวหน้าของยุโรปเป็นจำนวนมากขึ้นเยอะได้

ในเดือนมีนาคม 2011 เซาธ์เกตได้ไปให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษอย่าง เดอะ การ์เดี้ยน ว่า “ทุกคนมองไปที่บาร์เซโลน่า และทีมชาติสเปน และตระหนักดีว่าเราไม่สามารถเล่นในแบบที่เราเป็นต่อไปได้ และผลิตนักเตะในสไตล์อังกฤษดั้งเดิมต่อไปได้อีกแล้ว เราต้องเติบโตและเปลี่ยนแปลง”

อีกหนึ่งไอเดียสำคัญที่ แกเร็ธ เซาธ์เกต วางรากฐานไว้ให้วงการฟุตบอลอังกฤษ ก็คือการเน้นให้สโมสรในพรีเมียร์ลีกเพิ่มจำนวนนักเตะโฮมโกรนให้มากขึ้น และใส่ใจกับการพัฒนาอะคาเดมี่ไปทั่วประเทศ โดยเซาธ์เกตคือผู้ริเริ่มโครงการแผนประสิทธิภาพผู้เล่นชั้นยอด (Elite Player Performance Plan) ซึ่งเป็นการปฏิวัติระบบพัฒนาเยาวชนของอังกฤษ จนทำให้เมื่อเวลาผ่านไปราวๆ 1 ทศวรรษ ทีมสิงโตคำรามก็ได้เก็บเกี่ยวนักเตะที่เติบโตมาจากระบบดังกล่าว ที่กลายเป็นสตาร์ระดับแถวหน้าของโลกในยุคปัจจุบันกันมากมาย

 

เป็นตัวตั้งตัวดี ปรับบรรยากาศแคมป์ทีมชาติ เชื่อมดาวรุ่งกับรุ่นพี่เข้าด้วยกัน

นอกจากหน้าที่วางแผนพัฒนาอนาคตฟุตบอลของชาติในระยะยาวแล้ว เซาธ์เกตยังเป็นแกนนำสำคัญที่ผลักดันให้เอฟเอเปิดศูนย์ฝึกซ้อมใหม่ของทีมชาติที่ เซนต์ จอร์จส์ พาร์ค ในปี 2012 โดยให้นักเตะทีมชาติชุดใหญ่และเยาวชนมีฐานฝึกซ้อมในที่เดียวกัน ซึ่งเซาธ์เกตยืนยันว่าการที่พวกนักเตะเยาวชนได้ใกล้ชิดกับพวกรุ่นพี่ระดับสตาร์ทีมชาติชุดใหญ่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมให้พวกดาวรุ่งมีแรงบันดาลใจต่อการก้าวขึ้นไปติดทีมชาติชุดใหญ่ในอนาคต

เซนต์ จอร์จ พาร์ค ศูนย์ฝึกซ้อมของทีมชาติอังกฤษที่ทันสมัย ซึ่ง แกเร็ธ เซาธ์เกต คือแกนนำคนสำคัญให้เกิดการสร้างโดยให้ทีมเยาวชนกับทีมชาติชุดใหญ่ได้ใกล้ชิดกัน

 

เซาธ์เกตทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายพัฒนาความเป็นเลิศให้เอฟเอ จนกระทั่งออกจากตำแหน่งไปในเดือนกรกฎาคม 2012 โดยผู้ที่เข้ามาเป็นผู้นำในการวางยุทธศาสตร์พัฒนาความเป็นเลิศให้นักเตะอังกฤษระยะยาวแทนก็คือ แดน แอชเวิร์ธ ซึ่งปัจจุบันเพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลคนใหม่ให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งแอชเวิร์ธเป็นผู้วางโครงการ England DNA ให้นักเตะเยาวชนของอังกฤษกับระดับซีเนียร์มีแบบแผนเดียวกัน เพื่อการพัฒนาเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างไร้รอยต่อ

จากนั้นในเดือนสิงหาคม 2013 แกเร็ธ เซาธ์เกต ก็กลับมาทำงานร่วมกับเอฟเออีกครั้ง ในบทบาทกุนซือทีมชาติอังกฤษชุดอายุไม่เกิน 21 ปี และทำหน้าที่ยาวจนถึงปี 2016 ซึ่งทำให้เขาได้ร่วมงานกับดาวรุ่งอย่าง แฮร์รี่ เคน, จอห์น สโตนส์, ราฮีม สเตอร์ลิ่ง และ จอร์แดน พิคฟอร์ด มาตั้งแต่ระดับทีมชาติชุดเยาวชน ก่อนที่แข้งเหล่านี้จะเติบโตมาเป็นตัวหลักในทีมชาติชุดใหญ่ยุคที่มีเซาธ์เกตเป็นกุนซือในเวลาต่อมา

แกเร็ธ เซาธ์เกต คุม แฮร์รี่ เคน มาตั้งแต่สมัยยังเป็นแค่ดาวรุ่ง ในระดับทีมชาติรุ่นยู-21

แกเร็ธ เซาธ์เกต อาจจะถูกตั้งคำถามและสมควรโดนวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องแท็กติกที่เขาเลือกใช้ ซึ่งแฟนบอลมองว่าถ้าเขามีทัศนคติกล้าเล่นเพื่อชนะมากกว่ากลัวความพ่ายแพ้แบบนี้ บางทีอังกฤษอาจจะประสบความสำเร็จไปแล้วในช่วงที่เขาคุมทีม

แต่ถ้าจะบอกว่าที่ทีมสิงโตคำรามเข้ารอบลึก เพราะเขาอาศัยแต่ดวง และพึ่งพาแต่ความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่น จริงๆ แล้วตัวเซาธ์เกตนี่แหละคือผู้ริเริ่มแนวคิดพัฒนาแข้งอังกฤษมาตั้งแต่แรก ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้เด็กในประเทศเติบโตมาเป็นนักฟุตบอลชั้นยอดได้ในเวลาต่อมา

ซึ่งบางที บทบาทการเป็นนักวางแผนหรือผู้อำนวยการกีฬาอาจจะเหมาะสำหรับ แกเร็ธ เซาธ์เกต มากกว่าในอนาคต เพราะการทำหน้าที่ในตำแหน่งเฮดโค้ช ดูเหมือนจะไม่มีใครยอมรับเขาเลย